ถอดรหัส‘พปชร.’ปรับโครงสร้าง ประสานรอยร้าว-รับมือศึกนอก

 

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการและฝ่ายต่างๆ กรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีการปรับโครงสร้างพรรค ทั้งการเปลี่ยนโลโก้พรรคจากแบบเหลี่ยมเป็นวงกลม เพื่อแสดงถึงความสามัคคี ตั้งกรรมการบริหาร (กก.บห.)เพิ่มอีก 17 คน รวมเป็น 34 คน และตั้งนายอนุชา นาคาศัย และนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นรองหัวหน้าพรรค

ชุมสาย ศรียาภัย
รองโฆษกพรรคเพื่อไทย

Advertisement

การปรับโครงสร้างของพรรคพลังประชารัฐ พร้อมปรับโลโก้ของพรรคจากเดิมเป็นเหลี่ยมรังผึ้งเป็นวงกลมเหมือนลูกโลกเพื่อความยิ่งใหญ่ ให้เหตุผลว่าทำให้คนในพรรคมีความกลมเกลียว มีความปรองดอง แต่สาเหตุของการเปลี่ยนแปลง ต้องกลับไปดูความเป็นมาของพรรคที่มีหลายองค์ประกอบ ส่วนหนึ่งก็มาจากพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่น หรือจากทหารเก่าในกองทัพที่มาต่างกัน ทำให้มีการช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงอาจหนีไม่พ้นสถานการณ์ที่เป็นของจริงภายในพรรค ที่มีความขัดแย้งค่อนข้างสูง แต่ผู้บริหารพรรคพยายามจะบอกสังคมว่าไม่มีความขัดแย้ง

ต้องยอมรับว่าพรรคนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นฐานของการสืบทอดอำนาจ หลังจากการทำรัฐประหาร เพื่อเข้าสู่สนามการเมือง มีการชุบตัวมาจากการเลือกตั้ง และได้อานิสงส์จากกฎกติกาทางการเมือง แม้แต่กลไกของระบบราชการ องค์กรอิสระบางส่วน ก็ถูกตั้งข้อสังเกตและสังคมไทย สังคมโลกจับตามองในการทำหน้าที่ เพื่อทำให้พรรคได้เข้าสู่อำนาจ จะเห็นได้ว่าพรรคนี้ไม่มีปัญหาใดๆ เป็นอุปสรรคจากการร้องเรียนตามข้อกฎหมาย ขณะเดียวกันพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามจะถูกดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว และสิ่งที่เกิดขึ้นอาจทำให้บุคลากรในพรรคบางส่วนมองเห็นว่าความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้น จำเป็นจะต้องมีการปรับรูปแบบเพื่อให้เกิดการยอมรับ ขณะที่อีกฝ่ายในพรรคยืนยันจะดันทุรังเหมือนเดิมใช้วิธีการเดิม

วันนี้ประชาชนในภาพใหญ่ของสังคมได้เห็นชัดแล้วว่า หลังมีการจัดตั้งรัฐบาลนาน 5 เดือนความรู้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมหภาค ความสามารถในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ถูกว่ายังล้มเหลวจากความผิดพลาดของนโยบายที่กำหนดไว้ ดังนั้น ไม่ว่าพรรคจะปรับยุทธศาสตร์ภายในอย่างไร หรือมีโยบายใหม่ ก็หนีไม่พ้นจะถูกสังคมให้บทเรียนหรือพิพากษาหากมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต

ขณะที่การปรับโครงสร้างจะมีเป้าหมายเพื่อรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อทำให้ทุกมุ้งสงบนิ่งเป็นการชั่วคราว ไม่ควรมีใครหรือฝ่ายใดออกมาให้ข้อมูลว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคเหมือนที่ผ่านมาและการตั้งกรรมการบริหารพรรคจำนวนมากก็ไม่ได้มีข้อวิตกกังวลว่าพรรคจะต้องถูกยุบในภายหลังจากข้อร้องเรียนทั้งหลายก่อนหน้านี้ นอกจากนั้นอาจจะต้องเตรียมพร้อมรับมือการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภททั่วประเทศ รวมทั้งปัญหาที่น่าวิตกวังกลมากที่สุดมาจากปัญหาเจ้าของพรรคตัวจริงอยู่ข้างหลังไม่สบายใจเป็นอย่างมาก กรณีมีการนัดหมายของกลุ่มมวลชนเพื่อทำกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในใจกลางกรุงเทพฯช่วงต้นเดือนมกราคม 2563 ขณะที่พรรคในฐานะแกนนำรัฐบาลต้องวางเป้าหมายเพื่อใช้ทุกวิถีทางให้รัฐบาลนี้อยู่ยาวนานที่สุด

