สมศักดิ์ เจียม โต้เพจดัง ชี้ไอเดียถอดยาบ้าของบิ๊กต๊อก มีวิจัยหนุน-ไม่ได้โชว์โง่

จากกรณี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอแนวคิดในการเปลี่ยนสารในกลุ่มแอมเฟตามีน หรือยาบ้า ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นวงกว้าง

วันนี้ (20 มิ.ย.) ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กระบุว่า ประเด็นข้อเสนอ “ถอดยาบ้าออกจากยาเสพย์ติด” – ฝ่ายที่กำลังคัดค้าน คสช (“ฝ่ายประชาธิปไตย”) ต้องใจเย็นๆอย่าเพิ่งรีบประณามโดยไม่ศึกษาและคิดให้ดีก่อน … ที่พูดนี่ ไม่ใช่ว่า คสช. มีความชอบธรรมจะทำนโยบายอะไรทั้งสิ้น (คนละเรื่อง ไม่เกี่ยวกัน) ทั้งนี้ เพจ หยุดดัดจริตประเทศไทย (ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 6.9 แสนคน) ซึ่ง “เล่น” เรื่องนี้ในลักษณะ “อัด” ข้อเสนอของไพบูลย์อย่างต่อเนื่อง โพสต์สไลด์ด่าไพบูลย์ว่า “โชว์โง่ครั้งใหญ่” ที่มาพูดว่า ยาบ้าเป็นอันตรายน้อยกว่าเหล้าบุหรี่ ..เห็นว่ามันชักจะไปกันใหญ่ เพราะเรื่องนี้ มันเกียวข้องกับข้อเท็จจริงและเรื่องเกี่ยวกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อยู่ ผมจึงเขียนคอมเม้นท์นี้ พยายามเอาไปโพสต์ที่เพจฯอยู่นาน ทำยังไง ก็ไม่สำเร็จ ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร ผมเลยเอามาโพสต์เป็นกระทู้ในที่นี้ คิดว่ายังไงก็น่าจะเป็นประโยชน์ให้คนที่ต้องการคิดหรือถกเถียงเรื่องนี้แบบใช้เหตุผลหรือข้อเท็จจริงหน่อย

ทั้งนี้ ดร.สมศักดิ์ ชี้แจงรายละเอียดต่อ โดยยกตัวอย่างงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า มีงานศึกษาที่เสนอว่า เมตแอมเฟตตามีน (“ยาบ้า”) มีอันตรายน้อยกว่าเหล้า บุหรี่ ฉะนั้นการถกเถียงปัญหาว่า ยาเสพย์ติดชนิดใด มีอันตรายมากกว่ากัน มันไม่ง่ายอย่างที่เพจดังกล่าวเข้าใจ

ลองดูงานวิจัยนี้ (เผยแพร่โดยเว็บไซต์หน่วยงานสุขภาพรัฐบาลสหรัฐ) ซึ่งผลการวัดค่าทีเรียกว่า MOE ออกมาว่า เหล่า หรือบุหรี มีอันตรายของการเสพย์ติด (risk) มากกว่า ทั้งเมตแอมเฟตตามีน และแอมเฟตตามีน ค่า MOE ยิ่งน้อย อันตรายยิ่งมาก ดูตารางที่ผมเอามา ที่เห็น เหล้า มีกราฟแดง “น้อยสุด” คือค่า MOE ต่ำสุด หมายถึงมีอันตราย มากสุดนะครับ ไมใช่สลับกัน http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4311234/ แน่นอน ใครที่พอมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ จะรู้ว่า ปัญหาผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้น ก่อนอื่นมันขึ้นกับกรอบหรือวิธีการที่ใช้ (methods) และ methods ที่ใช้ในเรืองนี้ คำนวนค่า MOE หรือ Margin of Exposure คือคำนวนค่าสัดส่วน “ระดับทำให้เสพย์ติด” ( toxicological threshold) กับปริมาณที่คนเสพย์เข้าไป (estimated human intake) พูดง่ายๆคือ ถ้าบอกว่า เหล้า อันตรายกว่า (ค่า MOE น้อยกว่า) หมายถึงว่า เสพย์นิดเดียวก็ติดแบบเสพย์ติดได้ง่ายอะไรทำนองนั้น ซึ่งถึงเวลา ก็อาจจะมีนักวิทยาศาสตร์วิจัยในแบบอื่นมาเถียงได้ แต่ที่อยากบอกคือ “เทรนด์” หรือทิศทางการวิจัยในเรื่องนี้ มันออกมาแบบนี้ (ทีไพบูลย์ไปจำเขามา หรือเอาที่ผู้เชียวชาญ”ชง”มา) จริง

