‘อนค.’ ถามใช้เกณฑ์อะไรยกให้ ‘กองทัพบก’ คว้าแชมป์โปร่งใสที่สุด

วันต้านโกง-เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม นาย​วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวถึง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ภาคีเครือข่ายภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จัดงาน วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) โดยมีการมอบรางวัล การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ที่มีผลคะแนนสูงสุดในแต่ละประเภท ซึ่งประเภทของกรมหรือเทียบเท่า หน่วยงานที่ได้อันดับที่ 1 ได้แก่ กองทัพบก ได้คะแนน 97.96 คะแนน

นายวิโรจน์ กล่าว่า หากพูดถึงความโปร่งใส จริงๆ แล้วหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทัพบก ยังมีประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม และยังรอคำตอบอีกมาก เช่น 1. หน่วยงานภาครัฐต่างๆ จะต้องถูกตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และประชาชนก็สามารถที่จะสืบค้น และดาวน์โหลด ดูรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน ของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อตรวจสอบได้ ในขณะที่กองทัพบก และหน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงกลาโหม จะใช้การตรวจสอบกันเอง โดยที่กระทรวงกลาโหมเปิดช่องให้สามารถปรับระบบบัญชี และระบบตรวจสอบเองได้ ตามข้อบังคับกลาโหมว่าด้วยการเงิน การคลัง พ.ศ.2555 โดยสำนักงานตรวจสอบภายใน ซึ่งประชาชน หรือแม้แต่สภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่อาจเข้าถึงรายงานการตรวจสอบที่กองทัพดำเนินการกันเองได้

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า 2.รายได้งบประมาณของกองทัพบก จากระบบ CFS ของกรมบัญชีกลาง สืบค้น ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 จากรายงานวิเคราะห์ของสำนักงบประมาณรัฐสภา ระบุว่ารายได้นอกงบประมาณของกองทัพบกในปี พ.ศ.2561 มีมูลค่าสูงถึง 12,356.5 ล้านบาท (ถ้ารวมทุกหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมที่เป็นส่วนราชการ จะมีรายได้นอกงบประมาณ 18,657.6 ล้านบาท) แต่ประชาชน ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า รายได้นอกงบประมาณดังกล่าวนั้นมีที่มาจากกิจกรรมอะไร และถูกใช้จ่ายไปกับภารกิจอะไรบ้าง อย่างในกรณีที่ กองทัพบกได้อนุมัติการปล่อยเงินกู้จำนวน 1,200 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย ให้แก่บริษัท RTA Entertainment จำกัด ที่กองทัพบกถือหุ้นอยู่ 50% และอีก 50% ถือหุ้นโดยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ทั้งที่บริษัทนี้มีทุนจดจัดตั้งเพียง 10 ล้านบาท เท่านั้น ซึ่งบริษัท RTA ได้นำเงินกู้ดังกล่าว ไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ แล้วก็ขาดทุนจากการลงทุน ในประเด็นที่ชวนสงสัยอย่างในกรณีนี้ ก็ยังไม่มีคำชี้แจงใดๆ จากกองทัพบก

“ปัจจุบันสังคมทราบเป็นอย่างดีว่า กองทัพบก มีแหล่งรายได้นอกงบประมาณต่างๆ อยู่มากมายหลายแหล่ง อาทิ โครงข่ายโทรทัศน์ คลื่นวิทยุ สัมปทานช่อง 7 สนามม้า สนามมวย สนามกอล์ฟ สโมสร และบ้านพักรับรองต่างๆ ซึ่งประชาชนไม่สามารถที่จะตรวจสอบรายละเอียดได้เลยว่า รายละเอียดของสัญญาต่างๆ เป็นอย่างไร มีการประมูล และจัดซื้อจัดจ้าง ที่โปร่งใส เป็นธรรมหรือไม่” นายวิโรจน์ กล่าว

Advertisement

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ปกติแล้ว เงินนอกงบประมาณของหน่วยงานราชการต่างๆ จะต้องนำมาฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง เพื่อความโปร่งใส และตรวจสอบได้ แต่ในกรณีของกองทัพบก รวมทั้งอีกหลายหน่วยงานของกระทรวงกลาโหม ที่มีรายได้เป็นเงินนอกงบประมาณ กลับไม่ต้องนำไปฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง โดยอาศัยข้อยกเว้น ตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 61 พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังภาครัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งเปิดช่องให้ทำข้อตกลงกับกระทรวงการคลังไว้เป็นอย่างอื่นได้ นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้ประชาชน หรือแม้แต่สภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่อาจตรวจสอบเงินนอกงบประมาณของกองทัพบกได้ ข้อสังเกตต่างๆ เหล่านี้ จึงเป็นที่สงสัยว่า หลักเกณฑ์การให้คะแนน และกระบวนการในการให้คะแนน และคณะกรรมการผู้ลงคะแนน ตลอดจนการพิจารณาการให้รางวัล นั้นได้นำเอาประเด็นข้อสงสัยต่างๆ จากประชาชน เหล่านี้ ไปพิจารณาด้วยหรือไม่ หรือคะแนนต่างๆ นั้นมาจากการให้หน่วยงานประเมินตนเอง ซึ่งคณะกรรมการผู้ประเมินคะแนน และพิจารณาให้รางวัล ควรออกมาชี้แจงให้กับประชาชนได้รับทราบ 

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image