09.00 INDEX กรอบเวลา อภิปราย ไม่ไว้วางใจ คำถามถามตรง ชวน ประชาธิปัตย์

แนวคิดในการตีกรอบญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจให้เหลือเพียง 5 เดือนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนจะเป็นการโยนหินถามทาง

แม้เป้าหมายแรก เป้าหมายใหญ่ จะมุ่งไปยัง 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านอันเป็นเจ้าของญัตติ

แต่แท้จริงแล้วเป็นการถามไปยัง “ประธาน”

ไม่ว่าจะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นประธานในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินการตามญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ

Advertisement

เพราะในที่สุดแล้วคำวินิจฉัยชี้ขาดของประธานสภาผู้แทนราษฎร คือบรรทัดฐานสำคัญ

นี่คือโจทย์ที่เสนอโดยตรงไปยัง นายชวน หลีกภัย

หากมองจากภูมิหลังของ นายชวน หลีกภัย ที่อยู่ในระบอบรัฐสภามาตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2512 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511

Advertisement

นี่มิได้เป็นเรื่องยากเย็นอะไรในการวินิจฉัย

เพราะอย่างน้อย นายชวน หลีกภัย ก็มีประสบการณ์ทั้งในด้านที่ เป็นฝ่ายค้าน ในด้านที่เป็นรัฐบาล ผ่านบทบาททั้งถูกอภิปรายและเป็น ผู้อภิปรายมาแล้ว

โดยเฉพาะในห้วงที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ นายบรรหาร ศิลปอาชา ในปี 2540 ก็น่าจะเป็นอุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดี

เพราะเนื้อหาของการอภิปรายเน้นไปยัง “สูติบัตร” ของ นายบรรหาร ศิลปอาชา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2475 อันเป็นปมที่ฝังจำอยู่ใน ตระกูลศิลปอาชาอย่างลึกซึ้ง

บรรทัดฐานนี้จะใช้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้หรือไม่

ความละเอียดอ่อนอย่างเป็นพิเศษจากญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจในเดือนมกราคม 2563 ก็คือ

นายชวน หลีกภัย อยู่ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร

ฐานพิงอย่างสำคัญของ นายชวน หลีกภัย คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปัตย์เป็น 1 ใน 18 พรรคร่วมรัฐบาล เป็นเสาค้ำให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คำถามนี้จึงสร้างความหนักใจให้กับ นายชวน หลีกภัย สร้างความหนักใจให้กับพรรคประชาธิปัตย์

เป็นทาง 2 แพร่งที่ นายชวน หลีกภัย จำเป็นต้องเลือกตัดสินใจ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image