บทนำ : จับตา‘กมธ.รธน.’

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม มีมติเอกฉันท์ 445 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ให้ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จำนวน 49 คน ใช้เวลา 120 วัน กรรมาธิการประกอบด้วย โควต้า ครม. 12 คน อาทิ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พรรคพลังประชารัฐ 9 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคประชาธิปัตย์ 4 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรคเพื่อไทย 10 คน พรรคอนาคตใหม่ 6 คน พรรคเสรีรวมไทย 1 คน พรรคประชาชาติ 1 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน

ก่อนลงมติ มีคำอภิปรายของนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ไว้ว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหา 3 ประเด็นคือ 1.ระบบเลือกตั้ง 2.ทำให้พรรคอ่อนแอมาก และ 3.ขาดเนื้อหาสาระที่เอื้อให้ประชาธิปไตยพัฒนาต่อไป และไม่เกินความคาดหมาย นับตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม อันเป็นวันเลือกตั้ง เกิดความยุ่งเหยิงกล่าวคือ 1.ประกาศผลเลือกตั้งช้าที่สุดในประวัติการณ์ 2.สูตรคำนวณโดยเฉพาะ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ สลับซับซ้อน จนวันนี้คำว่า ส.ส.พึงมียังหาข้อสรุปไม่ได้ 3.ความไม่แน่นอนของ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ 4.ก่อให้เกิดพรรคมากที่สุด 5.กว่าจะตั้งรัฐบาลได้ ใช้เวลานาน เมื่อตั้งรัฐบาลล่าช้า การแถลงนโยบายช้า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณจึงช้าไปด้วย ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และ 6.เสียงปริ่มน้ำมากที่สุด สิ่งเหล่านี้เป็นความล้มเหลวของระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ 2560 ยกร่างโดยคณะบุคคลที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร แต่ใช้การลงประชามติมาเป็นข้ออ้างว่ามาจากประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงต้องเริ่มต้นจากประชาชน ในกรรมาธิการชุดนี้ รัฐบาลวางตัว นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ลาออกจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ส่วนกรรมาธิการทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านมีแนวคิดที่หลากหลาย ทั้งสนับสนุนประชาธิปไตยทั้งสนับสนุนรัฐประหาร จึงต้องจับตาดูว่ากรรมาธิการชุดนี้จะผลักดันการแก้ไขหรือไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในแนวทางใด ซึ่งภายในกรอบเวลา 120 วัน น่าจะพอมองเห็นได้ โดยโจทย์สำคัญที่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ได้ชี้ไว้ เป็นเรื่องที่จะต้องเร่งแก้ไข เพื่อมิให้ปัญหาที่นายบัญญัติและ ส.ส.หลายคนได้ชี้ไว้เกิดขึ้นอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image