ช่องทาง แมวลอด : ญัตติ อภิปราย ไม่ไว้วางใจ : กรอบ 5 เดือนรัฐบาล

เหมือนกับบทสรุปที่ว่า “เพิ่งทำมา 5 เดือนเอง รัฐบาลนี้ 5 เดือนจำไว้ ที่แล้วก็รัฐบาลที่แล้ว รัฐบาลนี้ 5 เดือน”

เมื่อประสานเข้ากับ “ถ้าการอภิปรายอยู่ในช่วง 5 เดือนของรัฐบาลชุดนี้ก็โอเค”

จะเป็นบทสรุปและความเห็นอันเป็นการสร้าง “กรอบ” ให้กับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ

สะท้อนความมากด้วย “เขี้ยว” และ “คม” ทางการเมือง

Advertisement

เป็นคำถามที่มัดมือชกให้กับ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่าการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจต้องแยกระหว่าง “ปัจจุบัน” กับ “อดีต”

บนพื้นฐานที่ว่า รัฐบาลนี้ก็รัฐบาลนี้ รัฐบาลที่แล้วก็รัฐบาลที่แล้ว

กระนั้น ในความเป็นจริงบทสรุปนี้ก็จะต้องตกไปอยู่บนบ่าของ นายชวน หลีกภัย ไม่ว่าในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร

Advertisement

ไม่ว่าในฐานะประธานรัฐสภาก็ตาม

จำเป็นต้อง “ตีความ” และกำหนดเป็น “บรรทัดฐาน”

หากยึดกุมหลักเกณฑ์ที่ว่าญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจมีกรอบอยู่เพียง 5 เดือนนับแต่หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562

ก็ไม่มีความจำเป็นต้องยื่น “ญัตติ”

แต่ในความเป็นจริง มีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 5 ปีก่อนกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในห้วงนับแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 หรือไม่

เหมือนกับจะเป็นคนละส่วน

เพราะรากฐานที่มาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบัน กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในห้วงหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 แตกต่างกัน

1 มาจากรัฐประหาร 1 มาจากการเลือกตั้ง

ถามว่าแล้วระหว่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 มีความต่อเนื่องกันหรือไม่

ตอบได้เลยว่า ต่อเนื่องและสัมพันธ์กัน

ยิ่งกว่านั้น ในฐานะที่ นายชวน หลีกภัย มีประสบการณ์ทางการเมืองมาตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2512 ย่อมมีบทบาทร่วมกับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจมาแล้วหลายรูปแบบ

ทั้งรูปแบบของรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร

ทั้งรูปแบบของรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ทั้งรูปแบบของรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา ทั้งรูปแบบของรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร

ยิ่งกว่านั้น ยังเคยอภิปรายรัฐบาลของคนอื่น

ดังในกรณีของรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา ที่ขุนพลนักพูดของพรรคประชาธิปัตย์ได้ประสานและร่วมมือกันอภิปรายอย่างคึกคัก

ขุดตั้งแต่ “สูติบัตร” เมื่อปี 2475 ขึ้นมา

หากกรณีของ นายบรรหาร ศิลปอาชา โยงยาวไปตั้งแต่เป็น “ทารก” แล้วกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะละเว้นได้อย่างไร

การย้อนไปยังก่อนและหลังรัฐประหาร 2557 จึงมีความชอบธรรม

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะรับเอาข้อเสนอของ “เนติบริกร” คนใดจึงได้เอามาแถลงด้วยความมั่นอกมั่นใจ

แต่ก็เชื่อได้ว่าไม่น่าจะเป็นของ “ศรีธนญชัยรอดช่อง”

เพราะความรอบรู้ทางกฎหมาย เมื่อประสานกับความรอบรู้ในทางการเมืองของ นายวิษณุ เครืองาม เหนือชั้นกว่านี้หลายเท่า

ข้อเสนออย่างนี้จึงน่าจะมาจากระดับรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image