สุรชาติ บำรุงสุข : ฮันนีมูนจบ ระฆังเริ่มดังแล้ว “ผมเชื่อรบ.อยู่ไม่ครบ 12 ยก”

ผ่านไปอีกปีสำหรับการเมืองปี 2562 เป็นอีกปีที่มีการเปลี่ยนผ่านสำคัญ เป็นการยุติลงของยุคคสช.ที่ครองอำนาจต่อเนื่องกันมานับตั้งแต่ปี พ.ศ.2557

ดุลอำนาจทางการเมืองของแต่ละฝ่ายต่างยังคงแสดงกำลังอำนาจอย่างต่อเนื่อง แม้ฝ่ายสืบทอดอำนาจจะยังคงสามารถยืนหยัดครองอำนาจต่อได้ แต่ก็ถูกท้าทายอย่างฝ่ายตรงข้ามไม่น้อย เพราะถูกบีบให้ต้องกลับมาสู้ในเกมประชาธิปไตยมากขึ้น

เป็นโอกาสอันดีให้มติชน เข้าไปคุยกับ  ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการความมั่นคง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  ให้วิเคราะห์ภาพการเมือง 2563 ตลอดปี ว่ามีอะไรน่าห่วง วิกฤตอะไรที่อาจจะเกิดขึ้น

– การเมืองหลังเลือกตั้งใหญ่จนถึงปัจจุบัน มองการเมืองไทย มีอะไรดีขึ้น อะไรที่แย่ลง

Advertisement

คิดว่าหลังเลือกตั้งถ้าจะใช้ภาษาตรงๆคือการสืบทอดอำนาจ เพราะรูปแบบที่เกิดมันเปลี่ยนจากรัฐบาลทหาร เป็นรัฐบาลทหารที่มาจากการเลือกตั้ง เราเห็นตัวผู้นำทหาร เราเห็นนโยบายหลักๆ มันปรากฏสืบเนื่องกัน วิธีคิดทางรัฐศาสตร์จึงตอบได้อย่างเดียวว่านี่คือผลผลิตจากรัฐบาลเดิม ฉะนั้นรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การบริหารเดิมที่จริงไม่มีอะไรต่าง ความต่างมีอย่างเดียวคือมันมีสภา พอที่จะทำให้คนมีความเห็นต่าง พอที่จะส่งเสียงได้บ้าง จากเดิมที่คนเห็นต่างพูดไม่ได้เลย ถ้าถามว่าข้อดีหลังเลือกตั้งมีอะไรบ้าง ผมเห็นข้อเดียว คือพอที่จะมีเสรีภาพในการพูดและแสดงออกได้ แต่ลักษณะการสืบทอดอำนาจทำให้ไม่เห็นแนวทางการแก้ปัญหา

ผมสรุปเหตุการณ์ในปี 62 และการเข้าสู่ปี 2563 ด้วย “ร” 6 ตัว 1.รัฐบาลร่อแร่ 2.เศรษฐกิจร่วงโรย 3. ทุนใหญ่รุ่งโรจน์ 4. กองทัพรุ่งริ่ง 5. การต่างประเทศร้างรา 6.ชาวประชาร่องแร่ง

ผมคิดว่าภาพที่เห็นชัดในปี 2563 คืออาการร่อแร่ของรัฐบาลจะชัดขึ้นมาก พูดกันในภาษาสุภาพ ถ้าจะซื้องูเห่าหรือเปิดฟาร์มงูเห่า ผมคิดว่ามันจะแก้ปัญหากันไม่จบ สภาวะที่เราเห็นผมคิดว่ามันจะถอนการเมืองยุคจอมพลถนอม เป็นสภาวะรัฐบาลถนอมที่คุมสภาไม่ได้ ในสภาวะที่รัฐบาลมีอาการร่อแร่ คำถามประการเดียวคือผู้นำทหารในรัฐบาลมีความอดทนแค่ไหน นี่คือโจทย์ที่เราจะเห็นในปี63 ผมคิดว่าปี 2563 เศรษฐกิจจะยิ่งร่วงโรย ผมคิดว่าปีหน้าสภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปพี่น้องประชาชนจะประสบปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจมีความยากลำบากมากขึ้น จึงน่าสนใจว่า เศรษฐกิจปี 2562 ก็ถดถอยมากกว่าปี 2561 ถ้าเศรษฐกิจถดถอยไปมากกว่าที่เราเห็น มันจะส่งผลกระทบกับการเมืองอย่างไร ที่ผ่านมาเราพอเห็นกันอยู่แต่มันไม่มีคำตอบชัดเจนว่าเศรษฐกิจไม่ดีจะนำไปสู่อะไรในทางการเมือง ปลายปีที่ผ่านมาหลายคนบอกว่าหัวรถจักรสำคัญอันหนึ่งของเราคือการส่งออกดับสนิท ตัวเลขหลายตัวที่ปรากฎไม่เป็นบวก เราคุยกันในวันนี้เมื่อวานตลาดหุ้นก็ลงหนัก คำถามคือในสภาวะเศรษฐกิจร่วงโรย ถ้ารัฐบาลยังเชื่อว่าประชานิยมเป็นแนวทางแก้ไข แล้วมีนโยบายคือแจก แจก แจก คำถามคือปีหน้าจะแจกได้อีกสักเท่าไหร่

