สถานีคิดเลขที่ 12 : เสียงแก้‘รัฐธรรมนูญ’

พรรคการเมืองให้ความสำคัญกับการแก้รัฐธรรมนูญ

แม้แค่ตั้งไข่ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ซึ่งผลการศึกษา ไม่ผูกมัด บังคับให้ต้องแก้ไข

แต่พรรคการเมือง ต่างส่งแกนนำเบอร์ใหญ่ หรือคนเด่นดัง ขึ้นชื่อว่า “ธง” ชัด นั่งกรรมาธิการในโควต้าพรรค

เพื่อไทย 10 คน อาทิ โภคิน พลกุล ชัยเกษม นิติสิริ พงศ์เทพ เทพกาญจนา ชูศักดิ์ ศิรินิล สุทิน คลังแสง

Advertisement

อนาคตใหม่ นอกจาก ส.ส.อย่าง ปิยบุตร แสงกนกกุล ชำนาญ จันทร์เรือง ยังมีนักวิชาการดัง เอกพันธุ์    ปิณฑวณิช อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พรรคเสรีรวมไทย ส่ง สมชัย ศรีสุทธิยากร ร่วมแจม

ฟากรัฐบาล โควต้า ครม. 12 คน นำทีมโดย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ไพบูลย์ นิติตะวัน ขณะที่สัดส่วนของพลังประชารัฐนั้น

อาทิ วิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ สิระ เจนจาคะ ทศพล เพ็งส้ม สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม

Advertisement

ประชาธิปัตย์ ได้แก่ บัญญัติ บรรทัดฐาน สุทัศน์ เงินหมื่น นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และเทพไท เสนพงศ์

การที่พรรคการเมืองมุ่งให้น้ำหนักกับเรื่องนี้ เพื่อเปิดทางแก้ไขรัฐธรรมนูญในบั้นปลาย ไม่ใช่เรื่องแปลก

เนื่องจากรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายแม่บทการปกครองประเทศสูงสุด

สำคัญสูงสุด

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าเนื้อหาไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยสากล

บ้างตั้งฉายา ฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ บ้างเรียก เผด็จการครึ่งใบ

มีที่มาไม่ยึดโยงประชาชน แต่ยึดโยงคณะรัฐประหาร คสช.

สืบทอดจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ฉบับ คสช. ที่มาตรา 35 เขียนไว้ชัด “คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมเรื่องดังต่อไปนี้” วงเล็บ 1-10 รวม 10 หัวข้อ

เป็นรัฐธรรมนูญผ่าเหล่าผ่ากอไม่พอ กลับเป็นฉบับที่แก้ไขได้ยากยิ่งอีกต่างหาก

แต่ก็เป็นกฎหมายแม่บท ที่เมื่อมีคนรับไม่ได้

ก็มีคนรักและรักหวง

คำพูดที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” อธิบายได้เป็นอย่างดี

ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ จากความย่อหย่อนในความเป็นประชาธิปไตย ย่อมอยากดำรงรักษาไว้

ที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นทั้งคนออกมาโจมตี รัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างรุนแรง แต่ก็มีผู้ออกโรงปกป้อง

แต่นับแน่นี้ต่อไป

เวทีแห่งการถกเถียงจะเข้ามาสู่รูปแบบอย่างเป็นทางการ

เป็นการถกเถียง ศึกษาในรูปแบบของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ของสภาผู้แทนราษฎร ของผู้มีอำนาจหน้าที่แก้ไข กำหนดชะตากรรมแก้ไข

ที่แม้เมื่อได้สรุปอย่างใดอย่างหนึ่ง ว่าสมควรแก้หรือไม่แก้ก็ตาม แม้ไม่ผูกมัดให้ต้องดำเนินการตามกระบวนการแก้ไข

แต่ก็ส่งผลสะเทือนทางการเมืองไม่น้อย

กรรมาธิการจึงเป็นภาพสะท้อนของตัวแทนการต่อสู้

ระหว่างฝ่ายไม่อยากให้แก้ และฝ่ายยืนยันว่า ไม่แก้ไม่ได้เด็ดขาด

แต่ละฝ่ายจึงเฟ้นส่งตัวแทนมือมีระดับนั่งกรรมาธิการ

การวางคนนั่งกรรมาธิการ แม้ในสายตาสังคมทั่วไป คือสัญลักษณ์จุดยืนของแต่ละฝ่ายชัดเจน

ทว่าที่จริงก็มีแง่งาม

เรื่องใหญ่วาระแห่งชาติอย่างนี้ ต้องการกรรมการ กรรมาธิการ ที่มีหลักการ เหตุผล หลากหลายทุกมิติ

ไม่ว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขหรือไม่ก็ตาม

เพื่อที่ว่าในท้ายที่สุดแล้ว เรื่องแก้ หรือไม่แก้นั้น จะต้องตัดสินอย่างมีมาตรฐาน มีข้อมติจากหลักการ และเหตุผล ไม่ใช่ธง

เสียงแพ้ชนะหากจะใช้วิธีโหวตตัดสินนั้น

แน่นอนตัดสินได้ระดับหนึ่ง

แต่ “เสียงนั้น” อาจบางที ไม่สามารถหักล้าง ความเป็นเหตุเป็นผลที่ประชาชนตัดสินได้เอง

การแสดงเหตุและผลต่อชั้นกรรมาธิการเพื่อโน้มน้าวว่าสำคัญแล้ว

การแสดงเหตุและผลต่อประชาชนกลับสำคัญยิ่งกว่า

อาจสำคัญกว่ามติที่ลงคะแนนตัดสินด้วยซ้ำ หากมตินั้น เป็นเสียงข้างมากที่ไม่สอดคล้อง ฝืนขัดต่อเหตุผล

จึงไม่แปลกที่พรรคต่างๆ ใช้บริการชื่อชั้น มือมีอันดับ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image