วงเสวนาเสียงหนุ่มสาว จี้เปิดกว้างถกร่าง รธน. ฝากคำถาม คสช. ถ้า’ไม่ผ่าน’จะทำอย่างไรต่อ

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 มิถุนายน ที่ห้องประชุม 14 ตุลา ถนนราชดำเนินกลาง มีการจัดงานเสวนาเรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญ + ประชามติ จัดโดยกลุ่มเสียงจากคนหนุ่มสาว ภาคีนักกิจกรรมนักศึกษาเพื่อสังคมมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดย น.ส.จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงาน ไทรอัมพ์อินเตอร์เนชันแนลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประชามติครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหาร เพราะร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นร่างที่ฉีกรัฐธรรมนูญซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมแล้วร่างใหม่ โดยร่างใหม่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลย สิ่งที่เป็นปัญหาในรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ไม่ถูกนำมาแก้ไข เมื่อประชาชนไม่มีส่วนร่วม เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นที่ยอมรับไม่ได้ แต่เวลานี้เรามีกฎหมายประชามติที่ไม่ให้สิทธิประชาชนออกความเห็น และในภาวะสถานการณ์ที่คนพูดอะไรไม่ได้ เราจะมีประชามติที่เป็นธรรมได้อย่างไร

น.ส.จิตรากล่าวว่า หากการประชามติไม่ผ่าน เสนอให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมกลับมาใช้ใหม่ จัดให้มีการเลือกตั้งแล้วจึงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย

นายปัณณธร รัตน์ภูริเดช เครือข่ายรัฐประศาสนศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญมีมาแล้ว 9-10 ฉบับ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือการมีการควบคุมการทุจริตจาก ส.ส.หรือข้าราชการ โดยเพิ่มโทษและตัดสิทธิ หากแก้ไขปัญหานี้ได้ก็เป็นการกลั่นกรองได้ดียิ่งขึ้น ในส่วนที่น่าห่วงคือที่มาของ ส.ว. หลายฝ่ายกังวลซึ่งไม่ได้มาจากประชาชน แต่เป็นการแต่งตั้งจาก คสช. ตรงนี้ก็เป็นจุดที่น่าสังเกตว่าจะกลายเป็นปัญหาระยะยาวหรือเปล่า

“ทั้งนี้ อยากฝากถึง คสช.ว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติ จะทำอย่างไรต่อไป” นายปัณณธรกล่าว

Advertisement

นายรังสิมันต์ โรม ตัวแทนกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ กล่าวว่า ผลกระทบจากร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะส่งผลต่อกลุ่มคนหลักๆ ดังนี้ คือ นักเรียนและผู้ปกครอง อันเนื่องมาจาก ร่างฉบับนี้ไม่ได้กำหนดให้รัฐบาลจัดการศึกษาครอบคลุมถึงชั้นมัธยมปลาย ดังนั้น นักเรียนชั้นมัธยมปลายจึงมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมาก แม้นายกฯจะใช้มาตรา 44 เพื่อคุ้มครองดูแลสิทธิการศึกษาของประชาชน แต่จะวางใจได้อย่างไรว่าเมื่อประกาศใช้ไปแล้ว นักเรียนชั้นมัธยมปลายจะไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะมาตรา 44 เปลี่ยนแปลงได้ตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ คำถามคือจะให้สถานะของนักเรียนมัธยมปลายแขวนตามอารมณ์ของผู้นำประเทศหรือไม่

นายรังสิมันต์กล่าวอีกว่า คนกลุ่มต่อมาซึ่งได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือชาวบ้านและเอ็นจีโอ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พูดถึงสิทธิชุมชนน้อยมาก ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีข้อวิจารณ์ในเรื่องศาสนาอีกด้วย
นายรังสิมันต์กล่าวอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้แก้ไขยากกว่าฉบับปี 2550 น่าวิตกว่าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจต้องแก้ไขด้วยวิธีการธรรมดาไม่ได้ อาจต้องเป็นการรัฐประหาร

“การลงประชามติคือการตัดสินใจของประชาชนซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศไทย วันที่ 7 สิงหาคมนี้จึงพิสูจน์ว่า ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศจริงหรือไม่ หากประชามติไม่ผ่านแล้ว คสช.ยังฝืนประกาศใช้ ก็แปลว่า คสช.ประกาศว่าเขาคือเจ้าของประเทศนั่นเอง” นายรังสิมันต์กล่าว และว่า การประชามติวันที่ 7 สิงหาคม จึงเป็นการเลือกรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากมองให้ลึกกว่านั้น คือการเลือกว่ารับหรือไม่รับ คสช.ด้วย แม้สุดท้ายประชามติโหวตรับ แต่ คสช.ก็คงดีใจไม่ได้เพราะไม่ได้เปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นอย่างเสรีในประชามติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการเสวนาคึกคัก มีผู้คนเข้ามานั่งฟังและแลกเปลี่ยนถกเถียงกันเต็มห้องเสวนา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image