รัฐเร่งดันแผนชาติว่าด้วยธุรกิจฯ 4 ประเด็นหลัก หวังสร้างความเชื่อมั่นต่างประเทศ

รัฐเร่งดันแผนชาติว่าด้วยธุรกิจฯ 4 ประเด็นหลัก หวังสร้างความเชื่อมั่นต่างประเทศ ยกระดับปฎิบัติกระตุ้นเศรษฐกิจ-การลุงทุนหลังประกาศใช้ฉบับแรกในเอเซีย

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานประกาศแผน ปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน(UNGPs )ระยะที่ 1(พ.ศ. 2562 – 2565) โดยมีนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวรายงาน และมีนางสุนันทา เตียสุวรรณ์ รองนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คประเทศไทย และนางเดรียเดร บอยด์ ผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดีกับประเทศไทยเนื่องในโอกาสที่ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย

นายวิษณุ กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ภายใต้กรอบของหลักการดังกล่าวจะเน้นให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลักคือ การคุ้มครอง การเคารพ และการเยียว ยา โดยเชื่อมโยงกับการมีส่วนร่วมของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจและประชาสังคม ให้เข้ากับยุทธศาสตร์ชาติ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตลอดจนนโยบาย กฎหมาย กฎ ระเบียบ มาตรการ แนวปฏิบัติ และบริบทสถานการณ์ภายในประเทศ รวมถึงพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และมาตรฐานสากลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมี 4 ประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข คือ ปัญหาแรงงาน ปัญหาชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ปัญหา นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ การประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของไทยชีให้เห็นว่า รัฐบาลมีความตั้งใจจริงในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนานาประเทศ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนทั้งภายในและระหว่างประเทศด้วย

Advertisement

นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคีเครือข่ายทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ ที่ได้ร่วมกันให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ฉบับแรกของประเทศไทย และเอเชีย ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับและการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาละเมิดสิทธิและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ด้าน นางเดรียเดร บอยด์ ผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นเพราะภาคธุรกิจต้องร่วมมือกับรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขไม่ให้มีปัญหาสิทธิมนุษยชนในทุกๆด้าน

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image