Advertisement

เรื่องทุนใหญ่รุ่งโรจน์ผมคิดว่าหลังรัฐประหารปี 57 ทุนใหญ่เติบโตบนความมั่งคั่งมหาศาล ยิ่งนานวันอาการโตยอดหญ้า ตายรากหญ้ายิ่งปรากฏชัด แล้วอาการตายรากหญ้าวันนี้เป็นอาการในวงกว้าง ถ้าเป็นอย่างนี้จะเหมือนการส่งสัญญาณสร้างพันธมิตรชุดใหม่ คือการจับมือระหว่างทหารกับทุนใหญ่ หรือที่ผมเรียกว่าการจับมือของเสนานิยมกับทุนนิยมขนาดใหญ่ ซึ่งจะอาศัยพลังส่วนนี้เป็นฐานรองรับกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่กำลังกังวลกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย การเติบโตเช่นนี้ด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้กองทัพเข้มแข็ง แต่อีกด้านหนึ่งก็ตอบได้ว่าการเติบโตก็ได้อาศัยกองทัพเป็นช่องทางหนึ่งของการสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ตัวเอง

ประเด็นถัดมา หลังรัฐประหารปี 57 ผมคิดว่ากองทัพถูกวิจารณ์มากต้องใช้คำว่ากระทบกับตัวสถาบันทหาร ปรากฏการณ์เช่นนี้ผมคิดว่ากองทัพตกเป็นฝ่ายรับทางการเมือง อาการเป็นฝ่ายรับทางการเมืองและถูกเปิดในหลายๆเรื่อง เช่นเรื่องงบประมาณทหาร เรื่องความไม่ชอบมาพากลในสถานีโทรทัศน์ของฝ่ายทหาร รวมถึงการใช้งบประมาณหลายอย่าง ยังไม่ต้องพูดเรื่องทหารเกณฑ์ ผมคิดว่ากองทัพกำลังเหมือนถูกฉีกเป็นชิ้นๆ สภาวะแบบนี้ผมเรียกว่ากองทัพกำลังอยู่ในอาการรุ่งริ่ง และการรุ่งริ่งทางการเมือง แน่นอนเป็นความหงุดหงิดของผู้นำทหาร เพราะผู้นำทหารชินกับระบบรัฐสภาที่ตนเองไม่เคยถูกตรวจสอบ ไม่เคยถูกทักท้วง แต่พออยู่ในสภาวะอย่างนี้ ผู้นำทหารเผชิญกับความท้าทายที่ว่าจะอยู่กับระบบรัฐสภาอย่างไร อาการแบบนี้จะนำมาซึ่งข้อเรียกร้องใหญ่คือเรื่องการปฏิรูปกองทัพ ที่จะดังมากขึ้นในปี 63

ส่วนเรื่องต่างประเทศ ต้องยอมรับว่าเกียรติภูมิของประเทศมันตกต่ำตั้งแต่หลังรัฐประหาร ตั้งแต่ปี 2549 และปี 2557 ความหวังว่าการต่างประเทศจะเป็นเครื่องมือช่วยพยุงประเทศ คำตอบคือไม่ค่อยจริง คำถามใหญ่ที่ต้องคิดคืนโลกภายนอกเขาเหมือนเหมือนเราร้างราเรา การใช้การต่างประเทศฟื้นความสัมพันธ์จึงเป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อ จะอาศัยรัฐบาลปักกิ่งเป็นโล่ป้องกันตนเองจากตะวันตก ผมคิดว่าคิดแค่นั้นไม่พอ การพาประเทศเข้าไปใกล้ชิดรัฐบาลปักกิ่งนับตั้งแต่รัฐประหาร ผมคิดว่าเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลไทย ถ้าคิดต่อในปี 63 คือจะฟื้นอาการร้างราทางการทูตอย่างไร

ส่วนชาวประชาในปี 63 ตอบได้อย่างเดียวจะมีอาการ่องแร่ง ยังไม่ต้องพูดการเมือง เศรษฐกิจที่หนักในปี 61 แล้วเข้าปี 62 จะหนักมากยิ่งขึ้นในปี 63 ทั้งเงื่อนไขสงครามการค้า และปัจจัยภายในที่เราเห็นเศรษฐกิจไทยถดถอยต่อเนื่อง มันตอบชัดเรื่องตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูง พูดง่ายๆคือมองจากปัจจัยเศรษฐกิจไม่เห็นปัจจัยเชิงบวก คำถามคือเราเห็นตัวกระบวนการเสื้อแจ็คเก็ตเหลืองในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการประท้วงใหญ่บนฐานของเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องการเมือง คนออกมาบนความรู้สึกว่ารัฐบาลไม่สนใจปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ หรือเราเห็นตัวแบบในชิลี คนจำนวนมากออกมาประท้วงใหญ่ ทั้งๆที่เป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองมากในอเมริกาใต้ แต่คนออกมาเพราะมองว่าชิลีไม่มีความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ คำถามที่น่าสนใจในอาการชาวประชาร่องแร่งในปี 63 เราจะเห็นการประท้วงด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจแบบฝรั่งเศสคือ ชิลี หรือไม่

