บทนำมติชน : รับมือภัยแล้ง

สัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และแผนงานอื่นๆ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นาย
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ภายหลังการประชุม พล.อ.ประวิตรยอมรับว่าปีนี้เป็นปีที่น้ำแล้งมากกว่าปกติ ต้องเตรียมการนำน้ำใต้ดินและน้ำบนดิน ต้องมีน้ำใช้อย่างเพียงพอในการอุปโภคและบริโภค ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนของน้ำใต้ดินได้เจาะน้ำบาดาลเพิ่มประมาณ 524 บ่อทั่วประเทศในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ และขอฝากไปถึงประชาชนช่วยประหยัดน้ำ ขณะที่การทำนาปรังขอให้เกษตรกรอย่าเพิ่งทำ เพราะไม่มีน้ำแล้ว ขอให้ปลูกพืชน้ำน้อยดีกว่า

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประวิตรได้แสดงความห่วงสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562/2563 และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ คาดว่าพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคมี 43 จังหวัด วิธีการช่วยเหลือมีอาทิ จัดหาแหล่งน้ำสำรองและขุดเจาะบ่อบาดาล จัดหาแหล่งน้ำสำรองสำหรับประปาหมู่บ้านนอกเขตการประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น

สถานการณ์ภัยแล้งเป็นที่คาดการณ์กันก่อนหน้านี้ว่าจะเกิดขึ้น การเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นเรื่องดี อย่างน้อยในขณะนี้ รัฐบาลก็ยืนยันว่าความกังวลเรื่องน้ำในปีนี้และปีหน้าไม่ใช่เป็นการตื่นตระหนก แต่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแน่ โดยฝ่ายรัฐบาลได้ประชุมคณะทำงานชุดใหญ่ระดับชาติเพื่อเตรียมการรองรับเอาไว้แล้ว ระยะเวลาที่เหลืออยู่ จึงเป็นการร่วมทำให้แผนการรับมือซึ่งประชุมหารือสามารถนำไปใช้ได้จริง ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้

Advertisement

ทุกอย่างทุกประการ ต้องฝากไว้ที่ฝีมือการบริหารของรัฐบาล หากรัฐบาลทำได้ตามแผน ประชาชนย่อมได้รับผลกระทบจากภัยแล้งน้อยลง แต่ถ้าทำไม่ได้ ความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ภัยแล้งย่อมเกิดขึ้นและส่งผลเป็นทอดๆ จนในที่สุดจะมากระทบรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image