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
นักวิชาการรัฐศาสตร์

การปรับโครงสร้างพรรคก็ต้องการทำให้มีผู้รับผิดชอบลูกน้องในสังกัด ไม่ได้ปรับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ แต่พยายามย้อนยุคไปทำงานแบบพรรคการเมืองรุ่นเก่าแบบโบราณ ถ้าใครจะเอาประโยชน์หรือจะต่อรองอะไรก็ไปหาหัวหน้ากลุ่มของตัวเอง เพราะเดิมหัวหน้าพรรคอาจจะคุมไม่ได้ แต่เมื่อเปลี่ยนโครงสร้างใหม่หากมีปัญหาแบบเดิม คนกลางในพรรคจะไม่ต้องออกมารับผิดชอบหรือประสานงานให้ยุ่งยาก สำหรับพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจมักถูกประเมินว่าจะอยู่ไม่ยาว เพราะต้องใช้ผลประโยชน์มาก ต้องมีสายป่านยาว ไม่ทำให้มีปัญหาขัดแย้งภายใน ส่วนการบริหารประเทศก็เป็นความรับผิดชอบของแต่บุคคล ขณะที่ผู้มีอำนาจเจ้าของพรรคตัวจริง เข้าไปทำหน้าที่ประธานยุทธศาสตร์เพื่อระงับแรงกระเพื่อม ทำให้ในพรรคเชื่อมั่นว่าในสถานการณ์ต่างๆ สามารถแก้ไขได้หรือเอาอยู่ หากมีประชาชนลุกฮือมาเดินขบวน

แต่ถ้าหากจะให้เป็นประโยชน์ของคนในประเทศ การปรับปรุงองค์กรของทุกพรรคการเมืองในภาวะที่เศรษฐกิจย่ำแย่ เผชิญวิกฤตภัยแล้งที่ล้มเหลวจากการบริหารจัดน้ำมานาน 5 ปี ทั้งที่ใช้งบมหาศาล พรรคที่ถูกมองว่าสืบทอดอำนาจหากอยู่ยาว ควรนำคนดีมีฝีมือเข้ามาทำงาน ทำให้เป็นพรรคของประชาชน มีอุดมการณ์มุ่งมั่นทำให้ประชาชนมีความสุข มีความพอใจจากการบริหารประเทศให้มากที่สุด ไม่จำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อลดความขัดแย้งในพรรค หรือไม่ทำให้คนข้างบน 20% อยู่สบาย แต่คนที่เหลือส่วนใหญ่ยังลำบาก ก็ทำให้มีปัญหาเหมือนทุกวันนี้ แล้วนักการเมืองถ้ายังไม่ดูหลักสำคัญของประเทศ ทั้งเรื่องของความยุติธรรมและการศึกษา หากไม่สนใจทำ 2 อย่างนี้ให้ประชาชนได้รับอย่างเท่าเทียมกันและมีคุณภาพ ประเทศก็ไปไม่รอด ที่สำคัญที่สุดคืออย่าเข้าไปโกงให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา อย่าให้มีสังคมที่มีแต่การเอาเปรียบ

จตุพร พรหมพันธุ์
ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

การปรับทัพตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ รวมถึงการเปลี่ยนโลโก้ให้สอดรับกับฮวงจุ้ยในทางการเมืองคงคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ได้ตั้งใจแก้ไขในระยาว เพราะสะท้อนว่าพรรคมีปัญหาจากการวมตัวของนักการเมืองที่หลากหลาย ขณะที่ตำแหน่งรัฐมนตรีมีจำกัด ทุกคนไม่มั่นใจว่าจะได้อยู่นานแค่ไหน ทุกคนไม่รู้อนาคตวันข้างหน้า ดังนั้น ต้องอยู่กับปัจจุบันให้ได้ตามความต้องการมากที่สุด และคนในพรรคย่อมรู้ดีว่าวันใดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หรือ 3 ป.พ้นเวทีทางการเมือง พรรคนี้ก็จะจบโดยปริยาย

ดังนั้น ทุกคนต่างก็ไม่แน่ใจ เพราะอนาคตของพรรคได้ฝากไว้กับ 3 ป. เท่านั้น จึงมีการตั้งกรรมการเพื่อกระจายไปแก้ไขปัญหา เพราะนักการเมืองก็รู้ว่าพรรคนี้อาจไม่มีในสมัยที่ 2 ถ้า 3 ป.ถอยออกไป ทำให้ทุกปัญหาที่คุกรุ่นทั้งการรอต่อคิวรัฐมนตรี หรือการแสดงออกที่มาจากที่มาของคนต่างขั้ว และการปรับทัพครั้งนี้ ก็เพื่อใช้กลไกของทุกสายที่มารวมตัวอยู่ในพรรคให้สงบ ชั่วคราวไม่มีความหมายเป็นอย่างอื่น

