เพื่อไทย โต้กรธ.ทันควัน! อัดเลวร้ายกว่าร่างเดิม สืบทอดอำนาจอย่างแยบยล

วันนี้ (29 มกราคม) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้แถลงร่างรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้นแล้วนั้น วันนี้ พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า เป็นร่างที่ไม่ยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เปิดโอกาสให้มีการสืบทอดอำนาจมีรัฐบาลที่อ่อนแอ ให้อำนาจองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ ควบคุมรัฐบาลที่มาจากประชาชนรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน มีรายละเอียดดังนี้

ตามที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอความเห็นมาโดยตลอดว่าประเทศไทยต้องมีรัฐธรรมนูญที่ดี มีความเป็นประชาธิปไตยที่เป็นสากล เคารพในสิทธิมนุษยชน ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรมมีดุลยภาพและความรับผิดชอบขององค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยอย่างเหมาะสม ให้ความเคารพในอำนาจตัดสินใจของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์และผลักดันการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม

พรรคเพื่อไทยได้เคยเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสรุปสาระสำคัญโดยย่อดังต่อไปนี้

1. ต้องยึดหลักการประชาธิปไตย ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริงมิใช่เป็นของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

Advertisement

2. วางกลไกการบริหารจัดการประเทศที่ทุกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย สามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักนิติธรรมและธรรมาภิบาลโดยมีระบบตรวจสอบ ที่เหมาะสมซึ่งประชาชนมีส่วนร่วม

3. ต้องให้อำนาจประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกตั้งผู้แทนโดยตรง และผู้นำฝ่ายบริหารต้องมาจากตัวแทนที่ประชาชนเลือกเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งที่สังคมไทยคุ้นเคยเข้าใจดีและไม่มีปัญหา มีแต่จะยิ่งสร้างความยุ่งยาก มีปัญหา และไร้ประสิทธิภาพ

4. รัฐธรรมนูญต้องอยู่บนพื้นฐานที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ไม่ควรกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากจนเกินไป

Advertisement

เมื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน และได้เผยแพร่ต่อประชาชนให้ได้รับทราบ เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ปรากฏไม่เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล และไม่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ประชาชนตกผลึกแล้วประชาชนถูกรอนสิทธิ อำนาจอธิปไตยของประชาชนถูกลิดรอนและถูกควบคุมกำกับโดยองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพียงไม่กี่คนเป็นผู้ตัดสินชะตาอนาคตของประเทศ จะมีรัฐบาลที่อ่อนแอ ขาดเสถียรภาพ ไม่อาจพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง คิดนโยบายระยะยาวไม่ได้ ไม่อาจแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนได้ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. สร้างระบบเลือกตั้ง ที่จะนำไปสู่การมีรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ตัดสิทธิของประชาชนที่มีโอกาสได้แยกเลือกผู้สมัครเขตออกจากการเลือกพรรคการเมือง สร้างความสับสนให้แก่ประชาชนบังคับประชาชนให้ลงคะแนนเลือกเฉพาะผู้สมัครเขต รัฐบาลอ่อนแอไม่อาจแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาประเทศ และไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ

2. ระบบเลือกตั้งใหม่จะนำไปสู่ความอ่อนแอของพรรคการเมือง นำไปสู่การต่อรองทางการเมือง และจะนำไปสู่การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารโดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิใช่ส.ส.เป็นนายกรัฐมนตรี ในที่สุดจะนำไปสู่การถดถอยของประชาธิปไตยและอำนาจของประชาชน

3. เพิ่มอำนาจ ให้ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนฝ่ายการเมือง และฝ่ายต่างๆ วินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญ ได้อย่างกว้างขวาง มีสิทธิขาดในการตีความรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยสร้างวิกฤตให้กับประเทศมาแล้วมากมายหลายครั้งเคยตัดสินคดีที่แสดงถึงการใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉลหลายต่อหลายคดี ศาลรัฐธรรมนูญจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายตัวแทนของประชาชน

4. ให้องค์กรอิสระ (กกต. , ปปช. , สตง.) มีอำนาจเหนือรัฐบาลและรัฐสภาโดยการชี้ทิศทางและความเป็นไปในการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้รัฐบาลและรัฐสภาขาดความเป็นอิสระในการบริหารราชการแผ่นดินและในการตรากฎหมาย องค์กรเหล่านี้จะทำหน้าที่ต่อต้านนโยบายของรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศและประชาชนได้

5. การให้ ส.ว. ทั้งหมดมาจากการสรรหาของคนเพียงกลุ่มหนึ่งแสดงถึงการไม่เคารพในสิทธิของประชาชนที่จะเลือกผู้แทนของตนเองและความถดถอยของประชาธิปไตยไปมากกว่ารัฐธรรมนูญปี 50 เสียอีก ทั้งนี้ ก็เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มอำนาจปัจจุบันได้สร้างระบบตัวแทนของตนเองเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป

6. กำหนดกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำให้ไม่อาจแก้ไขได้เลย เพราะต้องใช้เสียงวุฒิสภาซึ่งมาจากการสรรหาอย่างน้อยหนึ่งในสามและเสียงจากทุกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าร้อยละ 10จะทำให้เกิดปัญหาวิกฤตรัฐธรรมนูญขัดขวางการพัฒนาการเมืองและการพัฒนาประเทศอย่างสำคัญ
แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามที่ กรธ. อ้างเสมอ แต่ก็ได้เห็นแล้วว่าผู้ร่างมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบเพียงใด ดังจะเห็นได้ว่าไม่มีมาตรการและระบบตรวจสอบในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 เลยแม้แต่น้อย เปิดโอกาสให้มีการรับผลประโยชน์ตอบแทนได้หลายทาง หลายตำแหน่งในเวลาเดียวกัน นอกจากนั้น ก็มุ่งควบคุมแต่เฉพาะภาคการเมือง ละเว้นที่จะกำหนดมาตรการอื่นๆ ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจากฝ่ายอื่นๆ เช่นการกำหนดให้ฝ่ายอื่นๆ ซึ่งใช้อำนาจรัฐ ตลอดจนองค์กรอิสระทั้งหลาย และข้าราชการระดับสูง เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ และเมื่อโครงสร้างของระบบการเมืองและการปกครองประเทศซึ่งเป็นโครงสร้างระดับบนมีปัญหาและประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียงในกระบวนการได้มาซึ่งองค์กรตรวจสอบต่างๆ แล้ว ก็หนีไม่พ้นที่จะเกิดวิกฤตทางอำนาจตามมา

อันจะทำให้การแก้ปัญหาการทุจริตไม่อาจเกิดขึ้นได้จริงและโดยที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นในบรรยากาศแห่งการเสแสร้งรับฟังความคิดเห็นในระดับหนึ่งเพื่อให้ดูชอบธรรมแต่ไม่สนใจข้อเสนอแนะที่ให้ยึดหลักสากลและเชื่อมั่นในวิจารณญาณของประชาชน จึงเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายกว่าร่างเดิม มีการสืบทอดอำนาจแบบแยบยลและเพิ่มอำนาจให้องค์กรต่างๆขึ้นมากมายเพื่อครอบงำรัฐบาลที่ถูกออกแบบมาให้อ่อนแอกำหนดให้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งต้องถูกตรวจสอบและรับผิดชอบทุกอย่าง แต่คณะรัฐประหารและองค์กรสืบทอดอำนาจทำอะไรก็ได้ทุกอย่างโดยให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งหมดและเป็นที่สุด ห้ามฟ้องร้ององค์กรที่มาจากการเลือกตั้งต้องดำรงตนอยู่ในหลักนิติธรรม แต่องค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอยู่นอกหลักนิติธรรมได้ที่กล่าวนี้ยังไม่รวมถึงเนื้อหาของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์การต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญที่อาจจะหมกเม็ดอีกมาก

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำลายหลักการอันดีงามที่ประเทศเคยยึดถือ ถอยหลังลงคลอง และยังทำให้ความคิดแบบเผด็จการอำนาจนิยมสามารถกดหัวประชาชนต่อไป ยากที่ประเทศจะกลับคืนสู่สันติสุขได้พรรคเพื่อไทยจึงไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญดังที่ปรากฏนี้ พรรคเพื่อไทยขอเรียนย้ำว่า รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะขาดความต่อเนื่องของนโยบาย ขาดความเชื่อมั่นของต่างชาติ ผลจากการรัฐประหารที่ผ่านมาเป็นที่ปรากฏชัดแล้วว่า สภาพเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน การบริโภคหยุดชะงัก การลงทุนหดหาย การลงทุนภาครัฐขาดประสิทธิภาพ การส่งออกหดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เศรษฐกิจฐานรากตกต่ำ ประชาชนยากลำบากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

พรรคเพื่อไทยหวังว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญและผู้มีอำนาจทั้งหลายจะได้ตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากว่าร่างรัฐธรรมนูญเช่นนี้มีผลบังคับใช้ และควรหาทางแก้ไขเสียเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังคงยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายพอที่จะยอมรับได้ และไม่เป็นต้นตอแห่งวิกฤตการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

รัฐบาลประชาธิปไตยที่เข้มแข็งเท่านั้นที่จะสามารถได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่น และเกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศและชีวิตของพี่น้องประชาชนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image