รองประธานสนช.ยัน ‘สุเทพ’ เฟซบุ๊กไลฟ์รับร่างรธน.ได้ เพราะไม่ขัดคำสั่งคสช.ชุมนุมเกิน 5 คน แต่ต้องไม่ชี้นำ

พีระศักดิ์ พอจิต-แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปท.) แกนนำกปปส.ออกมาพูดถึงสาระร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมบอกว่า จะรับร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ว่า นายสุเทพทำคนเดียวหรือไม่ ถ้าทำคนเดียวก็ทำได้ เพราะไม่ขัดคำสั่งคสช.ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน กรณีนี้ถือเป็นเสรีภาพตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 ที่ให้แสดงความเห็นที่ตรงกับข้อเท็จจริงตามร่างรัฐธรรมนูญ และต้องไม่จูงใจให้ใครไปใช้สิทธิรับหรือไม่รับ เพราะนั่นถือเป็นการชี้นำ ดังนั้น อยากฝากประชาชนว่า อย่ากังวล และอย่าดูเพียงมาตรา 61 วรรคสองเท่านั้น เพราะ มาตรา 7 ให้เสรีภาพอยู่ ทั้งนี้ กฎหมายประชามติ เป็นกฎหมายอาญาประเภทหนึ่ง จึงต้องมีเจตนากระทำผิด ถ้าไม่มีเจตนาจะไม่มีโทษ จึงขอให้กำลังใจ ครู ก. ครู ข. และครู ค.ที่ทำหน้าที่ชี้แจงสาระสำคัญของคำถามพ่วงประชามติอยู่ในขณะนี้

เมื่อถามว่า เหตุใดนปช.ถึงเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการช่วย กกต.ในการทุจริตในระหว่างการทำประชามติ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า อยู่ที่การตีความของผู้รักษากฎหมาย ซึ่งคสช.มองว่า ศูนย์ปราบโกงฯเป็นการชุมนุมทางการเมืองชัดเจน ดังนั้น ถ้ามีคนทำผิดแล้วรัฐไม่ดำเนินการจะถือเป็นการละเว้น จึงต้องเอาผิด ส่วนคนที่มองว่าทำไมนายสุเทพทำได้ แต่แกนนำนปช.ทำไม่ได้ คงเป็นการเข้าใจผิด เพราะรัฐมีหน้าที่รักษากฎหมาย ต้องไม่ 2 มาตรฐานว่า คนนั้นทำได้ อีกคนห้ามทำ ดังนั้นจึงต้องดูว่าอีกฝ่ายทำอย่างไรถึงทำได้ ขณะที่ฝ่ายทำอย่างไรถึงทำไม่ได้ ทั้งนี้ การที่มีหลายฝ่ายมองว่า บรรยากาศก่อนการทำประชามติที่ฝ่ายทางการเมืองออกมาเคลื่อนไหวกันมาก อาจไม่เอื้อต่อการให้ประชาชนออกมาใช้สิทธินั้น ตนเชื่อว่า รัฐบาล คสช. กกต. กรธ.จะร่วมกันดูแลให้บรรยากาศมันราบรื่นจนผ่านไปได้

เมื่อถามว่า ถ้าแกนนำนปช.หรือฝ่ายอื่นๆ จะออกมาเฟซบุ๊กไลฟ์เพียงคนเดียวทำได้ใช่หรือไม่ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ทำได้ ถ้าไม่มีลักษณะของการชี้นำหรือปลุกระดมที่เข้าข่ายผิดมาตรา 61วรรคสอง ของกฎหมายประชามติ

นายพีระศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยมาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติฯ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญคงจะวินิจฉัยไม่เกินคำขอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ถ้าหากชี้ว่า ขัดก็จะขัดเฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง ไม่ใช่ขัดทั้งฉบับ และจะไม่มีผลจนต้องเลื่อนวันประชามติอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่า คงไม่มีการนำกลับมาที่สภาฯเพื่อออก พ.ร.บ.ประชามติฯ ฉบับใหม่ เพราะจะไม่ทันวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ดังนั้น จึงเชื่อว่า นายกฯมีทางออก ซึ่งอาจจะใช้คำสั่ง คสช.ดำเนินการตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กรอยู่แล้ว อีกทั้งวิธีดังกล่าวยังมีความรวดเร็วด้วย อย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ตัดมาตรา 61 วรรคสองจะถือเป็นบกพร่องในการออกกฎหมายของ สนช.หรือไม่นั้น คิดว่าเรื่องดังกล่าวก็คงต้องรับผิดชอบร่วมกัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image