สถาบันสิทธิฯมหิดล ออกแถลงการณ์จี้รัฐบาลเลิกตั้งข้อกล่าวหาคนรณรงค์ประชามติ ยันไม่ขัดกฎหมาย-ห่วงเลือกปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ออกแถลงการณ์ เรื่อง “การรณรงค์ประชามติและเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน สามารถกระทำได้ โดยไม่ควรมีการตั้งข้อหาว่าชุมนุมทางการเมือง”  โดยเห็นว่า การจับกุมสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ กลุ่มบุคคลทั่วไปจำนวน 13 คน ขณะทำการแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ตลาดเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งการจับกุมนักศึกษากลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ซึ่งจัดกิจกรรม “24 มิถุนายน ปัดฝุ่นประชาธิปไตย” บริเวณอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ จะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อบรรยากาศการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ควรเป็นไปอย่างเสรีและเที่ยงธรรม จึงขอให้ฝ่ายความมั่นคงทบทวนการปฏิบัติ ด้วย 4 เหตุผลดังนี้

1. ประชาชนควรมีสิทธิแสดงออกถกเถียงเกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 การรณรงค์ถือเป็นการเผยแพร่ความคิดเห็นรูปแบบหนึ่ง สามารถทำได้ เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย

2. การแจกเอกสาร สวมเสื้อ พูดคุย และวิธีการอื่น โดยมิได้มีการข่มขู่คุกคาม ย่อมไม่ขัดต่อบทบัญญัติตามมาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ดังกล่าว

3. การรณรงค์ประชามติไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง เพราะไม่ได้มุ่งหวังลดทอนให้มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจ การใช้อำนาจดังกล่าวจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง กลายเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว แทนที่จะเป็นการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก่อนวันตัดสินใจลงคะแนน และ

Advertisement

4. ผู้รณรงค์ประชามติมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หากเจ้าหน้าที่เลือกตั้งข้อกล่าวหาที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงกับเฉพาะฝ่ายที่เห็นต่าง ก็จะเป็นการเลือกปฏิบัติและนำไปสู่ความไม่เที่ยงธรรม อย่างไรก็ตาม ทางสถาบันฯขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจพิจารณายกเลิกการตั้งข้อหาผู้รณรงค์ประชามติ ฐานขัดคำสั่งคสช. เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และให้ประกาศอย่างชัดเจนว่า การรณรงค์ประชามติสามารถทำได้ เท่าที่ไม่ขัดกับมาตรา 61 ของ กฎหมายประชามติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image