แม้ว่ามีการปรับโครงสร้างแล้ว คนในพรรคที่มีบทบาทสูงสุดคือ พล.อ.ประวิตร ไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ในโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค เพราะปกติ พล.อ.ประวิตรยืนอยู่เหนือทุกคนในพรรค เมื่อถามว่าใครมีอิทธิพลสูงสุดก็คงมีคำตอบชัดเจน ขณะที่บุคคลถูกนำมาใช้ในการหาเสียงก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้ง 2 คนนี้จึงเป็นคนสำคัญ บวกกับการเสริมทัพของ พล.อ.อนุพงษ์แล้ว ใน 3-6 เดือนไม่ว่ามุ้งภายในของพรรคจะสงบจริงหรือไม่ มองว่าปัญหานี้จะเล็กกว่าปัญหาของประเทศ เพราะนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป มีการประเมินว่าจะต้องเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวมทั้งคนในรัฐบาลก็บอกว่าปีหน้าจะเผาจริง ประชาชนจะเดือดร้อน

ดังนั้น ความไม่เป็นเอกภาพภายในไม่เฉพาะพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็สะท้อนปัญหาอย่างชัดเจน หรือระหว่างพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย หากไปร่วมร้องเพลงจับมือกันไว้บ่อยเท่าไหร่ก็ยิ่งสะท้อนว่ามีปัญหา เพราะหากคนดีกันคงไม่ต้องไปเสียเวลาร้องเพลงจับมือไว้ถึง 2 วัน ทั้งหมดเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่มีปัญหาภายใน ส่วนการวิ่งไล่ลุง การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นสถานการณ์ยังมาไม่ถึง แต่รัฐบาลไหนก็ตาม ถ้าจะมีอันเป็นไป มักจะมาจากอาการของโรคคลั่งอำนาจ เป็นผลมาจากการประเมินสถานการณ์ผิดพลาด เช่น การจัดวิ่งไล่ลุงก็มีคนไปจัดวิ่งเชียร์ลุง มีการประกาศรวมตัวของพรรคอนาคตใหม่ ก็มีการจัดตั้งเวทีต่อต้านพวกชังชาติ ทั้ง 2 มิตินี้สะท้อนว่ากลไกรัฐ ทำให้ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐมีพลังมากขึ้น และฝ่ายไม่เห็นด้วยวันนี้มีความเติบโตอย่างน่าอัศจรรย์ เพราะกลไกรัฐเป็นโรคคลั่งอำนาจได้มาสร้างให้มีพลานุภาพมากกว่าที่ควรจะเป็น

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.พะเยา

การเพิ่มจำนวนกรรมการบริหารพรรคน่าจะเป็นกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ของพรรคที่วางแผนไว้ว่า ห้วงนี้มีสถานการณ์อะไรกับพรรคบ้าง โดยการขยายจำนวนกรรมการบริหารพรรคเป็น 34 คน น่าจะมีสาเหตุจากหลายประการ 1.มี ส.ส.จากพรรคอื่นย้ายเข้ามาเพิ่มเติม 2.เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้น อาจตั้งตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคขึ้นมาเพิ่มเติมเพื่อดูแลเขตพื้นที่ทั่วประเทศ มีพื้นที่เยอะมาก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีความหมายทางการเมืองระดับชาติอย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องเน้นเป็นพิเศษ

ส่วนตัวไม่แน่ใจเรื่องจำนวนกรรมการบริหารพรรค แต่เท่าที่เคยได้ยินข่าว มากที่สุดคือประมาณ 10-20 คน แต่ครั้งนี้พรรค พปชร.มีถึง 34 คน ถือว่าเยอะ ในอนาคตอาจเกิดปัญหาเรื่องการทำงานอาจไม่ลงตัวได้ ท้ายที่สุดแล้วหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคจะเป็นผู้สำรวจตรวจตราว่าปัญหา ณ ขณะนั้นจะบานปลายหรือไม่ พร้อมหาแนวทางแก้ไขหรือประสานให้สถานการณ์คลี่คลายลงไปได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อจำนวนคนมากก็เสี่ยงจะเกิดปัญหา เพราะมากคนก็มากความ

ประเด็นการเปลี่ยนแปลงโลโก้พรรคนั้น คาดว่าจะคำนึงถึงตามที่แกนนำพรรคออกมาบอกว่าวัตถุประสงค์ก็เพื่อให้เกิดความสอดประสานโดยมีลักษณะเป็นวงกลม แสดงว่าของเดิมที่เหมือนรังผึ้ง อาจจะมีเหลี่ยม ไม่รู้ว่าตีความตามหลักโหราศาสตร์หรือหลักฮวงจุ้ยประการใดหรือไม่ เป็นเรื่องของสัญลักษณ์ แต่เรื่องที่สำคัญกว่าคือองค์ประกอบอื่นๆ ภายในพรรค เช่น ยุทธศาสตร์ น่าจะมีตรรกะอธิบายมากกว่าเรื่องสัญลักษณ์หรือไม่

