‘วิทวัส’ เผย ‘ผู้ตรวจฯ’ ใช้เวลาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนนานขึ้น เหตุซับซ้อน-ข้อ กม.ต่างกัน

ผู้ตรวจการแผ่นดิน – เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงภาพรวมการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินในปี 2562 ว่าได้มีการปรับปรุงรูปแบบการจัดทำคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน การร้องเรียนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน มาตรา 22 (1) (2) (3) เกี่ยวกับการเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ข้อบังคับที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน การเสนอแนะความเห็นไปยังหน่วยงานรัฐ และรายงาน ครม.หากหน่วยงานไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ คำวินิจฉัยที่จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อแยกคำวินิจฉัยเป็นส่วนๆ ก็จะง่ายต่อการส่งคำวินิจฉัย ทำให้รับทราบรายละเอียดของคดี เช่นหน่วยงานที่ถูกร้อง ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริง รวมถึงเหตุผลของการสั่งให้ยุติเรื่องหรือส่งไปยังศาลฯให้พิจารณา

พล.อ.วิทวัสกล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องร้องเรียนในปี 2562 มีประมาณกว่า 4,000 เรื่อง เป็นเรื่องใหม่ 2,600 เรื่อง เป็นเรื่องที่ค้างมาจากปี 2561 กว่า 1,400 เรื่อง โดยพิจารณาแล้วเสร็จ 2,600 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 55 ยอมรับว่าตัวเลขน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เพราะในขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริงต้องทำให้ละเอียดมากขึ้น ต้องใช้เวลาในการติดตามผลการหารือร่วมกับหน่วยงาน อีกทั้งเรื่องร้องเรียนในระยะหลังๆ มีความซับซ้อน เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานรัฐ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็ยึดถือกฎหมายที่ตัวเองดำเนินการเป็นหลัก ดังนั้น ต้องเอาเรื่องหลักนิติธรรมไปแก้ไขปัญหา อีกทั้งบางเรื่องต้องใช้เวลาพิสูจน์ว่ากฎหมายของหน่วยงานรัฐใดที่มีศักดิ์เหนือกกว่ากัน เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของประชาชน นอกจากนี้ ยังพบว่าหน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติด้วยเหตุว่ายึดกฎหมายเป็นหลัก จึงต้องมีการรายงานต่อ ครม. และก่อนเสนอไปยัง ครม.ก็ต้องสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง จึงทำให้ต้องใช้เวลานาน แต่ก็มีกรอบเวลาต้องดำเนินการไม่ช้ากว่า 2 ปี

Advertisement

ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินยอมรับว่ามีหน่วยงานรัฐร้อยละ 99 ยอมให้ความร่วมมือ แต่ก็มีบางหน่วยงานที่ยังพูดยากอยู่ เช่น กรมอุทยาน กรมป่าไม้ ที่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับ ส.ป.ก. การประกาศพื้นที่อุทยานทับซ้อนกับที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ก็เป็นปัญหาค้างคา เพราะการขีดแนวในอดีตไม่ได้ใช้หลักวิชาการ และนำไปสู่การยึดถือเป็นข้อกฎหมาย เมื่อมีการสำรวจตามหลักแผนที่สมัยใหม่ก็จะเกิดปัญหาทับซ้อน ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดมาก ซึ่งผู้ตรวจฯเห็นว่าอาจจะมองข้ามหลักนิติธรรม ย้ำว่าผู้ตรวจฯทำงานโดยยึดผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image