สถานีคิดเลขที่ 12 : หลบแค้น : โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

หลังจากพิธีศพ นายพล สไลมานี ที่ถูกสหรัฐอเมริกาสังหาร สิ้นสุดลงด้วย
การฝังร่างเมื่อวันที่ 7 ม.ค. ช่วงเวลาถัดจากนี้ไปประชาคมโลกต่างระทึกว่า อิหร่านจะเริ่มล้างแค้นอเมริกาตามที่ประกาศไว้อย่างไร

การล้างแค้นเป็นพฤติกรรมหนึ่งของสังคมมนุษย์ มาจากสภาพจิตใจและความคิดที่เจ็บปวดรวดร้าวและทนอยู่กับสภาพนั้นไม่ได้ จึงพยายามหาทางออกด้วยการทำร้ายผู้ที่สร้างความเจ็บปวดด้วยความรุนแรง

แต่การลดแค้น หรือการให้อภัย เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของมนุษย์เช่นกัน คำสอนในหลายๆ ศาสนา รวมถึงพุทธ คริสต์ อิสลาม ล้วนระบุถึงการให้อภัยว่าเป็นทางเลือกที่ประเสริฐ

สำหรับสถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน เป็นเรื่องที่น่าวิตกว่าจะจบลงไม่ง่าย หากอีกฝ่ายรู้สึกว่าถูกกระทำซ้ำๆ จนให้อภัยยาก

Advertisement

ศึกล้างแค้นระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงเอาชีวิตกันจะกินเวลายาวนาน และเป็นวงจรที่ไม่มีที่สิ้นสุด

ไม่เพียงทหารต้องหลั่งเลือด ประชาชนทั่วไปยังต้องเสียน้ำตาด้วย และผู้แก้แค้นก็ใช่ว่าจะอยู่อย่างเป็นสุขได้

สหรัฐเองมีตัวอย่างของการล้างแค้น (แม้ไม่แน่ใจว่าใช่การแก้แค้นล้วนๆ หรือไม่) จากการยกทัพไปอัฟกานิสถาน ปราบปรามอัลไคด้าเพื่อล้างแค้น โอซามา บิน ลาเดน ที่ส่งหน่วยพลีชีพจี้เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดในนิวยอร์ก ตึกเพนตากอน ที่กรุงวอชิงตัน และอีกลำตกก่อนชนเป้าหมาย

เหยื่อตึกเวิลด์เทรดเสียชีวิตไปกว่า 3,000 ราย และหลังสหรัฐทำสงครามล้างแค้น ทหารพันธมิตรเสียชีวิตไป 3,562 ราย ในจำนวนนี้เป็นสหรัฐ 2,420 ราย ส่วนทหารของอัฟกานิสถานที่ร่วมมือกับสหรัฐ เสียชีวิตเกิน 62,000 ราย พลเรือนเสียชีวิตอีก 38,480 ราย

จากนั้นอีกสองปี วันดีคืนดี สหรัฐยกทัพไปโค่น ซัดดัม ฮุสเซน โดยไม่แน่ชัดว่าแค้นที่ถูกหักหลังหรืออะไร จนอิรักเข้าสู่ภาวะระส่ำระสายและบอบช้ำนับตั้งแต่นั้น

การเปลี่ยนมืออำนาจรัฐบาลจากนิกายสุหนี่ในยุคซัดดัม มาเป็นนิกายชีอะห์ในยุคปัจจุบัน ทำให้อิหร่านมีอิทธิพลในอิรักมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อปี 2557 ที่กองกำลังรัฐอิสลาม หรือไอเอส ก่อตัวขึ้นมาคุกคามยึดดินแดนทั้งในอิรักและซีเรีย จนชาวบ้านอยู่ไม่เป็นสุข

เมื่ออิหร่านส่งกองกำลังไปสู้กับไอเอสในอิรัก ซึ่ง นายพล สุไลมานี มีบทบาทสำคัญดังกล่าวในฐานะผู้วางแผนและผู้บัญชาการรบ บทวิเคราะห์หลายๆ ชิ้นเห็นตรงกันว่านายพลท่านนี้คงจะเป็นหนามตำกรงเล็บพญาอินทรีมานานแล้วตั้งแต่

สหรัฐยกทัพบุกอิรัก ปี 2546 เมื่อมีเหตุการณ์ผู้ประท้วงบุกเผาสถานทูตสหรัฐในอิรัก แม้ไม่ได้ทำใครตาย แต่เปิดช่องให้สหรัฐใช้กำจัดทิ้งในที่สุด
สหรัฐน่าจะประเมินความแค้นหลังเหตุการณ์นี้ไว้แล้ว และอาจรู้ด้วยว่า ประเทศที่สามเสี่ยงถูกล้างแค้นยิ่งกว่าคนในอเมริกา เพราะอาจมีระบบรักษาความปลอดภัยน้อยกว่า และระวังตัวน้อยกว่า

ฉะนั้นประเทศที่คุยอวดว่าใกล้ชิดสหรัฐจนรู้สัญญาณล่วงหน้าว่าสหรัฐจะถล่มสังหารนายพล สุไลมานี ควรต้องหลบความแค้นให้ดีๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image