สถานีคิดที่ 12 : สองทางหลัก : ปราปต์ บุนปาน

สภาพการเมืองไทยหลังปีใหม่ 2563 คงเปรียบเสมือน “ทางแยก” สองสาย ที่มีสองหนทางหลักๆ ให้ก้าวเดินไปควบคู่กัน

ด้านนอกสภา “การเมืองบนท้องถนน” ซึ่งเริ่มก่อตัวขึ้นช่วงปลายปี 2562 อาจจะเป็นปรากฏการณ์ที่หลีกเลี่ยงได้ยากในปีหน้า

เมื่อมีนักการเมืองบางคน (หรืออาจขยายกลายเป็นบางกลุ่ม/บางพรรค) ถูกเบียดขัดออกจากระบบปกติ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความหวังในการต่อสู้ที่กำลังผลิบาน นั้นมี “เสียงเตือน-เสียงปราม” ที่จำเป็นต้องรับฟังเช่นกัน

Advertisement

เริ่มจาก “เสียงเตือน” ของแกนนำม็อบรุ่นก่อนหน้าอย่าง “สนธิ ลิ้มทองกุล” (เสื้อเหลือง) และ “จตุพร พรหมพันธุ์” (เสื้อแดง) ที่ออกมาส่งข้อความถึง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ในเวลาใกล้เคียงกัน

เป็น “เสียงเตือน” ที่ย้ำถึงความยากลำบากในการกำหนดทิศทาง-ควบคุมความปรารถนาของมวลชน และการเผชิญหน้ากับกลไกอำนาจรัฐอันแข็งกร้าว

ก่อนจะมี “เสียงปราม” (อีกครั้ง) จาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่เปรียบเทียบกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ว่าเป็น “วิกฤตการณ์ตัวแทน” ที่มีผู้เสียประโยชน์แอบสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

Advertisement

การเมืองนอกสภาในปี 2563 จะลงเอยหรือนำไปสู่ผลลัพธ์เช่นใด ยังไม่มีใครล่วงรู้

ทว่า ณ ปัจจุบัน ดูเหมือน ด้านหนึ่ง จะมีผู้เชื่อว่า “แฟลชม็อบ” บนสกายวอล์กปทุมวันก็ดี กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ในเดือนมกราคมก็ดี คงจะเดินไป “ซ้ำรอย” เดิม ที่เกิดขึ้น/ดำเนินมาตลอด 13 ปีหลัง

แต่อีกด้านหนึ่ง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนไม่น้อยก็คงมีความเชื่อว่านี่คือปรากฏการณ์ชนิดใหม่ ขับเคลื่อนโดยคนรุ่น/หน้าใหม่ๆ ท่ามกลางบริบท-สถานการณ์แบบใหม่

การต่อสู้อีกหนึ่งสนามนั้นดำรงอยู่ในระบบรัฐสภา

เมื่อท้ายสุด สภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

น่าสนใจว่าคะแนนเสียงในสภาที่สนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าวนั้นเป็นเอกฉันท์

ดังนั้น ไม่ว่าบรรดา ส.ส. หลายร้อยคน จะเห็นชอบกับการตั้ง กมธ.ศึกษา-แก้ไขรัฐธรรมนูญ ในฐานะตัวแทนประชาชน ผู้มีความคิดวิจารณญาณเป็นของตนเอง หรือจะเห็นชอบตามมติพรรค-มติวิป ด้วยเหตุผลทางการเมืองบางอย่าง

เราก็มิอาจปฏิเสธได้ว่าแทบทุกฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาในเชิงปฏิบัติ

อีกข้อที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้นั้นรวบรวมเสียงต่างขั้วทางการเมืองเอาไว้อย่างกว้างขวาง

ภาพคณะบุคคลใน กมธ.ศึกษา-แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำลังจะเริ่มต้นทำงาน ทำให้ย้อนนึกไปถึงงานวิชาการฉบับคลาสสิกที่ทำการศึกษารัฐธรรมนูญ ด้วยแนวคิดหลักที่ว่ารัฐธรรมนูญคือ “อัตตชีวประวัติเกี่ยวกับสัมพันธภาพทางอำนาจของมนุษย์”

กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญจึงมักนำ “ความใฝ่ฝัน” เชิงหลักการ-นามธรรมบางอย่าง ที่ยังไม่บรรลุถึงจริงๆ มารวมเอาไว้ ขณะเดียวกัน งานศึกษารัฐธรรมนูญก็อาจต้องทำในสิ่งตรงข้าม คือพิจารณาถึง “สิ่งชั่วร้าย” บางประการที่ประพฤติปฏิบัติกันอย่างเป็นปกติวิสัยในสังคมการเมืองด้วย

ในระหว่างทาง กระบวนการทำงาน-ถกเถียงของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คงฉายภาพของการปะทะสังสรรค์ที่ว่า ออกมาได้กระจ่างชัดเจนขึ้น

ส่วนผลลัพธ์ปลายทางจะออกหน้าไหน

ระหว่างการกลายสภาพเป็นคณะกรรมาธิการที่เต็มไปด้วยการตีรวน ปั่นป่วน ขัดแย้ง จนไม่อาจนำไปสู่บทสรุปหรือแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเป็นรูปธรรม

กับการสามารถรวบรวมผสมผสานความเห็นต่างในสังคม จนนำไปสู่การเริ่มต้นสร้างสรรค์โครงสร้าง-กฎ-กติกาทางการเมืองแบบใหม่ ที่เหมาะสมกับบริบทอันเป็นจริงและเปลี่ยนแปลง

เราคงต้องจับตาดูกันต่อไป

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image