– ความท้าทายและสิ่งที่จะได้เห็น ในการเมืองปี 63

ผมคิดว่าปี 63 เป็นปีของความท้าทาย เป็นปีที่เราอาจจะเห็นปรากฏการณ์ใหม่ๆ คำถามคือแล้วอะไรเป็นทางเลือกของรัฐบาล ถ้าออกมีง่ายๆ ถ้ามองจากฝั่งรัฐ ยึด ยุบ ลาออก

ยึดก็คือ การที่รัฐบาลอยู่ในอาการร่อแร่ เสียงรัฐบาลปริ่มน้ำ แรงกดดันในสภาที่ไม่จบ ผู้นำทหารไม่เคยอดทน เราเห็นความไม่ทนนี้ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม ผมเปรียบเทียบกับรัฐบาลถนอม เพราะมีความชัดเจนในเชิงรัฐบาลผสม ผู้นำทหารจะคุมสภาไม่ได้ หนักสุดคือคุมรัฐบาลผสมไม่ได้ นี่คือประวัติศาสตร์ไทย ถ้าเป็นอย่างนี้ วันนี้ที่เราได้ยินกันมากขึ้นคือ ถ้ารัฐบาลไปต่อไม่ได้ก็อาจจะยึด แต่การยึดรอบนี้ผมคิดว่า ไม่ง่ายเหมือนเก่า รอบนี้ปัจจัยแวดล้อมมีความต่างเยอะ ผมไม่แน่ใจว่าถ้ายึดรอบนี้จะกลายเป็นจอมพลถนอมในปี 14 หรือจอมพลถนอมในปี 16 เพราะถ้าเป็นปี 14 คือการทำรัฐประหารรัฐบาลตัวเองแล้วก็อยู่ต่อ แต่พอปี 16 ก็เจอกับ 14 ตุลา แล้วก็เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ ถ้าทางออกคือการยึดผลกระทบมีมาก โดยเฉพาะกับสถานะต่างประเทศของไทย

แต่ถ้ายุบสภาก็น่าสนใจ คำถามคือยุบแล้วจะทำได้จริงไหม ยุบแล้วจะเป็นแบบพรรคอนุรักษ์นิยมแบบอังกฤษ คือชนะมากขึ้นไปอีก แต่ผมคิดว่าไม่มีหลักประกันว่ากรุงเทพฯจะเหมือนลอนดอน ว่าผู้นำไทยปัจจุบันจะเป็นเหมือน บอริส จอร์นสัน ที่พอยุบแล้วได้เสียงมากขึ้น

หรือถ้าไม่ไหวจริงๆ สุดท้ายการเมืองมีช่องออกอย่างหนึ่งคือถ้าไม่ไหวก็ต้องออก คงต้องยอมรับว่าเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวผู้นำมีไม่น้อย แต่ผมคิดว่าการตัดสินใจอย่างนี้ไม่ง่าย เพราะผู้นำที่มาจากกองทัพมักจะมีความเชื่อว่าพวกเขาอยู่ในอำนาจได้นานด้วยอำนาจปืน ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลทหารที่มาจากการเลือกตั้งก็ยังเชื่อว่าอำนาจปืนคุมอยู่ และยังสามารถต้านการประท้วงได้ นั่นหมายความว่าการลาออกอาจไม่ใช่ทางเลือกของผู้นำทหารในปัจจุบัน

หรือสุดท้ายอาจจะเกิดการชุมนุมใหญ่ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ผมไม่ได้บอกว่าเราจะต้องเป็นแบบฮ่องกง หรือจะต้องมีม็อบใหญ่อย่างในฝรั่งเศสหรือชิลี แต่ผมเชื่อว่าปี 2563 เราจะเจอการประท้วงของพี่น้องประชาชนแน่ๆ และเป็นการประท้วงที่ต้องยอมรับว่าไม่ได้มาจากการจัดตั้งของพรรคการเมือง ผู้นำทหารอาจจะต้องเลิกเชื่อว่าทุกการประท้วงเกิดจากการจัดตั้งทั้งหมด ถ้าเป็นอย่างนี้ทางเลือกที่ 4 อาจจะไม่ใช่ทางเลือกแต่จะเป็นทางบังคับคือต้องลงจากอำนาจด้วยกระแสประชาชน ผมคิดว่าอนาคตมี 4 อย่าง

