รายงานหน้า 2 เสียงสะท้อนผ่านงบ’63 ใช้เงินอย่างไรให้คุ้มค่า

 

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการและนักธุรกิจ กรณีสภาผู้แทนราษฎรผ่านงบประมาณรายจ่ายปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ด้วยมติ 253 เสียง ต่อ 0 เสียง

ชัยธวัช เสาวพนธ์
อดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)
ในฐานะนักวิชาการอิสระ

Advertisement

ภาพรวมการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลดีกว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยอมหั่นงบกลางมาให้กระทรวง ทบวง กรม มากขึ้น แต่ยังไม่ถูกใจทั้งหมด เนื่องจากงบส่วนใหญ่ยังเป็นของกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย เป็นฝ่ายความมั่นคงจำนวนมาก โดยเฉพาะงบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีราคาแพง แต่เป็นห่วงเรื่องประสิทธิภาพและความคุ้มค่า

นอกจากนี้ ทางเศรษฐกิจยังประสบปัญหาค่าเงินบาทแข็ง มีเงินคงคลังเหลือมาก จึงอยากให้ลงทุนภูมิภาค และท้องถิ่นมากขึ้น โดยกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศกว่า 8,000 แห่ง โดยจัดสรรงบประมาณตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดจัดสรรให้ 35% โดยเฉพาะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งมวลชน สนามบิน แหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม พร้อมถ่ายโอนโรงเรียนไปสังกัดท้องถิ่นมากขึ้น ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมุ่งลงทุนพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นหลัก มูลค่า 200,000-300,000 ล้านบาท/ปี อาทิ สนามบิน รถไฟฟ้า ทำให้การพัฒนากระจุกตัว

ที่สำคัญรัฐบาลต้องลงทุนด้านพลังงานสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงเพื่อลดมลพิษ อาทิ ฝุ่นควัน PM 2.5 การวิจัยพบว่าเกิดจากการเผาไหม้เครื่องยนต์ดีเซลถึง 75% พร้อมพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเป็นหลัก อาทิ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ชลบุรี พร้อมควบคุมไฟป่าที่เกิดหมอกควันและฝุ่นละอองที่เกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และท่องเที่ยวอย่างมาก โดยเฉพาะภาคเหนือที่มีนักท่องเที่ยวลดลงกว่า 50% ด้วย”

Advertisement

บุญทา ชัยเลิศ
รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
แห่งประเทศไทย ฝ่ายอาเซียนสัมพันธ์
ในฐานะนักวิชาการอิสระ

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด แต่เป็นกระทรวงที่หารายได้เข้าประเทศมากที่สุด หลายรัฐบาลไม่ค่อยให้ความสำคัญท่องเที่ยว หรือรัฐมนตรีที่มากำกับดูแลกระทรวง ไม่เข้าใจบริบท จึงไม่ได้ส่งเสริมและพัฒนาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง แถมยังดึงงบประมาณไปอยู่งบกลางรวมกว่า 200,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโยบายรัฐบาล อาทิ ชิมช้อปใช้ เงินดังกล่าวไหลอยู่กับบริษัทหรือห้างยักษ์ใหญ่กว่า 90% เป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลแทน ท้องถิ่นและชุมชนได้รับประโยชน์ 10% เท่านั้น

สมัยตนเป็นนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เคยทำแผนโครงการส่งเสริมพัฒนาท่องเที่ยวจังหวัด 36 โครงการ รวมกว่า 10 ล้านบาทหลังผ่านการพิจารณาอนุมัติแล้ว งบประมาณดังกล่าวทางจังหวัดขอไปใช้ในงานอีเวนต์ อาทิ งานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ งานป๋าเวณีปีใหม่เมือง และงานประเพณีเดือนยี่เป็งแทน ไม่ได้นำมาส่งเสริมพัฒนาท่องเที่ยวจังหวัดแท้จริง อยากให้มีงบประมาณพัฒนาเมืองหลักภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดทราบว่าคณะกรรมการพัฒนาท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ได้เสนอของบประมาณส่งเสริมพัฒนาท่องเที่ยวจังหวัดปี 63 จำนวน 89 ล้านบาทแต่ได้รับการพิจารณาอนุมัติเพียง 8 ล้านบาทเท่านั้น บางส่วนนำไปใช้จัดงานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ ถึง 5 ล้านบาท เหลือเพียง 3 ล้านบาท เพื่อใช้ส่งเสริมพัฒนาท่องเที่ยวจังหวัดเท่านั้น ทั้งที่ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 11 ล้านคน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 120,000 ล้านบาท การส่งเสริมพัฒนาท่องเที่ยวจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นผู้สนับสนุน ไม่ใช่งบรัฐบาลหรือจังหวัดอย่างใด

