เปิดแผนสู้วิกฤตภัยแล้ง รับมือได้แค่ไหน!?

เปิดแผนสู้วิกฤตภัยแล้ง รับมือได้แค่ไหน!?

เปิดแผนสู้วิกฤตภัยแล้ง รับมือได้แค่ไหน!?

ดูเหมือนว่าในปี 2563 นี้ประเทศไทยอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งเข้าขั้นวิกฤต เพราะมีสิ่งบอกเหตุล่วงหน้าแล้วว่า ปีนี้จะแล้งหนักและนานกว่าที่ผ่านมาในรอบหลายสิบปีเลยทีเดียว

สิ่งที่ตามมานอกจากจะเกิดสถานการณ์ข้าวยากหมากแพงแล้ว จะก่อให้เกิดปัญหาหลายด้านตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาสังคม เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เมื่อไม่สามารถหารายได้จากการทำเกษตรเหมือนปกติได้แล้ว ย่อมเกิดผลกระทบต่อเนื่องและวงกว้างขึ้นอย่างแน่นอน

เมื่อโฟกัสไปในแต่ละพื้นที่จะพบว่าภัยแล้งเริ่มแผลงฤทธิ์ให้เห็นชัดขึ้นหลายพื้นที่แล้ว เช่น สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคอีสานปีนี้ เริ่มทวีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา อย่างเช่น พื้นที่ในความรับผิดชอบของสำนักชลประทานที่ 6 ได้แก่ จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบบริเวณกว้าง

Advertisement

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และเขื่อนจุฬาภรณ์จังหวัดชัยภูมิ มีน้ำเก็บกักในปริมาณน้อยมาก โดยเขื่อนอุบลรัตน์ปัจจุบัน มีน้ำเหลือ 548.72 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุเต็มที่ 2,431.30 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ จากความจุเก็บกักที่ 163.75 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นข้อมูลเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน มีน้ำเหลืออยู่ 48.22 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ส่วนเขื่อนลำปาวถือเป็นเขื่อนขนาดใหญ่มีน้ำไหลลงเขื่อนมากจากความจุเต็มที่ 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอปล่อยลงไปช่วยเหลือสถานการณ์ภัยแล้งของจังหวัดกาฬสินธุ์ มหาสารคามบางส่วน ร้อยเอ็ด ผ่านลงไปในเขตยโสธร และอุบลราชธานี ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่ 5 จังหวัด มี 69 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักเหลือน้อย ได้สั่งการให้เพิ่มเครื่องสูบที่จังหวัดชัยภูมิ 24 เครื่อง ขอนแก่น 18 เครื่อง และ ร้อยเอ็ด 1 เครื่อง ส่วนฝ่ายปฏิบัติการเครื่องจักรกลและยานพาหนะ นำรถขุดแบ๊กโฮ 1 คัน ขุดร่องชักน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์เข้าสถานีสูบน้ำบ้านโนนสำราญ จ,ขอนแก่น มาเติมในแหล่งน้ำ เพื่อใช้เป็นน้ำดิบผลิตน้ำประปาอุปโภค-บริโภค ภายในหมู่บ้าน เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำเพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ยังจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำลงไปสนับสนุนภารกิจ หากสถานการณ์ภัยแล้งขยายวงกว้างไปถึงฤดูฝนหน้า และขอความร่วมมือเกษตรกรชาวนาหยุดขยายพื้นที่ทำนาปรัง เพราะอาจทำให้ผลผลิตเสียหาย

ส่วนจังหวัดนครราชสีมา พื้นที่ประสบภัยแล้งหลายแห่ง ก็เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น สำรวจปริมาณน้ำใน 4 อ่างกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อ่างกักเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำมูลบน และอ่างเก็บน้ำลำแชะ เหลือปริมาตรน้ำอยู่ประมาณ 30-40% ส่วน 23 อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ก็เหลือปริมาตรน้ำรวมแค่ 20% กว่า ทำให้ปริมาตรน้ำภาพรวมของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เมื่อรวมกับอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เหลือน้ำใช้การได้เพียงไม่ถึง 30% เท่านั้น

ในพื้นที่ภาคอีสานหลายจังหวัดเริ่มเร่งระดมหน่วยงานป้องกันช่วยเหลือ เพราะมีพื้นที่ต้องแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคจำนวนมาก คาดว่าจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดิบสําหรับผลิตน้ำประปาหลายพื้นที่ ภาครัฐต้องเร่งระดมหน่วยงานสูบน้ำไปเก็บกักสำรอง พร้อมทั้งบูรณาการหามาตรการป้องกันแก้ไข และบรรเทาช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน

