ที่เห็นและเป็นไป : ราคา‘ประชาชน’ โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ที่เห็นและเป็นไป : ราคา‘ประชาชน’ : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

เริ่มต้นปีใหม่ 2563 หากเอาปฏิทินการเมืองเป็นตัวตั้งในการวิเคราะห์สถานการณ์ของประเทศ จะดูคล้ายกับว่าจะเข้มข้นตั้งแต่ต้นปี

วันที่ 8-10 มกราคม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ผ่านวาระรับหลักการไปแล้ว จะกลับเข้าสภาเพื่อพิจารณาวาระ 2-3 ซึ่งเรื่องราวของงบกองทัพจะเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงด้วยความเข้มข้น และดูจะอ่อนไหวต่ออารมณ์ทางการเมือง

วันที่ 12 มกราคม จะมีกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่ความเคลื่อนไหวไม่ได้มีเฉพาะที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่จะกระจายไปในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศด้วย ดูเหมือนจะอ่อนไหวต่อการจุดติดของกระแสต่อต้านรัฐบาล

Advertisement

วันที่ 13-14 มกราคม ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี และคาดว่าจะบรรจุเข้าเป็นวาระในสภาปลายเดือนมกราคม

ขณะที่วันที่ 21 มกราคม ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดชี้ขาดชะตากรรมของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งอ่อนไหวต่อกระแสประชาชนอีกเรื่องหนึ่ง

ทุกเรื่องที่กล่าวมาคล้ายจะส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลหนักหน่วงไม่น้อย

แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไปถึงสภาพความเป็นจริงแล้ว เป็นความห่วงกังวลที่มองจากเงื่อนไขและปัจจัยแบบเก่าๆ โดยเฉพาะมุมคิดที่เชื่อกันว่า “ไม่ว่าจะมีอำนาจมากมายล้นฟ้าแค่ไหน หากฝืนกับกระแสประชาชนแล้วย่อมอยู่ได้ยาก”

อันเป็นมุมมองที่ยังเชื่อต่อ “อำนาจประชาชน” ว่ามีอิทธิฤทธิ์พอจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้

เป็นการมองในมุมเก่า

ถึงวันนี้แรงกดดันจากกระแสประชาชนไม่มีพลังพอที่จะทำให้ต้องยอมเปลี่ยนแปลงอะไรอีกแล้ว

โครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ สร้างเกราะป้องกันอำนาจรัฐไว้อย่างเข้มแข็ง ด้วยกลไกที่วางไว้อย่างแข็งแกร่งละเอียดในทุกมุมของอำนาจ โครงสร้างที่ออกแบบและทดลองใช้มา 5 ปีก่อนเลือกตั้ง ถึงวันนี้พิสูจน์แล้วว่าแกร่งพอต้านแรงกดดันจากกระแสได้สบายๆ

“อำนาจประชาชน” ไม่มีความหมายอะไร

เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้จะพูดถึงงบประมาณกองทัพ แต่ที่สุดแล้ว พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีจะผ่านฉลุย

เช่นเดียวกับ “กิจกรรมวิ่งไล่ลุง” ที่การดำเนินการจะไม่สะดวกนัก เพราะต้องฝ่าด่านเจ้าหน้าที่อย่างเข้ม แม้จะจัดได้ก็เป็นแค่ไฟไหม้ฟาง ร้อนอยู่วูบเดียวแล้วจางหายไป

การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เช่นกัน ปล่อยให้พูดให้โต้ตอบกันไป ดุเดือดบ้างเป็นธรรมดา แต่ที่สุดแล้วเกมในสภาจะควบคุมได้โดยฝ่ายรัฐบาลอยู่ดี ไม่น่าจะมีอะไรที่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้

กระทั่ง “การยุบพรรคอนาคตใหม่” หากเกิดขึ้น อาจจะมีแรงสะเทือนจากความอึดอัดของผู้คนอยู่บ้าง แต่ที่สุดแล้วผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น มากกว่าการปะทะกันทางความคิด ที่แค่ปล่อยไปก็จบ

หรือกระทั่งประเมินอย่างเข้าข้าง “อำนาจประชาชน” อย่างที่สุด แต่อย่างมากก็จะยังแค่ทำให้รัฐบาลต้องเสียเวลาไปบ้างเท่านั้น

โครงสร้างและกลไกที่ถูกออกแบบและจัดวางไว้อย่างเชื่อมั่นได้ เป็นเกราะป้องกันรัฐบาลไม่ให้เกิดผลสะเทือนใดๆ

ท่าทีของคนในรัฐบาลจะเป็นสิ่งที่เรียกร้องความสนใจ ทำให้เห็นว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่เข้าท่า

แต่ท่าทีนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง ขณะที่อีกเรื่องหนึ่งที่คนในรัฐบาลทำอย่างเงียบๆ แต่เอาเป็นเอาตาย ไม่ยอมให้ “เสียของ” คือการรุกเข้าไปยึดกุมความนิยมจากประชาชน

สารพัดโครงการที่พรรคการเมืองในอดีตพิสูจน์แล้วว่า ทำให้สามารถยึดเสียงสนับสนุนจากประชาชนได้ ถูกรัฐบาลนี้หยิบมาจัดการสานต่อในชื่อใหม่ที่ให้ประชาชนจดจำ

โดยไม่สนว่าจะถูกกล่าวหาว่าเลียนแบบหรือไม่

เช่นเดียวกับความพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาความได้เปรียบเชิงกลไกอำนาจไว้

ทุกอย่างเป็นไปเพื่อความมั่นใจว่า “ไม่เสียของ” ไม่ว่าจะเมื่อใด

สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญที่ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษานั้น

ไม่เพียงไม่สามารถแก้ไขได้ในจุดที่จะสร้างผลสะเทือนต่อความมั่นใจในอำนาจ แต่รัฐธรรมนูญอาจจะถูกแก้ไขในมุมที่ฝ่ายคุมอำนาจเห็นว่าเป็นจุดอ่อนทำให้ทำงานยาก หรือต้องมีต้นทุนในการบริหารจัดการสูง ไม่เป็นผลดีต่อการสืบทอดในอนาคต

อำนาจที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงต่างหาก ที่จะถูกทำให้เกิดขึ้น

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image