Advertisement

สมศักดิ์ 1

“ผมเข้าใจดีกว่า เวลาเพจฯ หรือคนทั่วไปพูดถึง “มีอันตราย” หรือ “มีโทษ” มาก-น้อย มักจะคิดในเชิง “ภาพลักษณ์” ที่เห็น เช่น คนกิน “ยาบ้า” แล้ว “คลั่ง” อะไรทำนองนั้น ซึ่งทำให้มองว่ากินยาบ้า แล้วเหมือนกับ “อันตราย” ต่อ “สุขภาพ” มากกว่า แต่นี่ก็อีกนั่นแหละ ปัญหาอยู่ทีว่า จะ define หรือ “นิยาม” ว่า “อันตราย” หรือ “โทษ” คืออะไร แค่ไหน ประเด็นคือเรื่องพวกนี้ มันไมง่ายๆ อย่างทีคุณโพสต์ในกระทู้นี้ หรือที่เสื้อแดงหรือคนต้านรัฐประหารจำนวนมากออกมาแสดงความเห็นแบบนี้หรอกครับ” ดร.สมศักดิ์ ระบุ

ทั้งนี้ ดร.สมศักดิ์ ยืนยันว่า ที่พูดแบบนี้ ไม่ใช่‬ เพื่อบอกว่า เห็นด้วยกับนโยบายถอด เมตแอมเฟตตามีน (“ยาบ้า”) ออกจากลิสต์

Advertisement

“อย่างทีผมเขียนไปข้างต้นว่า ผมเห็นว่า คสช. ไม่มีความชอบธรรมในการดำเนินนโยบายใดๆทั้งสิ้น และเฉพาะเรื่องนี้ เอาเข้าจริง ผม”ยังไม่มีความเห็น” ลงไปทางใดทางหนึ่ง คือเรืองมันซับซ้อน เช่น มันก็ยังเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันได้ว่า สมมุติเมตแอมเฟตตามีน มีอันตรายน้อยกว่าเหล้าจริง (อย่างทีเทรนด์ในการวิจัยออกมา) รัฐเองควรมีนโยบายเช่นไร (ถอด หรือไม่ถอดจากลิสต์ , ผลิตเอง ฯลฯ) แต่ขณะเดียวกัน ข้อเสนอเรื่องถอดเมตแอมเฟตตามีน หรือผลิตเอง มันมี rationale หรือเหตุผลรองรับอยู่เช่นกัน ที่อยากจะบอกก็เพียงว่า กระทู้นี้ของคุณ เป็นการเขียนอะไรที่ “ง่าย” เกินไปครับ (หรือกระทู้ก่อนหน้านี้ ที่บอกว่า “คนขายยาบ้ามีเฮ” – อันนั้น คุณ “ปล่อยเฉิ่ม” เองตรงๆเลย เพราะมันไมใชว่า ข้อเสนอที่กำลังพูดจะนำไปสู่ “พ่อค้ายาบ้ามีเฮ” อะไรแน่ เอาเข้าจริง ทิศทางของข้อเสนอมันมีโอกาสไปในทางทีทำให้ราคา”ยาบ้า”ตก และพ่อค้าแย่) คือเรืองนี้ทั้งหมดมันไมใช่ง่ายๆอย่างทีคุณเข้าใจ ในฐานะเพจทีมีคนอ่านมากๆ ผมเห็นว่า มันเป็นความรับผิดชอบ ที่จะต้องระมัดระวัง เวลาอภิปรายเรื่องที่มีลักษณะเป็นเชิงข้อมูล หรือการใช้เหตุผล ไม่ใช่หวังเพียง “ทำแต้มการเมือง” แบบ “ง่ายๆ” ครับ” ดร.สมศักดิ์ ระบุ

 

ด้าน “จ่าพิชิต ขจัดพาลชน” เข้ามาแสดงความคิดเห็น ระบุว่า “ขออธิบายเรื่อง MOE ซักเล็กน้อย อันนี้มันเป็นค่าที่เปรียบเทียบระหว่าง พิษ ของสารเสพติดชนิดนั้น กับปริมาณของสารที่ได้รับจนถึงขนาดที่เป็นพิษเพื่อเปรียบเทียบว่าสารตัวใดมีความรุนแรงมากกว่ากัน แต่ในกรณีของสารเสพติดนั้น เราไม่ได้ดูแค่ toxicity ของสารเสพติด แต่ต้องดูองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย เช่น อัตราการเสพติด อันนี้หมายถึงเมื่อลองใช้สารเสพติดแล้วจะมีโอกาสเสพติดสูงเท่าไหร่ เช่นในภาพข้างล่างเป็นต้น นอกจากนั้นยังต้องเปรียบเทียบถึงอาการที่จะเกิดขึ้นจากการถอนยา และผลข้างเคียงในระยะยาวด้วย เช่น กัญชาถึงจะมี toxic น้อยแต่ถ้าใช้ในระยะยาวก็จะเกิดผลรุนแรงคืออาจเป็นโรคจิตเภทในภายหลังได้ ตัว parameter ที่อาจารย์ยกมา อันนั้นจะพูดถึงสารตัวนั้นในแง่ lethal dose คือรับเข้าไปเท่าไหร่ถึงตาย หรือระดับที่รับเท่าไปเท่าไรจึงจะเป็นพิษน่ะครับ ดังนั้นการจะเอาแค่ MOE ตัวเดียวมาบอกว่า ยาบ้าอันตรายน้อยกว่าเหล้าจึงไม่สมเหตุสมผลนะครับ”