ยกเว้นอย่างที่ 5 คือไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วก็อยู่ไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ปีหน้าจะเหมือนเวทีมวย ผมคิดว่าการต่อสู้ในสภาจะไม่อยู่แค่ในสภา จะมีการต่อสู้นอกสภาแน่ๆ โดยเฉพาะกรณีบีบพรรคอนาคตใหม่ให้ออกนอกสภา ผมคิดว่าใครก็ตามที่เชื่อว่าเอาอนาคตใหม่ออกมาไว้นอกสภาเป็นวิธีที่ดีที่สุด ผมกำลังเชื่อว่านั่นเป็นวิธีที่น่ากลัวที่สุด เพราะจะทำให้การเมืองมันไหลลงถนนโดยปริยาย ถ้าเปรียบเทียบการต่อสู้ 12 เดือน 12 ยก ผมเชื่อว่ารัฐบาลในปี 2563 อยู่ไม่ครบ 12 ยก แต่จะไปยกที่เท่าไหร่นั่นคือปัญหา ต้องบอกว่านักรัฐศาสตร์ไม่ใช่หมอดูจึงไม่กล้าฟันธงว่าจะไปยกเท่าไหร่ แต่ผมคิดว่าอย่างน้อย 6 ยกแรกจะเป็นอาการที่เหนื่อยที่สุด ผมเชื่อว่าหลังจากปีใหม่นี้ไปการเมืองจะไม่มีฮันนีมูนอีกแล้ว แล้วหลังปีใหม่เมื่อประชาชนกลับจากเยี่ยมบ้านพี่น้องต่างจังหวัด คงไม่ต้องถึงตรุษจีน หรือสงกรานต์ ระฆังจะดังทันทีเมื่อหลังปีใหม่เริ่มขึ้น

-การเมืองไทยในปัจจุบัน รัฐบาลยังสามารถเป็นผู้นำประนีประนอมทางการเมืองได้อยู่หรือไม่ ?

ผมคิดว่าอาการปะนีปะนอมมันจบไปนานแล้ว ความพยายามที่วงวิชาการคิดว่าน่าจะเป็นทางออก ในทัศนะส่วนตัวถ้าถามผม การประนีประนอม การสมานฉันท์ มันกลายเป็นแค่ภาษาที่ไม่มีความหมาย สุดท้ายเหลือมรดกชิ้นเดียวคือตุ๊กตาน้องเกี่ยวก้อย ผลจากนั้นเราไม่เคยเห็น คำถามวันนี้คือตุ๊กตาตัวนั้นไปเก็บไว้ไหน สิ่งที่เราเห็นคือผลสืบเนื่องที่ไม่มีอะไรเลย เป็นเพียงการทำตุ๊กตาผ้าที่เลื่อนลอยที่สุด มันเหมือนสัญญาณที่ทหารอยากประนีประนอม แต่ก็แค่ตุ๊กตาผ้า เราไม่เห็นสาระที่เป็นเนื้อหา ผมเคยคิดว่าการเลือกตั้งคือหนทางประนีประนอมที่ดีที่สุด ก็คือเอาการเมืองกับไปไว้ในสภา แต่วันนี้ก็ตั้งข้อสงสัยว่าสิ่งที่ผมเคยเชื่อจะเป็นจริงได้แค่ไหน

-วิเคราะห์บทบาทฝ่ายค้านในปัจจุบัน อะไรควรแก้ไขและปรับปรุง

หลายคนอาจคิดว่าฝ่ายค้านทำไม่เต็มที่ แต่ผมเห็นว่ามันติดเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ติดเงื่อนไขกติกากฎหมาย คำพูดที่ว่ารัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อเรามันตอบชัด ว่าทั้งหมดมันเป็นการออกแบบมาเพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านชนะ และเป็นการออกแบบให้เกิดรัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง หรือที่ผมเรียกเลยทางวิชาการว่าระบอบพันธุ์ทางทหารไทย ถ้าเราเปรียบเทียบภาพของทั่วโลก ระบอบพันธุ์ทางยังไงฝ่ายค้านก็แพ้ ไม่ว่าจะเป็นในตุรกี ระบอบพันธุ์ทางที่ใหญ่ที่สุดคือรัสเซีย และระบอบพันธุ์ทางใกล้เราที่สุดคือกัมพูชา ถามว่าที่ยกมาทั้ง 3 ตัวแบบมีพรรคฝ่ายค้านที่ไหนชนะบ้าง ภายใต้กติกาแบบนี้ยังไงฝ่ายค้านก็ลำบาก สิ่งที่ยังดีอยู่คือเอกภาพของพรรคฝ่ายค้านที่ยังเป็นบวกอยู่

-อนาคตใหม่เริ่มลงถนน นัดแฟลชม็อบ จัดกิจกรรมต่างๆมากขึ้น 

เมื่อผู้มีอำนาจตัดสินใจว่าอนาคตใหม่ต้องไม่เหยียบสภา ทั้งๆที่พรรคก็ได้ส.ส.เป็นจำนวนมาก ถ้าเป็นอย่างนี้ยังไงการเมืองก็ไหลลงถนน