 


สุขม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

ความสัมฤทธิผลในการใช้งบประมาณเป็นเรื่องที่ต้องรอ โดยเฉพาะความหวังจากการพัฒนาระบบเศรษฐกิจถือเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลนี้ และ รัฐบาลก็ตั้งความหวังว่าหลังจากมีการใช้งบใหม่เศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ถ้าดูตามสถานการณ์ถือว่าเป็นงานหนัก เนื่องจากการใช้งบไปเน้นด้านความมั่นคง ผมอาจจะมองโลกในแง่ร้าย เพราะการจัดทำงบประมาณครั้งนี้รัฐบาลอาจจะทำไม่ได้อย่างที่แถลงไว้ แล้วในที่สุดปัญหานี้จะทำให้ประชาชนที่รู้สึกผิดหวังอยู่แล้ว อาจจะหมดหวัง

ที่สำคัญอย่าไปอ้างว่างบนี้ สนช.ทำไว้แล้ว แต่เมื่อผ่านสภาก็ต้องถือว่าเป็นของรัฐบาลนี้ที่ทำงานแล้ว 5 เดือน นายกรัฐมนตรีก็บอกเองว่าอย่าไปพูดถึง 5 ปีที่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลจะต้องมีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ และถ้ากลับตัวทันจากการตั้งกลางหรืองบฉุกเฉินที่สูง หากเอาไปใช้ในด้านเศรษฐกิจให้ขยายตัว ก็อาจจะกอบกู้ความศรัทธาของประชาชนกลับมาได้ แต่ถ้าปีนี้เศรษฐกิจยังเหมือนเดิม เหมือนเมื่อ 5 ปีก่อนที่ยังหลอน ทำให้เห็นว่าหลังการเปลี่ยนโครงสร้างรัฐบาลแล้วก็ไม่สามารถทำให้ประชาชนประสบความสำเร็จด้านชีวิต ความเป็นอยู่

การเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวขุนพลเศรษฐกิจมาจากความไม่เป็นเอกภาพของทีม ถ้าประเมินแล้วมีถึง 4 ฝ่ายในแง่ของพรรคการเมืองไปหลายทิศทาง แม้นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธาน แต่ความรู้เรื่องเศรษฐกิจของท่านยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ จึงได้เห็นการใช้งบด้านความมั่นคงมากกว่าแก้ไขปัญหาปากท้องเร่งด่วน อย่าทำให้ประชาชนยากลำบากหรือล้มเหลวจากภาวะทางสังคมมากไปกว่านี้

ถ้าดูจากงบ 3.2 ล้านล้านบาท พบว่ามีรายจ่ายประจำมากกว่างบพัฒนา การพูดถึงการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อลดจำนวนเจ้าหน้าที่ภาครัฐยังไม่มีใครพูดถึง เพราะอย่าลืมว่ารัฐบาลชุดนี้เหมือนตัวแทนของระบบราชการ ในส่วนของนายกรัฐมนตรีก็ถือเป็นตัวแทนของรัฐข้าราชการอย่างชัดเจน แล้วที่ผ่านมาข้าราชการหลายหน่วยงานก็ออกมาเรียกร้องค่าตอบแทนหลายประเภทเพิ่มเติมอีก แต่ในเวลาเดียวกันชาวบ้านยังมีปัญหาเรื่องรายได้ คนตกงาน สินค้าเกษตรราคาตกต่ำและกำลังจะเผชิญกับวิกฤตภัยแล้ง แล้วสิ่งที่ผมอยากเห็นหลังการใช้งบปีนี้ สิ่งแรกต้องการให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมากขึ้น มากกว่าเรื่องอื่น ขณะที่รัฐบาลออกมาแสดงความมั่นใจว่าแก้ไขได้ และการทำงบปีหน้าคงจะต้องขอให้ปรับลดงบความมั่นคงลงมากกว่านี้เพื่อทำให้ประชาชนมีความรู้สึกที่ดีมากขึ้น จากการใช้งบเพื่อปากท้องมากกว่าการสะสมอาวุธ

