กิจกรรมวิ่ง‘ไล่-เชียร์’ลุง รูปแบบการเมืองแนวใหม่

หมายเหตุ … ความเห็นนักวิชาการต่อปรากฏการณ์การจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” และ “เดินเชียร์ลุง” ถือเป็นรูปแบบใหม่ของการความเคลื่อนไหวทางการเมืองจากที่เคยเป็นการนัดชุมนุมเพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ
——————–
ยุทธพร อิสรชัย
อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

กิจกรรมวิ่งไล่ลุงและเดินเชียร์ลุงเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นพื้นที่มุมกลับอันเนื่องมาจากช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่า คสช.มีมาตรการต่างๆ ที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพและการแสดงความคิดเห็นของผู้คนเอาไว้ เช่น เรื่องของการเรียกปรับทัศนคติ หรือการจับกุมผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง เมื่อบุคคลเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว แม้กระทั่งกระบวนการที่อาจจะทำให้ถูกดำเนินคดี ทำให้กลุ่มบุคคลส่วนหนึ่งรู้สึกว่าขาดซึ่งพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นอย่างมีเสรีภาพ จึงต้องการพื้นที่อีกด้านที่เรียกได้ว่า “พื้นที่มุมกลับ” และพื้นที่นี่เองที่เป็นที่มาของกิจกรรมเรียกร้องทางการเมืองต่างๆ รวมไปถึงกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ซึ่งกิจกรรมวิ่งไล่ลุงเป็นกิจกรรมที่อาจจะเกิดขึ้นและมีผู้คนสนใจอย่างมาก อันเนื่องมาจากในอดีตยังไม่มีเงื่อนไขที่มาผนวกรวมด้วย เช่น ภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงทำให้ดูเหมือนว่ากิจกรรมครั้งนี้คนให้ความสนใจ

ที่สำคัญมีการใช้รูปแบบใหม่ ไม่ได้เป็นเพียงการชุมนุมทางการเมืองทั่วไป แต่เป็นการใช้กิจกรรมทางกีฬา การออกกำลัง ซึ่งการวิ่งก็กำลังอยู่ในกระแสปัจจุบัน เป็นที่นิยมของบรรดากลุ่มวัยรุ่นด้วย การพยายามปรับเปลี่ยนรูปโฉมให้สอดคล้องกับกระแสในสังคมจึงเป็นจุดดึงดูด กิจกรรมดังกล่าวอาจไม่เรียกว่าเป็นการลงถนน เพราะการลงถนนจะต้องมีการชุมนุมในลักษณะปักหลักพักค้างคืน หรือเป็นเรื่องการเมืองแบบมวลชนที่จะต้องมีการชุมนุมใหญ่ ซึ่งอาจจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคลเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเรียกร้องต่างๆ ดังนั้น กิจกรรมเพียงแค่ครั้งคราว มีการนัดหมายกันเป็นเฉพาะกิจ ส่วนตัวจึงไม่ได้มองว่าจะถึงขั้นลงท้องถนน แต่แน่นอนว่าเป็นกิจกรรมที่แสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมวิ่งไล่ลุงหรือเดินเชียร์ลุงก็ตาม เพราะมีความเกี่ยวข้องกับบุคคล แม้แต่ละฝ่ายจะบอกว่าลุงในที่นี้ไม่มีนิยามความหมาย หรือมีต่างกันไปก็ตาม ท้ายที่สุดสังคมก็รับรู้ได้ว่า ฝั่งหนึ่งหมายถึงการขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับอีกฝั่งหนึ่ง คือ ที่สนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง

Advertisement

ทั้งนี้ จำนวนคนที่มาเดินและวิ่งอาจจะเป็นตัวชี้วัดได้ระดับหนึ่ง เพราะในแง่ของกิจกรรมทางการเมืองดังกล่าวมีความแตกต่างกันใน 2 กลุ่ม แน่นอนว่ากลุ่มวิ่งไล่ลุงน่าจะมีคนมาร่วมเยอะกว่า เนื่องจากเป็นขบวนการโต้กลับ จากฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจรัฐ ดังนั้นการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อที่จะเรียกร้องสิ่งต่างๆ ที่ต้องการให้ผู้มีอำนาจรัฐดำเนินการ ย่อมเป็นประเด็นที่สามารถเรียกผู้คนมาร่วมในการชุมนุมในกิจกรรมดังกล่าวได้มากกว่า ในขณะที่กลุ่มเดินเชียร์ลุงเป็นกลุ่มที่สนับสนุนอุดมการณ์ที่อยู่ในอำนาจรัฐ จึงน่าจะมีคนออกมาร่วมไม่มากนัก และคนที่มาร่วมกิจกรรมดังกล่าว ทั้ง 2 ส่วน ก็มีฐานทางอุดมการณ์ที่ต่างกัน ในแง่ของกิจกรรมวิ่งไล่ลุงอยู่บนฐานทางอุดมการณ์ประชาธิปไตย อุดมการณ์ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช. ในขณะที่กลุ่มเดินเชียร์ลุงอาจจะอยู่ในฐานทางอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบไทยๆ สนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ณ วันนี้ โอกาสที่จะนำไปสู่การชุมนุมแบบปักหลักพักค้างหรือการชุมนุมใหญ่กระทั่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะวันนี้คนในสังคมถูกแบ่งเป็น 2 ขั้วอุดมการณ์ใหญ่ๆ จำนวนของผู้สนับสนุนแต่ละฝ่ายไม่น่าจะเพิ่มเติมอย่างมีนัยยะสำคัญ ผู้สนับสนุนอุดมการณ์ทางใดทางหนึ่งก็คงมีอยู่เท่าเดิม โอกาสที่จะที่พลังในการเคลื่อนไหว อย่างเช่นเหตุการณ์ในอดีต ทั้ง 14 ตุลาคม 2516 หรือเหตุการณ์พฤษภาคม ปี 2535 ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก พลังในการเรียกร้องยังไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สังคมไม่ได้เกิดการตกผลึกในประเด็นทางการเมืองใดๆ ดังนั้น พลังในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระยะสั้นคงไม่มี แต่ถึงที่สุดแล้วในระยะยาวเราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่ากิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะเป็นสะสมประเด็นที่นำไปสู่ความเชื่อมั่นและความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีเงื่อนไขอื่นมาเพิ่มเติมนอกเหนือจากการปราศรัย วิพากษ์วิจารณ์การเมือง สมมุติว่าหากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม กระทั่งเหตุการณ์ความรุนแรงจากรัฐ เช่น กรณีที่มีการเข้าไปจับกุมการดำเนินกิจกรรม การห้ามดำเนินกิจกรรม หรือสถานการณ์ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ในช่วงกิจกรรม แน่นอนว่าอำนาจรัฐจะเสียเปรียบ และจะเป็นประเด็นที่สะสมต่อไปในระยะยาว ในการบั่นทอนความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาล รวมทั้งอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระยะยาวได้
————–

Advertisement

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

การทำกิจกรรมลักษณะการส่งสัญญาณทางการเมืองในรูปแบบของกีฬายังไม่เคยเกิดขึ้นในไทย นี่เป็นครั้งแรกในการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวที่มีความสัมพันธ์กับการเมือง แม้จะมีการบอกว่าเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกีฬา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณต่อความรู้สึกทางการเมืองของทั้งสองฝั่ง ฝั่งแรกที่เรียกว่า วิ่งไล่ลุง คือกลุ่มที่มีความรู้สึกคับข้องใจกับการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่ผ่านมา ซึ่งไม่เฉพาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่หมายรวมถึงรัฐบาลที่เป็นคณะรัฐประหาร คสช.ด้วย เป็นการเก็บสะสมความไม่พอใจเอาไว้อย่างยาวนาน แต่อีกด้านก็สะท้อนว่าสัญญาณของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มวิ่งไล่ลุง ก็มีผลกระทบต่อซีกที่สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งอาจจะกลัวว่าสัญญาณนี้จะกระทบและกระจายไปยังประชาชนจำนวนมากอันเนื่องมาจากความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการทำงาน การเล่นพรรคเล่นพวก และที่น่ากลัวมากคือเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ หากไม่ทำอะไร คนก็จะหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น ท่ามกลางความล้มเหลวของรัฐบาล ซึ่งหากฝ่ายค้านสามารถเปิดแผล สามารถทำให้คนติดตามการเมืองและเห็นความล้มเหลวของรัฐบาล ก็อาจกระทบกับเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล หรือความนิยมชมชอบได้ด้วย ดังนั้น ไม่แปลกที่ฝั่งเชียร์ลุง จึงต้องเดินเชียร์ลุงเพื่อทำให้เห็นว่า ในอีกปีกหนึ่งก็มีคนที่สนับสนุนลุง พล.อ.ประยุทธ์เช่นเดียวกัน เป็นการพยายามทำให้เห็นว่าทั้ง 2 ฝั่ง มีจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกัน

ส่วนตัวมีความกังวลว่าการทำให้เกิดลักษณะเช่นนี้จะนำไปสู่ความรู้สึกแตกแยกในสังคมมากขึ้น โดยลักษณะของกิจกรรมถือว่าก้ำกึ่งกับการลงถนน ในแง่หนึ่ง คือ การออกกำลังกาย แต่ถ้ามองในทางการเมืองนี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญในการลงสู่ท้องถนน และเชื่อว่านักยุทธศาสตร์ทางการเมืองจำนวนมากก็คิดไม่ต่างกัน แม้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะได้คะแนนนิยมชมชอบจากประชาชน แต่ก็ตกต่ำลงทุกวัน การบริหารงานล้มเหลวหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ดังที่เราเห็นกันอยู่ อย่างไรก็ดี ในระบบการเมืองที่อยู่ในภาคสถาบันทางการเมือง ถือว่ารัฐบาลชุดนี้มีความเข้มแข็งพอสมควร รัฐบาลไม่ได้เป็นเสียงปริ่มน้ำอีกต่อไปแล้ว เพราะรัฐบาลมีกลไกต่างๆ ที่จะคอยปกป้องคุ้มครองเสถียรภาพ กระบวนการที่จะล้มรัฐบาลด้วยกติกาปกติจึงมีความยากลำบากมาก ฝ่ายค้านเองก็ยอมรับว่าทำได้เพียงแค่นำเสนอข้อมูลให้ประชาชนเห็นความล้มเหลวเท่านั้น เพราะกลไกที่มีอยู่ทำให้ไม่มีทางที่จะล้มรัฐบาลได้ จึงไม่มีทางอื่นนอกจากทำให้เกิดขบวนการที่ว่า 1.การเมืองในระบบทำงานไป พรรคเพื่อไทยก็อธิบายไม่ไว้วางใจไป เพื่อเห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาล ในขณะเดียวกัน ขบวนการวิ่งไล่ลุงก็ทำให้คนสนใจติดตามการเมืองต่อไป เพื่อที่จะไปโยงกันว่า ถ้ากระแสประชาชนรู้สึกคับข้อง อึดอัด รู้สึกถึงสภาพความล้มเหลวของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่จะนำไปสู่การลงถนนจริงๆ ก็มีความเป็นไปได้ 2.ชนวนนี้จะนำไปสู่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่า คือหากเห็นกระแสการวิ่งไล่ลุงและเห็นความล้มเหลของการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้าน ก็อาจจะมีคนจำนวนมากที่เคลื่อนไหวในลักษณะปัจเจก เช่น เอาป้าย เอากระดาษมาแปะตามรถ ตามบ้านในลักษณะเดียวกันทั้งประเทศ ก็เป็นสัญญาณถึงรัฐบาลได้โดยตรง

ช่วงเวลาอันใกล้อาจจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นอกจากว่า 1.ฝ่ายค้านสามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วรู้สึกโดนใจ เพราะเป็นการเปิดข้อมูลใหม่ให้ประชาชนรู้ หรือ 2.พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรค ทำให้คนสนใจและตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น บวกกับกระแสวิ่งไล่ลุงที่จุดเอาไว้ก่อน แต่เดินเชียร์ลุง ส่วนตัวประเมินว่าเป็นการจัดตั้งจากกลไกที่รัฐบาลมีอยู่มากกว่า เพื่อให้เห็นว่ามีคนเชียร์ลุงด้วยแต่ไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการของคนอย่างแท้จริง

ในทุกประเด็นสาธารณะอยากให้มีกิจกรรมเช่นนี้อย่างหลากหลาย เพื่อสะท้อนการเคลื่อนไหวอย่างมีปัญญา อย่างแหลมคมต่อผู้มีอำนาจ ไม่เฉพาะเรื่องนี้ แต่หมายรวมทุกเรื่องที่ประชาชนรู้สึกไม่พอใจหรือเห็นผลพวงทางลบ ประชาชนก็มีสิทธิแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองที่หลากหลาย ที่สนุกสนาน มีการเคลื่อนไหวอย่างมีความสุข แต่เป็นการเคลื่อนไหวอย่างมีนัยยะประชดประชันต่อรัฐบาล แสดงความไม่พอใจ แต่ไม่ก้าวไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ไม่ก้าวไปสู่ความรุนแรง เรียกว่าเป็นการเคลื่อนไหวของสังคมแนวใหม่ (New Social Movement) ซึ่งต่างประเทศก็เกิดขึ้นจำนวนมาก โดยไม่ได้ปรารถนาการโค่นรัฐบาล แต่ต้องการส่งสัญญาณถึงความไม่พอใจ ไม่เห็นด้วยในการทำงานของผู้มีอำนาจเพื่อให้เขากลับมาทำงานในครรลองปกติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image