Advertisement

สําหรับสถานการณ์ภัยแล้งภาคเหนือก็ไม่ได้น้อยไปกว่ากัน

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงแผนบริหารจัดการชลประทานในช่วงฤดูแล้งปี 2563 ของสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ดูแลพื้นที่เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ว่า มีแนวทางส่งน้ำ 4 เรื่อง คือ น้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรมหรืองานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น โดยเฉพาะเขื่อนหลัก คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง มีปริมาณน้ำ 158 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล.ลบ.ม.) คิดเป็น 58% ของความจุอ่าง 265 ล.ลบ.ม. มีแผนส่งน้ำแม่ปิงตอนบน อ.แม่แตง-อ.จอมทองช่วงมกราคม-มิถุนายน ปีหน้า 25 รอบเวร รวม 110 ล.ลบ.ม. เหลือปริมาณน้ำ 30 ล.ลบ.ม. เพื่อรักษาความสมดุลของเขื่อนดังกล่าว

ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำ 74 ล.ลบ.ม. คิดเป็น 28 % ของความจุอ่าง 263 ล.ลบ.ม. มีแผนส่งน้ำช่วงมกราคม-เมษายน เป็นน้ำอุปโภคบริโภค 9 ล้านลบ.ม. น้ำเพื่อการเกษตร 10 ล้านลบ.ม. รวม 19 ล้านลบ.ม. และเหลือน้ำต้นทุน เพื่อเพาะกล้าทำนาปี อีก 44 ล้านลบ.ม. โดยส่งน้ำทำนาปี ปลายกรกฎาคม และเหลือปริมาณน้ำ 14 ล้านลบ.ม. เพื่อรักษาความสมดุลยของเขื่อน ก่อนเข้าสู่ฤดูฝนเพื่อกักเก็บน้ำในปีถัดไป หากพื้นที่นอกชลประทานประสบภัยแล้ว ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือ 88 เครื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนก่อน

ทั้งนี้ ช่วงฤดูแล้ง มีน้ำไหลเข้าเขื่อนแม่งัด เพียงวันละ 120,000 ลบ.ม. แต่ระเหยออก 50,000 ลบ.ม. ส่วนเขื่อนแม่กวงน้ำไหลเข้าและระเหยออกวันละ 80,000 ลบ.ม. ปริมาณเท่ากัน เท่ากับเป็น 0 จึงประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำและเครือข่าย อาทิ กลุ่มเกษตรกร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีพื้นที่ริมแม่น้ำปิง เพื่อรณรงค์และขอความร่วมมือไม่ทำนา หรือปลูกข้าวเพิ่ม รวมทั้งพื้นที่ฤดูแล้ง แต่ส่งน้ำบางส่วนให้กับพืชยืนต้น อาทิ ลำไย มะม่วง ลิ้นจี่ แทน เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวน

“ภาพรวมแหล่งน้ำชลประทานเชียงใหม่ เขื่อนแม่งัดและเขื่อนแม่กวง ยังพอมีน้ำ ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 15 แห่ง มีปริมาณน้ำต่ำกว่า 30% มีอยู่ 5 แห่ง จึงให้กลุ่มผู้ใช้น้ำบริหารจัดการกันเอง พร้อมประสานสำนักงานประมงจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชังลำน้ำปิงที่ไหลผ่านเชียงใหม่-ลำพูน กว่า 200-300 ราย ให้งดเลี้ยงปลาหรือไม่เลี้ยงปลาเพิ่มเนื่องจากแม่น้ำระเหยกว่า 61% ของปริมาณน้ำทั้งหมด ทำให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และอาจเกิดน้ำเน่าเสียได้ ส่วนพื้นที่ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ไม่มีปัญหามากนัก เนื่องจากมีน้ำต้นทุนเพียงพอทำการเกษตรได้” นายเจนศักดิ์กล่าว และว่า ได้ประชุมชี้แจง ทำความเข้าใจกับเครือข่ายผู้ใช้น้ำทุกกลุ่มแล้ว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เพื่อทำการเกษตร ภายใต้ปริมาณน้ำที่มีอย่างจำกัดแล้ว ก่อนวางแผนฤดูเพาะปลูก ปีถัดไป

สําหรับพื้นที่ภาคกลาง ลุ่มเจ้าพระยา โดยเฉพาะ จ.นครสวรรค์ ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายหลักของพื้นที่ภาคกลางจนถึงกรุงเทพฯ สำรวจพบว่ามีแนวโน้มแล้งรุนแรง เห็นได้จากปริมาณน้ำจากเขื่อนหลักลดลงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและน้ำเค็มในเมืองหลวงรุนแรง