 

“ประเด็นคือไอ้ทัศนคติที่ว่า ยาบ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ เหล้า ผมรู้ที่มาแล้วว่ามันมาจากไหน คือมันมีบางหน่วยงานไปเอางานวิจัยแบบที่อาจารย์ อ้างอิงนี่ล่ะ คือดูแต่ lethal dose โดยไม่ดูปัจจัยอื่นๆของยาเสพติดตัวนั้น ตั้งแต่ tolerance , dependence , withdrawal , reinforcement มาพิจารณาเลย เลยกลายมาเป็นวาทกรรมที่ว่า แอมเฟตามีนอันตรายน้อยกว่า ซึ่งมันค้านกับความเป็นจริงของคนในแวดวงการแพทย์ที่เราเห็นคนเสพยาบ้าจนสมองพัง ร่างกายพัง หรือกลายเป็นโรคทางจิตเวชไปตลอดชีวิตให้เห็นเต็มบ้านเต็มเมืองมากครับ” จ่าพิชิต ขจัดพาลชน แสดงความเห็น

 

จ่าพิชิต1

หลังจากนั้น ดร.สมศักดิ์ เข้ามาตอบ “จ่าพิชิต” ในคอมเม้นท์ โดยระบุว่า

 

– ก่อนอื่น ผมตระหนักดีเรื่องที่ว่า งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ไม่เฉพาะเรื่องยา) มันมี “ปัจจัยประกอบ” อื่นๆ ที่นอกเหนือจากประเด็นที่วิจัยนั้นโดยตรง ดังที่ผมเขียนไปว่า มันขึ้นกับ “กรอบ” ของการวิจัยว่า เราจะ”ตีกรอบ”ไว้อย่างไรบ้าง (ซึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการวิจัยทุกอย่าง)

– ในแง่นี้ งานวิจัยเรื่องหาค่า MOE เขาก็ตีกรอบของเขาไว้อย่างนึง ถ้าอ่านตัวรายงานเต็มๆ เขาเองก็พูดถึงประเด็นนี้อยู่ และพูดถึงว่า มีการใช้กรอบอื่นๆ หรือมองที่ “ปัจจัย” อื่นๆ มาก่อนหน้านี้ (หรือในอนาคตก็คงมีอีก)

– หมายความว่า ในทางกลับกัน เรื่อง “ปัจจัยอื่นๆ” ที่คุณยกมา ก็คือ “กรอบ” อีกแบบหนึ่งเช่นกัน (คือ “กรอบ” ที่ว่า ใช้เรื่องอย่าง MOE เท่านั้นไม่ได้) ซึงก็เหมือนกรณี MOE คือสามารถนำมาถกเถียงหรือโต้แย้งได้

– ให้ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ทีคุณเขียนว่า “ซึ่งมันค้านกับความเป็นจริงของคนในแวดวงการแพทย์ที่เราเห็นคนเสพยาบ้าจนสมองพัง ร่างกายพัง หรือกลายเป็นโรคทางจิตเวชไปตลอดชีวิตให้เห็นเต็มบ้านเต็มเมืองมากครับ”

อันที่จริง นี่คือการมองจาก”กรอบ”อันหนึ่งเช่นกัน เช่นพูดถึงเรื่อง ผลทีมีต่อคนเสพย์นั้นๆ (ในกรณีที่เสพย์ถึงขั้นนั้น) แต่เช่น ถ้าเรามองในกรอบอื่น รวมถึงกรณี MOE ทีว่า หรือในแง่ที่เป็น “ภาพรวม” ว่า เอาเข้าจริง ยาชนิดใด ทีมีผลในแง่ “ฆ่าคน” ในภาพรวมทางสังคมมากกว่ากัน (ที่คุณเขียนคำว่า “เต็มบ้านเต็มเมือง” .. อย่างกรณีอุบัติเหตุทีเกิดจากเหล้า ที่ทำให้บ้านเรามี คนตาย “เต็มบ้านเต็มเมือง” เป็นสถิติโลก เป็นต้น)

