วิเคราะห์ : ปีใหม่สัญญาณลบ จับตา รบ.‘บิ๊กตู่’ บริหารความเสี่ยง

วิเคราะห์ : ปีใหม่สัญญาณลบ จับตา รบ.‘บิ๊กตู่’ บริหารความเสี่ยง

วิเคราะห์ : ปีใหม่สัญญาณลบ จับตา รบ.‘บิ๊กตู่’ บริหารความเสี่ยง

เริ่มต้นปีใหม่ 2563 แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเลือกตั้งจะมีวาระไม่ครบปี แต่ดูเหมือนสังคมไม่ได้รู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้เพิ่งบริหารประเทศ

สังคมรู้สึกว่า พล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศมาตั้งแต่ปี 2557 หลังการรัฐประหาร

จึงไม่แปลกที่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์โยนคำถามว่าเบื่อไหม คำตอบที่ย้อนกลับมาคือ “เบื่อ”

Advertisement

และไม่แปลกที่ความเชื่อมั่นในตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงลดวูบลง

ลดลงจนกระทั่งโพลระบุว่า ได้รับความนิยมต่ำกว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

เช่นเดียวกับฉายารัฐบาลที่สื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาลตั้งไว้ให้

Advertisement

ทุกอย่างเป็นฉายาที่ส่งสัญญาณลบต่อรัฐบาลทั้งสิ้น

สําหรับปีใหม่ หากมองผ่านเนื้อหาการวิเคราะห์ของ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ แล้วต้องยอมรับว่าหนักหนาสาหัส

นายเทพไทระบุว่า ภายในปี 63 น่าจะเกิดจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่สั่งสมกันมาจนมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 10 ประการ ประกอบด้วยการอภิปรายพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 63 ในวาระ 2 และวาระ 3 ในวันที่ 8-9 มกราคม

การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแบบรายบุคคลของพรรคฝ่ายค้าน ในเดือนกุมภาพันธ์ การปรับคณะรัฐมนตรี ที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อลดกระแส หรืออาจปรับ ครม.หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว

ยังมีท่าที และความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเล็กที่รวมตัวกัน ผลกระทบจากการพิจารณาพิพากษาคดียุบพรรคอนาคตใหม่ และคดีอื่นๆ ที่จะเกิดกลุ่มงูเห่า หรือการช้อนซื้อตัว ส.ส.

การนัดชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือแฟลชม็อบ การเคลื่อนไหวของนายธนาธรกับกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ข้อสรุปภายใน 180 วัน ว่าจะการแก้ไขในประเด็นใดบ้าง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาปากท้อง ราคาพืชผล การเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจในกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกษียณอายุราชการ

และ 10.การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้านครั้งที่ 2 ในรอบหนึ่งปี

เท่ากับว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในปี 2563 นี้ นอกจากจะต้องเผชิญหน้ากับความเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วยังต้องประคับประคองอารมณ์ของสังคมไทยให้ดีอีกด้วย

ในด้านการเมือง แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ทำให้รัฐบาลมีเกราะป้องกันหลากหลาย โดยเฉพาะการบ่อนเซาะฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

แต่เมื่อถึงที่สุดแล้วก็ใช่ว่า ปัญหาทางการเมืองจะหมดไป

แม้เมื่อปี 2562 ปัญหาทางการเมืองจะเป็นปัญหา “เสียงปริ่มน้ำ” แต่เมื่อเกิดปัญหางูเห่า และกำลังจะมีเรื่องการแตกขั้วละลายพรรคเกิดขึ้น

กลับกลายเป็นว่าปัญหาใหม่กำลังจะเกิดตามมา โดยเฉพาะหากมีการย้ายพรรคเข้ามาสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลมากขึ้น การต่อรองเรื่องสัดส่วนโควต้าย่อมเกิดขึ้นอีกครั้ง

การต่อรองเรื่องตำแหน่งย่อมมีผลกระทบต่อความรู้สึกของ “คนเก่า” และ “คนใหม่” อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

ถ้าเป็นเช่นนี้ปัญหาการเมืองจะเปลี่ยนพลิกจากเดิมที่เกิดขึ้นจากฝ่ายค้าน กลายมาเป็นการปะทุขึ้นภายในพรรคร่วมรัฐบาล หรือภายในพรรคพลังประชารัฐ เองก็เป็นได้

นอกจากปัญหาทางการเมืองที่รัฐบาลต้องระวังแล้ว ยังมีปัญหาอารมณ์ของสังคมที่รัฐบาลต้องเอาใจใส่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

อารมณ์ทางสังคมนี้สะท้อนออกมาจากอาการ “เบื่อ” ที่แสดงออกมา

หากหงุดหงิดกับอาการดังกล่าวของคนในสังคม ย่อมไม่ใช่ทางแก้ไข แต่ถ้าพิจารณาถึงสาเหตุของอาการ อาจจะพอรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้เพราะสังคมไทยภายใต้เศรษฐกิจที่ตกอยู่ในอาการซึมมาเป็นปี โดยไม่มีความหวังใดๆ ว่าเศรษฐกิจไทยจะรุ่งโรจน์

ขณะเดียวกันปัญหาเก่าปัญหาเดิมที่เคยมีความหวังว่าจะได้รับการแก้ไขก็ไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย

ปัญหาทุจริต ปัญหาการศึกษา ปัญหาการสาธารณสุข ปัญหาอาชญากรรม และอื่นๆ

ทุกอย่างยังคงมี และเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้น

ปัญหาอารมณ์สังคม จึงเป็น “การบ้าน” ของรัฐบาลที่ต้องแก้ให้ได้

ดังนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่เดิมอาจจะไม่มีเครื่องมือมากนักในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะไม่มีงบประมาณจำนวนมากๆ ที่จะดำเนินการพัฒนาประเทศ

แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เป็นต้นไป งบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท มีโอกาสนำออกมาใช้

ในจำนวนนี้มีงบประมาณกว่า 6 แสนล้านบาท ที่ใช้สำหรับการลงทุน

ด้วยวงเงินงบประมาณ และระยะเวลาในการเตรียมตัวที่นานพอสมควร รัฐบาลจึงมีโอกาสที่จะรับมือกับ “สัญญาณลบ” ที่สดับรับฟังมาตั้งแต่ต้นปีได้

ในทางการเมือง รัฐบาลต้องเพิ่มความชอบธรรม ด้วยการบริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาลเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

ในด้านอารมณ์สังคม รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และแสดงผลงานด้านต่างๆ ในทางสร้างสรรค์

ขับเน้นให้ผลงานที่ปรากฏออกมาโดดเด่น แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ตรงจุด

กระทั่งเรียกศรัทธาความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้

ทุกอย่าง ทุกประการ ล้วนขึ้นอยู่กับฝีมือของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี

แม้เริ่มต้นปีสัญญาณทางการเมืองและเศรษฐกิจจะเป็นลบ แต่ถ้ารัฐบาลมีฝีมือ สัญญาณดังกล่าวจะกลายเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะสร้างผลงาน

ยกเว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ที่ส่งสัญญาณมาให้ทราบแต่เนิ่นๆ ไม่ได้

ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องคารวะรับผลอันเกิดขึ้นจากปัญหา

ทั้งปัญหาการเมือง และปัญหาอารมณ์ของสังคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image