อดีต สสร. เชื่อ ‘แก้รธน.60’ หนทางอีกยาวไกล ชี้ รัฐบาลส่งคนไม่อยากแก้ เป็น ‘กมธ.’

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า จำเป็นต้องแก้ที่มาตรา 256 ก่อน จึงจะสามารถแก้ที่อื่นได้ เพราะเป็นมาตราที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดไว้ในมาตรา 256 ทำให้แก้ไขเพิ่มเติมไม่ได้
ที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขอาจจะเห็นไม่เหมือนกัน ทางฝ่ายประชาธิปัตย์ยกเอาเป็นประเด็นหาเสียง ซึ่งสุดทายต้องผลักดันให้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ต้องการแก้มาตรา 256 เพียงเพื่อให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ง่ายขึ้น แต่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องการแก้ในลักษณะให้มีการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ตามแนวเดิมของรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2534 ที่ใช้ในขณะนั้น และร่างฉบับใหม่ จึงมีการแก้ในปี 2539 โดย ส.ส.ร.ขณะนั้นเริ่มแก้จากมาตรา 256 เช่นเดียวกัน เพียงแต่ข้อที่แตกต่างคือจุดประสงค์ของการแก้ กล่าวคือ ประชาธิปัตย์อาจจะลดเงื่อนไขบางอย่างลงให้แก้ได้ง่ายขึ้น เช่น ที่จะต้องไปทำประชามติก็อาจจะไม่ต้องทำประชามติ และเน้นแก้เป็นจุดๆ เช่น หากประชาธิปัตย์อยากแก้รัฐธรรมนูญให้เปลี่ยนจาก ส.ว.แต่งตั้งมาเป็น ส.ว.เลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถแก้ได้เพราะมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญเขียนล็อกไว้ ดังนั้นหากจะแก้รัฐธรรมนูญจึงต้องแก้มาตรา 256 ก่อน และผ่านการทำประชามติ ซึ่งกว่าจะผ่านถือว่ายากมาก

“ทางพรรคเพื่อไทยน่าจะมีตุ๊กตาอยู่แล้วว่าจะต้องมี ส.ส.ร.กี่คน มาจากทางไหนบ้าง ซึ่งครั้งนี้เพื่อไทยมีหลายโมเดล ที่คิดว่าน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือ สสร.จะต้องมาจาการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่เหมือน ส.ส.ร.ปี 2540 ซึ่งประชาชนไม่ได้เลือก ผู้สมัครเลือกกันเองและต้องมีวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป โดยเลือกมาจากจังหวัดก่อน เช่น สมัคร 50 คน เลือกเหลือ 10 คน จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเลือกอีกครั้ง คือ วิธีการของ ส.ส.ร.ปี 2540

ทั้งนี้ โมเดลใหม่ก็มีความพยายามที่จะแก้กันมาตั้งแต่สมัยรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 จนกระทั่งในที่สุดถูกดำเนินคดีสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บรรดา ส.ส. และส.ว.ที่เข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้มี ส.ว.ลากตั้ง ถูกดำเนินคดีหลายราย เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้รัฐธรรมนูญแบบนั้นผิด ไม่สามารถแก้ได้ เนื่องจากเป็นการแก้โดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เท่ากับเป็นการไปล้มล้างหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ

กรณีของประชาธิปัตย์ ถ้าไม่เปลี่ยนโครงสร้างอะไรมาก แก้ไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเมื่อแก้มาตรา 256 แล้ว หากมีการพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญควรจะแก้มาตรานี้ด้วยหรือไม่ ก็ไม่ยอมให้แก้อยู่ดีเพราะ ส.ว.ในอดีตมีบทเรียน ถ้าต้องการจะแก้เพื่อเปลี่ยน ส.ว.ชุดปัจจุบันให้มาจากเลือกตั้งทั้งหมดตามรัฐธรรมนูญ ส.ว.ในปัจจุบันก็คงไม่ยอม แต่ถ้าเป็น สสร.คือการล้างไพ่ทั้งหมด ต่างกันตรงนี้ แต่ปัจจุบันคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชุดนี้ มีความขัดแย้งกันมาก หนทางยังอีกไกล กมธ.ชุดนี้เกิดขึ้นเพียงเพื่อศึกษาเท่านั้น และการศึกษาลากยาวได้จนกระทั่งในที่สุดหมดวาระ ต้องเลือกตั้งใหม่ กมธ.ชุดนี้ก็ยกเลิกไปอีก”

Advertisement

นายพนัสกล่าวว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวมองว่าลำบาก เพราะเมื่อเทียบเคียงอดีตกับปัจจุบัน ในยุคนั้นสามารถทำได้ เพราะ 1.เป็นนโยบายของรัฐบาล คุณบรรหาร ศิลปอาชา 2.มีแรงกดดันจากภายนอก จากหลายกลุ่มที่ต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เป็นฉันทามติของสังคมไทย ซึ่งวุฒิสภาสมัยนั้นเป็นสภาแต่งตั้งก็ไม่กล้าฝืน จึงมีธงเขียว คือ ฝ่ายที่สนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญ ที่มีกระทั่งนักธุรกิจ สืบเนื่องมาจากความต้องการให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนซึ่งเป็นเพียงประเด็นเดียวเท่านั้นที่ทำให้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2534 มีความพยายามที่จะแก้ไขตรงนี้ แต่สุดท้ายก็แก้ไม่ได้ คนที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้คนหนึ่งคือ คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่บอกว่าไม่จำเป็นต้องแก้ ตอนนั้น พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ก็รับปากว่าถึงอย่างไรก็ไม่เป็นนายกรัฐมนตรีแน่ เพราะตนเองไม่ได้เป็น ส.ส.แต่ปรากฏว่าในที่สุดก็กลับคำมาเป็นนายกรัฐมนตรี จนเกิดวลีที่โด่งดังมาก “เสียสัตย์เพื่อชาติ” จึงเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬซึ่งถือเป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย มีการเรียกร้องให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ตอนนี้สถานการณ์ทางการเมืองแตกต่าง เป็น 2 ขั้ว แตกกันชนิดที่เรียกว่า เย็บไม่ติด เห็นตรงกันข้ามกันทั้งหมด ไม่ต้องดูอะไรดูเพียงคนที่ฝ่ายรัฐบาลส่งไปอยู่ใน กมธ.ชุดนี้ คนเหล่านี้ไม่ต้องการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะถือว่าดีที่สุดแล้วสำหรับพวกเขา

ในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมาย อดีต สสร. และ อดีต ส.ว.เห็นว่าทำได้อย่างมากที่สุด คือ ให้สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้บ้างก็น่าจะพอใจแล้ว ตามแนวคิดของประชาธิปัตย์ที่ต้องการปลดล็อกมาตรา 256 เพื่อให้สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น ปลดล็อกเพื่อให้สามารถพอแก้ได้ เพราะเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่มีทางแก้ได้หากอีกฝ่ายไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะวุฒิสภาที่ต้องได้รับความเห็นชอบถึง 1 ใน 3 ถ้าปลดล็อกไม่ให้ ส.ว.ชุดนี้มาให้ความเห็นชอบด้วยได้ เพียงเท่านี้ก็เรียกว่าวิเศษที่สุดแล้ว ส่วนเรื่องประชามติ ส่วนตัวมองว่าให้มีหลังจากมี สสร.ก่อน ถึงตอนนั้นค่อยถามว่าประชาชนจะเอารัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image