เป็นที่น่าสังเกตว่าในมาตรา 21 วรรค 2 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ระบุว่า คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองประกอบด้วย หัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นตามที่กําหนดในข้อบังคับ ทั้งนี้ ข้อบังคับดังกล่าวขึ้นอยู่กับแต่ละพรรคการเมืองหรือไม่ เพราะไม่มีระบุเรื่องจำนวนไว้ ในอนาคตจะตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็น 40-50 คน หรือไม่

ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

การเพิ่มกรรมการบริหารพรรคเป็น 34 คน น่าจะเป็นสิ่งที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต้องการปรับกลยุทธ์เพื่อจะปิดช่องว่างหรือจุดอ่อนของกลไกในพรรคตัวเองหลังจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาดำรงตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรค ก็ได้ปรับเปลี่ยนหลายส่วน เช่น การปรับกรรมการบริหารพรรค การกำชับ ส.ส.ให้เข้าประชุมสภา

อย่าลืมว่าต้นกำเนิดของพรรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มกันทางอุดมการณ์ เพราะคนส่วนใหญ่ที่มารวมกันเป็นพรรค พปชร.ล้วนมาจาก ส.ส.ต่างๆ นักการเมืองมืออาชีพ ผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองอันยาวนาน รวมทั้งนักการเมืองมือสมัครเล่น จะเห็นได้ว่าในพรรคพลังประชารัฐมีความแตกต่างในพรรคค่อนข้างสูง มีมุ้งทางการเมืองมากมาย เมื่อเป็นแบบนี้จึงเห็นได้ว่ามีเกมต่อรองทางการเมืองค่อนข้างสูงมาก ทำให้เกิดปัญหาซึ่งเห็นตั้งแต่เริ่มเปิดสภา หรือการต่อรองเกิดขึ้นเป็นระยะ

แน่นอนว่า ภายใต้รัฐบาลผสมจะต้องเผชิญกับการต่อรองภายนอก และระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว อีกทั้งการต่อรองภายในพรรคที่เกิดขึ้นอีก อันจะไปกระทบกับเสถียรภาพรัฐบาลค่อนข้างสูง ดังนั้น การจัดสรรตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคให้เป็นไปตามสัดส่วนที่ครอบคลุมจึงเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่ากรรมการบริการพรรคชุดใหม่ที่เข้ามาจะมีทั้งสัดส่วนจากแต่ละภาค มีครบทุกภาค ขณะที่กรรมการชุดเดิมก็ไม่มีการขยับ แต่เดิมก็มีข่าวว่าจะมีการเปลี่ยนเลขาธิการพรรค เปลี่ยนกรรมการต่างๆ ยกชุด จุดนี้อาจทำให้เกิดความขัดแย้งกับบรรดากลุ่มก่อตั้งพรรค หรือกลุ่มที่มาจากการรวมอดีต ส.ส.เข้ามาได้ ดังนั้นจึงเกิดลักษณะประนีประนอมกันระหว่าง 2 กลุ่ม ทำให้กรรมการบริหารพรรคมีอยู่มากมาย

คาดว่าจะเป็นกลยุทธ์สร้างความกลมเกลียว ความสามัคคีมากขึ้น แม้กระทั่งโลโก้พรรคก็มีการปรับจากเหลี่ยมเป็นวงกลม เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าต้องการสร้างความสามัคคี สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าทั้ง 34 คน มาจากการประนีประนอมทางการเมือง พร้อมกับอุดช่องว่างภายในแต่ละกลุ่มการเมืองของพรรค

อย่างไรก็ตาม บทบาทสำคัญของกรรมการบริหารพรรคคือการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจเรื่องการบริหารพรรค เป็นบทบาทหน้าที่ทั่วไป แต่การมีกรรมการบริหารพรรคมากขนาดนี้อาจเกิดปัญหาในการทำงานพอสมควร ยิ่งมีคนมาก องค์ประชุมก็ต้องมากตามไปด้วย เช่น หากจะมีการขับ ส.ส.ออกจากพรรค ในกฎหมายพรรคการเมืองหรือรัฐธรรมนูญได้ระบุชัดว่าต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค บวกกับ ส.ส.ของพรรคด้วย หากวันหนึ่งมีกรณีนี้เกิดขึ้น ส.ส.ในพรรค พปชร.ที่มีอยู่ 100 กว่าคน รวมทั้งกรรมการบริหารพรรคอีก 34 คน การประชุมก็ไม่น่าจะง่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image