นายศุภชัย มโนการ ผอ.โครงการชลประทานนครสวรรค์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์ส่อเค้ารุนแรงกว่าทุกปี เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนในแม่น้ำสายหลักแห้งขอด ปริมาณน้ำในบึงบอระเพ็ดแห้งเห็นทุ่งบึงกว้าง จังหวัดประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แจ้งประชาชนห้ามทำนาปรังโดยเด็ดขาด เพราะห่วงประชาชนจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เพราะเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ปล่อยน้ำมาไม่มาก ล่าสุดนายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ประสานส่วนงานที่เกี่ยวข้องรับมือปัญหาภัยแล้ง โดยสั่งการให้เตรียมพร้อมเรื่องน้ำในการบริโภค อุปโภคเป็นหลัก เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนเรื่องนี้ จึงตั้งคณะกรรมการมาบริหารน้ำในสองภาคส่วน ได้แก่ จัดการน้ำในแม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ลุ่มเจ้าพระยา และบริหารจัดการน้ำในบึงบอระเพ็ด

“ขณะนี้ปริมาณน้ำในบึงบอระเพ็ดสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ ไม่เกิน 2-3 เดือนนี้ เพราะปริมาณน้ำในบึงบอระเพ็ดหายไปวันละหลายล้านลูกบาศก์เมตร จึงฝากเตือนไปยังประชาชนที่อาศัยต้นน้ำ ปลายน้ำ ต้องร่วมมือกันประหยัด ช่วยกันให้แก้ปัญหาให้ผ่านภัยแล้งปีนี้ไปให้ได้ และปัญหาที่รุนแรงตามมา คือ น้ำเค็มหนุนมายังกทม. จำเป็นต้องปล่อยน้ำจากภาคเหนือไปรักษาพื้นที่เพื่อไล่น้ำเค็มใน กทม.ด้วย รวมทั้งต้องปล่อยน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ ผลิตประปาด้วย เพราะหากน้ำต้นทุนภาคเหนือแห้งเร็วอย่างขณะนี้ อนาคตปริมาณน้ำเค็มจะรุนแรงใน กทม.จะเจอปัญหาภัยแล้งหนักกว่าทุกครั้ง และรุนแรงกว่าภัยแล้ง ประชาชนต้องช่วยกันประหยัดน้ำวางแผนการใช้น้ำในหน้าแล้งนี้อย่างเต็มกำลัง”

ขณะที่ นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดที่เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญในการป้อนน้ำลงสู่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ได้เรียกประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จังหวัดนครสวรรค์ ปี 2562-2563 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ในปีนี้คาดการณ์ว่าสถานการณ์ความแห้งแล้งจะยาวนานกว่าปีที่ผ่านมา ผู้ว่าฯให้นโยบายว่า ต้องการแก้ไขปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ กำหนดแนวทางในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อการบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภคให้สามารถมีน้ำใช้ไปได้จนถึงฤดูฝนปีหน้า คณะกรรมการและเลขานุการคณะทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จังหวัดนครสวรรค์ เสนอข้อมูลเพื่อการพิจารณาประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากภัยแล้ง (ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 2562) คาดว่ามี 6 อำเภอที่อาจประกาศภัยแล้ง คือ ไพศาลี ท่าตะโก พยุหะคีรี โกรกพระ ตากฟ้า และ ตาคลี นอกจากนั้นขอความร่วมมือประชาชน งดทำนาปรัง ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกข้าว ปลูกพืชไร่และปลูกพืชผัก รวมพื้นที่กว่า 300,000 ไร่ จะต้องมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ให้สามารถแก้ปัญหา และขอให้เกษตรกรศึกษาข้อมูลการเพาะปลูกพืช การเลี้ยงปลาในกระชัง และบ่อดิน เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงเดือนเมษายน 2563

นายอรรถพรกล่าวว่า ในด้านการให้ความช่วยเหลือ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนเผชิญเหตุการแก้ปัญหาภัยแล้ง และติดตามเฝ้าระวังไม่ให้มีการสูบน้ำจากแม่น้ำในเขตจังหวัดนครสวรรค์และบึงบอระเพ็ดเด็ดขาด ในช่วงฤดูแล้งนี้ ให้ใช้น้ำในบึงบอระเพ็ดเพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น ส่วน 6 อำเภอที่มีความเสี่ยงเกิดภัยแล้งมากกว่าที่อื่นๆ ให้ใช้น้ำบาดาลแก้ปัญหา โดยให้ขออนุญาตขุดบ่อบาดาล เสริมน้ำอุปโภคบริโภค ให้ประชาชน และจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาภัยแล้ง แนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำให้ประชาชน รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว 6 ชุด เฝ้าติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง หากมีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเหมาะสมจะปฏิบัติการบินทันที

สำหรับมาตรการการรับมือของรัฐบาลกับปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซากไม่เฉพาะภัยแล้ง แต่ยังรวมถึงน้ำท่วมอีกด้วย ยังดูเหมือนว่าเน้นไปทางการสร้างสิ่งก่อสร้าง และการลงทุนซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มากกว่าเน้นไปที่ปัญหาการจัดการน้ำมากน้ำน้อยให้รักษาสมดุลไว้ได้