– ประเด็นคือ เรื่องนี้ อย่างที่ผมเขียนไปว่า ผมเองก็ไม่ได้ตัดสินใจว่า วิธีการจัดการกับยาบ้า หรือยาอื่นๆ ทีเหมาะสมควรเป็นอย่างไร สิ่งทีผมเสนอมีเพียงว่า (ก) ปัญหาว่า อะไร “อันตราย” กว่าอะไร ไม่ใช่ปัญหาสำเร็จรูปที่บอกว่ามองได้อย่างเดียว ความจริงคือมีงานวิจัยที่มองในแบบอื่นอยู่จริงๆ (ว่า “เหล้า อันตราย กว่า ยาบ้า ถ้ามองจากกรอบ MOE) ซึ่งเข้าใจว่า นี่คือ”เทรนด์” ตามแบบที่ไพบูลย์ไปจำเอามา(คนอืน “ชง”ให้) และ (ข) ดังนั้น การเสนอว่า “เหล้าอันตรายเหมือนๆกัน หรืออันตรายมากกว่า” จึงไมใช่อะไรง่ายๆว่า เป็นเรือง “โชว์โง่” อย่างที่มีคนโจมตีอย่างง่ายๆแต่อย่างใด

คือขอให้สังเกตว่า ต่อให้คุณ”จ่าพิชิต” โต้แย้งว่า การวิจัยภายใต้ “กรอบ” เรื่อง MOE ไม่เพียงพอ คือต้องเอา “ปัจจัย” อื่นๆ มาประกอบด้วย (ซึ่งดังที่ผมแย้งให้เห็นว่า การ “เอาปัจจัยอื่นๆมาประกอบ” ความจริง ก็เป็น “กรอบ” แบบหนึ่ง)

ผมคิดว่า สิ่งหนึ่งที่คุณน่าจะพอยอมรับก็คือ มันมี “กรอบ” หรือ “ข้อเสนอ” ทำนองที่ว่า (บนฐานเรื่อง MOE) จริง ในแง่ทีว่า “เหล้า เป็นอันตรายในเชิงการเสพย์ติดมากกว่า เมต” (ต่อให้คุณไม่เห็นด้วยดังกล่าว) และดังนั้น จะเห็นว่า ที่คุณโพสต์ (ในนาม Drama-addict ) ดังรูป ที่มี่คนเอาไปแชร์กันเยอะ (รวมทั้่ง หยุดดัดจริตประเทศไทย) ที่คุณเขียนว่า “ไอ้อย่างที่บอกว่าแอมเฟตตามีนมีโทษน้อยกว่าไปเอามาจากไหน” ก็เป็นการเขียนที่ต้องเรียกว่า “ไม่รัดกุม” แน่ๆ

ประเด็นที่ผมพยายามแย้ง และชี้ให้เห็น หลังจากตาม “ดราม่า” เรื่องนี้ (ซึ่งมีโพสต์ดังกล่าวของคุณเป็นส่วนหนึ่ง) ก็คือ เรื่องมัน “ไม่ง่ายๆ” ขนาดนั้นหรอก (คือไมใช่ง่ายๆประเภท “เป็นไปไม่ได้ๆๆ ที่จะว่า เหล้าอันตรายมากกว่าเมต ฯลฯ”) คือมันมีงานวิจัยที่สนับสนุนไอเดียนี้อยู่จริง ซึ่งถ้าผมเข้าใจไม่ผิด เป็น “เทรนด์” หนึ่งในเมืองนอกด้วยซ้ำ

สุดท้าย สรุปก็คือ สิ่งทีผมพยายามจะบอก โดยเฉพาะต่อคนหรือเพจทีมีคนอ่านมากๆ อย่างกรณีคุณ จ่าพิชิต ขจัดพาลชน หรือ Drama-addict หรือเพจ หยุดดัดจริตประเทศไทย ก็คือ

ในเรื่องที่ซีเรียส และมีความซับซ้อนเช่นนี้ ไม่ควรจะรีบไป”ตามกระแส”หรือ “กระพือกระแส” แบบง่ายๆ ด้วยการเขียนประเภทว่า “เอามาจากไหนวะ” หรือ “โชว์โง่ครั้งใหญ่” (กรณีทีไพบูลย์ยกไอเดีย – ซึงจำมาจากเทรนด์วิจัยเมืองนอก – เรื่อง “อันตรายของเหล้าเหมือนๆกัน หรือมากกว่า เมต”)

คืออย่างหนึ่งที่ผมว่าปฏิเสธไม่ได้คือ มัน “มีจริง” ครับ ไอเดียนี้ และไม่ใช่ไอเดียลอยๆแต่อย่างใด มีการวิจัยสนับสนุนอยู่ (แน่นอน ไม่เห็นด้วยได้ เถียงได้ แต่จะบอกว่า “เอามาจากไหนวะ” หรือ “โชว์โง่ครั้งใหญ่” ผมว่า ไม่ถูกแน่ๆ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image