ส่วนเรื่องอนาคตใหม่ลงถนนทั้งที่การเมืองยังไม่สุกงอม ผมมีความเห็นแย้งนะ ในฐานะอดีตผู้นำนักศึกษาที่เคยเคลื่อนไหวมาก่อน ผมว่าการเมืองไทยสุกงอมมานานแล้ว สุกงอมมาหลายรอบแล้วด้วย เพียงแค่หลายฝ่ายรอว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นช่วงต้นปี 62 จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้การเมืองไทยมีช่องออก แต่พอหลังเลือกตั้งการเมืองเริ่มปิดช่องใหม่ ตัวนี้ยิ่งทำให้เงื่อนไขการประท้วงขยายตัว ทั้งยังต้องเจอกับการประท้วงที่เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งที่เกิดในฝรั่งเศสและชิลีตอบตรงกันว่ามันไม่มีการจัดตั้งทุกคนเป็นแกนนอน และถ้าเป็นแกนนอนที่ออกมาเพราะความรู้สึกร่วม ตรงนี้น่าสนใจ ส่วนหนึ่งการประท้วงของไทยในอนาคตก็จะเป็นเรื่องการเมือง แต่จะไปถึงขนาดที่ปีกอนุรักษ์นิยมกลัวคือฮ่องกงนั้น คิดว่าคงต้องจับตาดู

-คนกรุงเทพฯก็มีบทเรียนกลับมาเยอะ น่าจะขยาดม็อบ?

คนกรุงเทพฯถูกสร้างเป็นจินตนาการให้กลัวม็อบในหลายปี ไม่เอาม็อบ ม็อบมาแล้วจะมีปัญหา โดยเฉพาะในปี 53 ที่กลุ่มคนที่มาเป็นกลุ่มคนต่างจังหวัด ในมิติเชิงชนชั้นถือเป็นตัวแทนของชนชั้นล่าง ชนชั้นกลางจึงปฏิเสธม็อบจากชนชั้นล่าง เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของการมีบทบาททางการเมืองของชนชั้นล่าง รวมถึงหลายปีที่ผ่านมาชนชั้นกลางอยู่ภายใต้กรอบคิดที่ถูกสร้างโดยปีกขวาและทหารว่าไม่เอาการเลือกตั้งด้วย เมื่อการเลือกตั้งเกิดก็ยังอยากได้พรรคที่เป็นปีกอนุรักษ์นิยม วันนี้พรรคประชาธิปัตย์แพ้เพราะปีกขวาในกรุงเทพฯ รู้สึกว่าประชาธิปัตย์ขวาไม่พอ จึงไปเลือกพรรคที่ขวากว่า นั่นคือตัวอย่าง

วันนี้ก็ต้องยอมรับว่าการเมืองมันปิดช่องทุกอย่าง การเมืองในรัฐสภามันคือวาล์วที่จะเปิดลดความดันออก แต่ถ้าจะปิดวาล์วทุกอย่าง ซึ่งปิดไปแล้วก็คือส.ว. เขาถูกตั้งเพื่อทำภารกิจเดียวคือเลือกนายกฯ ถ้าวันนี้ยังจะปิดวาล์วทุกตัว อาจจะต้องขอย้ำว่าการประท้วงใหญ่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนจะใหญ่แค่ไหนอาจจะต้องดูสถานการณ์จริง

แฟลชม็อบธนาธรก็น่าสนใจในแง่มีคนหน้าใหม่เยอะ

ตอบในฐานะคนหนึ่งที่ไป แล้วไปเพราะอยากเห็นสถานการณ์จริง ไม่อยากรู้จักสื่อหรือดูจากเน็ต สิ่งที่ผมเห็นคือผมเจอคนที่ไม่รู้จักเยอะ ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ พูดจริงๆก็คือรุ่นประมาณลูกศิษย์ อาจจะมีคนพอจำผมได้ แต่มองออกไปเป็นคนหน้าใหม่สำหรับผม ผมไม่กล้าประมาณว่ามีขนาดไหนแต่คนรุ่นใหม่เยอะมาก ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ทางการเมืองมันปลุกให้คนรุ่นใหม่ คิดว่าการเมืองมันไม่เป็นธรรม

กลัวความขัดแย้งไหม เพราะฝ่ายตรงข้ามก็เริ่มตั้งเวทีต้านชังชาติ หมอวรงค์เร่งเดินสายทั่วประเทศ

ผมคิดว่าความขัดแย้งมี 2 ระดับ คือความขัดแย้งที่ขยายตัวเป็นความรุนแรงกับความขัดแย้งปกติ ผมคิดว่าถ้าเรายอมรับสังคมประชาธิปไตย ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติของคนเห็นต่าง ถามว่าเรากลัวความขัดแย้งที่เกิดจากความเห็นต่างไหม ผมคิดว่าไม่ใช่ปัญหา ความขัดแย้งนี้จะถูกยกไปในสภาเพื่อแปลงความเห็นต่างออกมาเป็นนโยบายกฎหมาย ยกตัวอย่างเวลาเราศึกษาการเมืองยุโรป ผมชอบการเมืองยุโรปอยู่อย่างหนึ่ง ในกรณีของเยอรมันหรือฝรั่งเศส มันมีการแบ่งชัดคือพรรคขวาจัด พรรคขวากลาง พรรคซ้ายกลาง และพรรคซ้ายจัด เราไม่มีวิธีคิดแบบนี้ในบ้านเรา เรามีวิธีคิดแค่มองฝ่ายที่เห็นต่างเป็นศัตรู แต่การเมืองอย่างในยุโรปมันแบ่งเฉดพรรคการเมืองอย่างน้อย 4 เฉด หรืออย่างพรรคซ้ายจัดกับซ้ายกลาง ก็ยังมีย่อยออกมาอีกหลายเฉด ปีกขวากลางไปขวาจัดก็อาจจะหลายเฉด ขวาจัดไม่ยอมรับผู้อพยพ มุสลิม แต่ขวากลางยอมรับนะครับ