อย่างล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา เพิ่งมีมติเห็นชอบ 4 เรื่อง 1.เป็นแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีของ 2 หน่วยงานคือ แผนปฏิบัติการด้านการจัดการน้ำเสียชุมชนระยะ 20 ปี ขององค์การจัดการน้ำเสีย มีแผนปฏิบัติการปี 2564-2580 ส่งเสริมให้จัดสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชนในเขตพื้นที่เทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ รวมระบบบำบัดน้ำเสียที่จะก่อสร้าง 780 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 1.70 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน (ลบ.ม./วัน) และโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2562 และปี 2563 ของการประปาส่วนภูมิภาคเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการผลิต ระบบส่งน้ำ และระบบจ่ายน้ำประปาในพื้นที่ประสบปัญหา ให้สามารถบริการน้ำประปาแก่ประชาชนได้เพิ่มขึ้นอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างพอเพียง รวม 14 โครงการ สามารถเพิ่มกำลังผลิตอีก 513,960 ลบ.ม./วัน และสามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มอีก 453,583 ราย

2.แผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ 3 โครงการ โดยมี โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี2563-2580) โดย สทนช.ได้ศึกษาทบทวนความเพียงพอของการพัฒนาและจัดทำแผนหลักเพื่อรองรับการพัฒนาในระยะ 10 ปีและ 20 ปี พบว่าความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นจากปี 2560-2580 รวม 670 ล้าน ลบ.ม./ปี

แผนการดำเนินการประกอบด้วย แผนงานพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน ปี 2563-2570 รวม 38 โครงการ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 872.19 ล้าน ลบ.ม. แผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำปี 2563-2580 จำนวน 9 โครงการ/มาตรการ แผนการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยปี 2563-2580 จำนวน 25 โครงการ แผนการจัดการคุณภาพน้ำปี 2563-2580 จำนวน 33 โครงการ และมาตรการอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำปี 2563-2580 จำนวน 3 โครงการ แผนหลักการพัฒนาหนองหาร จ.สกลนคร มีหน่วยงานรับผิดชอบ 12 หน่วยงาน รวม 65 โครงการครอบคลุมการพัฒนา 10 ปี (พ.ศ.2563-2572) กรอบวงเงิน 7,445 ล้านบาท มีแผนงานระยะเร่งด่วนปี 63-65 จำนวน 34 โครงการ กรอบวงเงิน 1,842 ล้านบาท

3.พิจารณากรอบแนวทางเพื่อการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สอยทรัพยากรน้ำสาธารณะของหน่วยงานรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 4.ร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรได้แสดงความห่วงใยสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562/2563 พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบและปฏิบัติตามแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ สทนช.ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องในการเฝ้าติดตามและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง จากข้อมูลสถานการณ์น้ำวันที่ 18 ธันวาคม 2562 คาดว่ามีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 43 จังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาไว้พร้อมแล้ว ได้จัดหาแหล่งน้ำสำรองและขุดเจาะบ่อบาดาล 61 สาขา 31 จังหวัด และจัดหาแหล่งน้ำสำรองสำหรับประปาหมู่บ้านนอกเขต กปภ. ขุดเจาะบ่อบาดาล 524 แห่ง 32 จังหวัด

สำหรับพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรนอกเขตชลประทาน คาดว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงรุนแรงกว่า 30 จังหวัด 0.37 ล้านไร่ กรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเตรียมแผนรับมือ เร่งจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนทั้งการขุดบ่อบาดาลและหาแหล่งน้ำผิวดิน เพื่อลดความรุนแรงของไม้ผลที่อาจยืนต้นตายได้ นอกจากนี้ ยังเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือทั้งประเทศรวม 4,192 เครื่องและจัดเจ้าหน้าที่พร้อมให้การช่วยเหลือได้ทันทีที่ประชาชนร้องขอ

ส่วนสถานการณ์แม่น้ำโขงที่ลดลงเตรียมเสนอขอความร่วมมือจากสาธารณรัฐประชาชนจีนในการขอน้ำเพิ่มในฤดูแล้งเป็นกรณีพิเศษและให้วางมาตรการแม่น้ำโขงให้ชัดเจนเพื่อการบริหารจัดการน้ำในอนาคตด้วย โดยขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อมีน้ำใช้อย่างพอเพียงตลอดช่วงแล้งนี้

มารอดูกันว่าแผนต่างๆ ของรัฐบาลดังกล่าว จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนหลายสิบล้านคนที่จะต้องเผชิญวิกฤตภัยแล้งในปีนี้ ได้แค่ไหน!?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image