นี่คือตัวอย่าง แต่ความจนทางปัญญาของการเมืองไทยคือเราไม่ถูกแบ่งเฉด แล้วในความไม่ถูกแบ่งเฉด เรามีความเห็นอย่างเดียวคือความขัดแย้งเป็นความน่ากลัว ผมคิดว่าที่น่ากลัวคือความขัดแย้งนั้นนำไปสู่ความรุนแรง ผมในฐานะคนที่ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ผมรู้อยู่ว่าการแบ่งขั้วมันนำไปสู่ความรุนแรงแน่นอน นั่นคือสิ่งที่เราไม่อยากเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย คือพูดง่ายๆไม่อยากเห็น 6 ตุลารอบสองในกรุงเทพฯ แต่ในปัจจุบันการสร้างวาทกรรมเฮชสปีด ผมว่าเยอะขึ้น ผมพูดเสมอว่าถ้าปี 19 มีโลกโซเชียล นักศึกษาจะตายมากกว่านี้ไหมในธรรมศาสตร์ วันนี้เราเห็นชัดโลกโซเชียลกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง แล้วในการเมืองชุดนี้คือการสร้างความเกลียดชัง ถ้าถามผมเราเห็นเรื่องอย่างนี้ในบอสเนีย หรือในรวันดามาก่อน มันจบลงด้วยการฆ่า การสร้างเรื่องลัทธิชังชาติเป็นกระแสที่น่ากังวล แต่ถ้าปีกนี้ยอมรับว่าตัวเป็นปีกขวาจัด และตั้งพรรคขวาจัด ดำเนินนโยบายขวาจัดและเข้าสู่สภา อย่างนี้ผมอยากเห็น แต่ผมกำลังสงสัย การปลุกกระแสต้านลัทธิชังชาติ เหมือนกับการปลุกกระแสต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในปี 19 ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ กลุ่มนี้กำลังปูทางไปสู่การฆ่าเหมือนปี 19 เท่านั้นเอง แต่ถ้ากลุ่มนี้ต้องการเล่นการเมืองในระบบก็ต้องกล้าตั้งพรรคการเมืองสู้ในสภา ไม่ใช่การปลุกระดมสร้างความเกลียดชังเพราะมันไม่จบ

คิดว่ากรุงเทพฯจะมีโอกาสเกิดการชุมนุมเหมือนฮ่องกงไหม

ผมคิดว่าคนไทยเรียนรู้และตระหนักถึงปัญหาของการชุมนุมพอสมควร โดยเฉพาะความกลัวของชนชั้นกลาง ดังนั้นโอกาสที่ไทยจะเป็นเหมือนฮ่องกงไม่ง่าย แต่ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ยาก ถ้าเราเห็นตัวแบบหลายๆประเทศ การชุมนุมในฮ่องกง ตัดปัญหาข้อเรียกร้องออก คือคนฮ่องกงมีความรู้สึกร่วมกันพอสมควร ว่าพวกเขาคิดถึงอนาคตของฮ่องกงอย่างไร พวกเขาคิดต่อจีนอย่างไร ในการขยายอิทธิพลต่อฮ่องกง ม็อบไม่ว่าจะเป็นม็อบแจ็คเก็ตเหลืองที่ปารีส ม็อบเศรษฐกิจที่ชิลี ม็อบการเมืองที่ฮ่องกง มันออกมาด้วยเงื่อนไขใหญ่ที่สุดคือคนที่ออกมาต้องมีความเห็นร่วมกัน ผมเห็นว่าความรู้สึกร่วมในสังคมไทยไม่ใช่ว่าไม่มี แต่ทุกวันนี้ ทุกคนเหมือนนั่งรอดูว่าสถานการณ์มันจะไปถึงจุดนั้นเมื่อไหร่ คนที่รู้สึกอย่างนี้ก็หวังว่าการเลือกตั้ง จะเป็นตัวผ่อนคลาย แต่ถ้าการเลือกตั้งไม่ใช่ปัจจัยผ่อนคลายทางการเมือง ผมว่าอันนี้เป็นความน่ากังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเลือกตั้งไม่ใช่การผ่อนคลาย และยังมีการเดินสายปลุกระดมด้วยกระแสขวาจัด ผมว่าอย่างนี้เป็นการพาสังคมไทยไปสู่ความรุนแรงแน่นอน

-ปี63 กองทัพควรจะแสดงจุดยืนอย่างไร ถ้าฝ่ายการเมืองเดินหน้าปฏิรูปกองทัพ

กองทัพในประเทศประชาธิปไตย ไม่มีหน้าที่ทางการเมือง ผมคิดว่าหลักการนี้ต้องยืนยันให้ชัดเจน เราไม่ได้สร้างกองทัพให้เป็นทหารการเมือง เราลงทุนเสียภาษีสร้างกองทัพเพื่อให้กองทัพเป็นทหารอาชีพ แต่ถ้ากองทัพก้าวข้ามจากความเป็นทหารอาชีพไปเป็นทหารการเมือง คำตอบมีอย่างเดียวคือปฏิรูป หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องเผชิญกับความเรียกร้องของประชาชนที่อาจจะเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ เหมือนที่เกิดขึ้น 14 ตุลา ก็คือคำตอบชุดนี้ ที่จริงคำตอบไม่ยากถ้าทหารตระหนักว่าทหารไม่มีหน้าที่ทางการเมือง ผมไม่เชื่อเรื่องหนึ่งสำนวนที่ว่าทหารคือประชาชน ทหารจึงมีหน้าที่ทางการเมืองเหมือนประชาชน คำตอบไม่ใช่ ในสภาวะที่คุณใส่เครื่องแบบคุณไม่ใช่ประชาชน ผมคิดว่าต้องแยกออกจากกัน เวลาพูดถึงประชาชนมีนัยยะความหมายในทางรัฐศาสตร์คือประชาชนที่ไม่ใช่ผู้ถืออาวุธ แต่ในสภาวะที่กองทัพแต่งเครื่องแบบและถืออาวุธ ท่านไม่ใช่ประชาชน หากรู้สึกว่าถูกกระทำ ท่านต้องเข้าใจว่ากองทัพไม่ใช่รัฐ กองทัพเป็นเครื่องมือและกลไกของรัฐ ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนที่อนุญาตให้กองทัพเป็นรัฐ เท่าๆกับไม่มีประเทศคอมมิวนิสต์ประเทศไหนที่อนุญาตให้กองทัพเป็นรัฐ ไม่ว่าประเทศประชาธิปไตยหรือประเทศคอมมิวนิสต์ 2 ขั้วที่ตรงข้ามที่สุด กองทัพก็ถูกคุมและไม่มีบทบาททางการเมือง มีแต่ประเทศลุ่มๆดอนๆ อย่างเรานี่แหละ ที่กองทัพมีบทบาททางการเมืองไม่จบ แม้อินโดนีเซียที่กองทัพอยู่ในการเมืองนานสุดประเทศหนึ่งของโลก วันนี้ก็ไม่ได้เห็นบทบาทกองทัพในอินโดนีเซียแบบที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าเทียบไทยกับเมียนมา เอาเข้าจริงผมไม่แน่จ่ายว่าเราอาจจะสูงกว่าหรือเปล่า กรณีของไทยมันปรากฏชัดเจนในหน้าฉาก แต่ถ้าโดนเปรียบเทียบของเมียนมาทหารอยู่หลังฉากมากกว่า

-วิเคราะห์อนาคตรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร ท่ามกลางการถกเถียงกันอย่างหนัก

สัญญาณมันชัดจากการตั้งกรรมาธิการ ถ้ายังมีปัญหามาก ตอบได้เลยว่าแก้ไม่ได้ หรือกระบวนการทั้งหมดคือการดำเนินการเพื่อไม่ให้การแก้รัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จ ย้อนกลับไปปัญหาการเมืองไทยทั้งหมดโทษใครไม่ได้เลยนอกจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีคุณมีชัย ฤชุพันธุ์เป็นประธาน ก็ปัญหาทั้งหมดรัฐธรรมนูญเป็นตัวก่อเหตุทั้งหมด ถ้าจะคลายการเมืองออก การแก้รัฐธรรมนูญคือหนทาง แต่ถ้าต้องการอยู่ในอำนาจต่อ คำตอบมีอย่างเดียวคือต้องไม่แก้ ซึ่งผมกำลังสงสัยว่าทิศทางจะเป็นอย่างหลัง คือไม่แก้รัฐธรรมนูญ อย่างที่บอกว่ารัฐธรรมนูญออกแบบให้ฝ่ายค้านแพ้ทุกเรื่อง ถ้าตั้งกรรมาธิการแล้วมีปัญหา ไม่สามารถหาฉันทามติได้ เท่ากับส่งสัญญาณชัด

-เคยมีการแบ่งว่าหลังรัฐประหาร การเมืองไทยแบ่งเป็นเอาทหารกับไม่เอาทหาร ปี 63 ยังเป็นแบบนี้อยู่ไหม

ผมคิดว่ายังเป็น เอาไม่เอาทหาร แต่เอาไม่เอาทักษิณก็ยังอยู่ เอาไม่เอาคสช.ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องถึงปัจจุบันก็ยังอยู่ วันนี้ถูกโยงไปมากกว่านั้นมันรวมไปถึงเอาไม่เอาทุนใหญ่ เพราะวันนี้ทุนกลางทุนเล็กตายหมดแล้ว ตกลงประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ให้ทุนใหญ่คุมทุกอย่างหรือไม่ นั่นคืออนาคตที่ต้องตอบ เอาไม่เอาในปีหน้าเราจะเห็นหลายระดับ และหลายประเด็นซ้อนกัน มันไม่ใช่การแบ่งแบบคับแคบไปเพราะมันอยู่ในความรู้สึกคน มันเห็นอยู่เรื่องเอาไม่เอาทหาร ยิ่งปี 63 อาจจะเป็นการต่อสู้ของกระแสชังชาติ กับกระแสพังชาติ

– อ.เคยเสนอก่อนเลือกตั้งให้ประยุทธ์เตรียมยาไว้ 3 ขนาน ตอนนี้อยากเสนอเพิ่มหรือลดยาไหม

ผมคิดว่าต้องเพิ่มยาบำรุงสมองและบำรุงหัวใจอีก 2 ขนาน ต้องยอมรับว่าหลังการเลือกตั้งสภาวะการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก กระแสโลกก็เปลี่ยน ผู้นำต้องคิดมากขึ้น ผู้นำไม่สามารถคิดแบบเดิมๆ ถ้ายังคิดในกรอบเก่าว่าอะไรทุกอย่างยังเหมือนเดิมเลยอดีต ผมว่าไม่ช่วย ต้องเพิ่มยาให้ช่วยคิดและตระหนักว่าประเทศมีปัญหา จะแก้ด้วยชุดความคิดเดิมไม่ได้

– เป็นห่วงอะไรในการเมืองปี 63 มากที่สุด

มีประเด็นเดียวคือการเมืองปี 63 จะเป็นความรุนแรงขนาดใหญ่ไหม ถ้ากระแสความไม่พอใจขยายตัว และเศรษฐกิจตกต่ำ การประท้วงใหญ่อาจจะเกิด ชีวิตที่เคยเห็น ปี 19 ปี 35 และปี 53 แน่นอนเราไม่อยากเห็นความรุนแรงขนาดนั้น ผมก็ยังคิดว่า 63 คงไม่ใช่ปีของการรัฐประหารซ้ำ พูดทุกครั้งก็รู้ว่าอาจจะผิด แต่รัฐประหารก็ไม่ง่าย รอบนี้ถ้าทำจะย้อนรอยจอมพลถนอม ก็จะสำเร็จในปี 14 แต่พอมาปี 16 มันแทบจะล้างระบอบตรงนั้นเลยนะครับ ผมไม่เชื่อเรื่องทางตัน ระบบรัฐสภาไม่มีวันมีทางตัน สภาถูกออกแบบเพื่อให้มีหนทางของการแก้ปัญหา และที่สำคัญจะพาเหมือนเป็นวาล์วใหญ่ที่จะระบายแรงกดดันทางการเมือง แต่ถ้าตัวผู้นำไม่เล่นในเกมสภานั่นแหละคือปัญหา และวันนี้เราเริ่มเห็นผู้นำทหารที่มาจากการเลือกตั้งเริ่มคิดที่จะไม่เล่นเกมในสภา แบบที่ระบบรัฐสภาควรจะเป็น สัญญาณก็คือเราเห็นตั้งแต่หลังเลือกตั้ง การเลือกนายกฯ ไม่ต้องพูดเรื่องเดิมคือการถวายสัตย์ อะไรทั้งหลายทั้งปวงที่เห็น จนมาถึงจุดที่พรรคฝ่ายค้านไม่มีทางทำอะไรได้มากกว่านี้ วันนี้การเมืองไทยออกแบบให้พรรคฝ่ายค้านเป็นแค่ไม้ประดับในสภา อาจจะมีฤทธิ์บ้างแต่ภายใต้กติกาแบบนี้พรรคฝ่ายค้านยังไงก็ลำบาก แปลว่าพรรคฝ่ายค้านกลายเป็นกลไกที่สร้างความชอบธรรมให้ระบบเดิมสืบทอดอำนาจได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความขัดแย้งมีแน่ มาถึงจุดนี้มีคำถามเดียวคือผู้นำปัจจุบันจะทำให้สภาเป็นรัฐสภาได้ไหม แต่ภายใต้กติการัฐธรรมนูญแบบนี้ตอบได้ว่ารัฐสภาไม่สามารถเป็นรัฐสภาได้อย่างแท้จริง

-การเมืองไทยยังมีอนาคต?

เราเห็นการเมืองไทยมานานในชีวิต เห็นความผันผวนทางการเมืองไทยมาพอสมควร ผมเชื่อเสมอว่าการเมืองมีอนาคต ถ้าเรารู้สึกว่าการเมืองไม่มีอนาคตเราจะไม่สู้ ผมยังเขียนบทความทางการเมืองและความมั่นคง เท่ากับผมยืนยันว่าผมยังเห็นอนาคต ถ้าผมไม่เห็นอนาคตผมคงเขียนสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ อาจจะเป็นความโชคดีที่ผมสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ผมเห็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้คิดเหมือนคนรุ่นผมในฐานะอดีตผู้นำนักศึกษา แต่พวกเขาก็มองไปข้างหน้า มันไม่ได้มืดมนทั้งหมด บางครั้งฤดูใบไม้ผลิมันมาช้า และฤดูหนาวบางครั้งมันยาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image