สติธร ธนานิธิโชติ
ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรม
เพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

ภาพรวมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ใช้เวลาในการพิจารณาถึง 4 วันนั้นถือว่านานไป เพราะกระบวนการและขั้นตอนในการพิจารณาวาระ 1 ได้มีการอภิปรายไปพอสมควรแล้ว และคิดว่าอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การพิจารณาใช้เวลานานน่าจะเพราะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบเสียงข้างน้อยสงวนคำแปรญัตติไว้ คือสามารถคุยกันได้ตั้งแต่ในชั้น กมธ.ตอนหน่วยงานมาชี้แจง เพราะขั้นตอนนี้ควรเน้นที่เนื้อหาไฮไลต์ ไม่ควรอภิปรายรายละเอียดเยอะเกินไป ควรเจาะไปที่หน่วยงานสำคัญๆ ก็ได้

แต่ภาพรวมถือว่าใช้เวลาคุ้มค่า ประชาชนได้ความรู้ เพียงแต่เวลาจำกัด และการอภิปรายยืดเยื้อ ประชาชนก็อาจเหนื่อยล้าได้ สาระเยอะได้ประโยชน์ แต่ก็อาจจะรับไม่ไหว ควรมีประเด็นไฮไลต์ รายละเอียดเยอะเกิน รับไม่ไหวในการบริโภคข้อมูลเยอะๆแบบนี้

ผู้อภิปรายหลายคนเตรียมจัดทำข้อมูลมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการเห็นว่าการตั้งงบประมาณของบางหน่วยงานมีความซ้ำซ้อนกัน หรือว่าสูงเกินไปหรือเกินความจำเป็น ถือว่ามีการทำการบ้านมาดีในแง่ของเนื้อหาข้อมูล แต่อาจจะติดเรื่องการขยายความเยอะไปและมีการพาดพิงตัวบุคคลอื่น และหลายๆ เรื่องสามารถพูดคุยกันในชั้นกรรมาธิการได้

ส่วนเสียงที่เห็นชอบจำนวน 253 เสียง หากดูตัวเลขรัฐบาลก็คงเหนื่อยหน่อยในการควบคุมเสียง ถือว่าอยู่ในระดับที่รัฐบาลต้องทำงานหนัก ไม่ใช่งานง่าย ส่วนคะแนนเสียงประมาณนี้จะมีผลต่อการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่กำลังจะมาถึงหรือไม่ ก็ถือว่าล่อแหลมอยู่เหมือนกันในแง่ความเสี่ยงอาจจะแพ้โหวตได้ หากฝ่ายค้านมีประเด็นดีๆ ที่สังคมเห็นว่าเป็นกระแสดี แล้วฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถฝืนกระแสต่อไปได้ อาจจะมีคนเปลี่ยนใจจากฝั่งรัฐบาลมาบวกให้ฝ่ายค้านก็ได้ คือไม่ได้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย


วิชิต ปลั่งศรีสกุล
นักวิชาการด้านกฎหมาย
สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น จ.ประจวบคีรีขันธ์

หลังจากงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ฝ่ายบริหารงบไปใช้จ่ายในกรอบที่นำเสนอตามแนวทางยุทธศาสตร์ 6 ด้านประกอบด้วย ด้านความมั่นคง ด้านความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาส่งเสริมศักยภาพทรัพยากรต่างๆ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม สร้างความเติบโตด้านคุณภาพชีวิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้งบเพื่อปรับสมดุลระบบบริหารจัดการภาครัฐ นอกจากนั้นในยุทธศาสตร์ 6 ด้านนี้ ยังมีแบ่งย่อยไปอีก 23 ประเด็น แบ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน 15 เรื่อง เพราะฉะนั้นการใช้งบก็ต้องทำตามกรอบที่กำหนดไว้ หากนำไปใช้นอกกรอบก็ขัดต่อกฎหมาย วิธีการใช้งบครั้งนี้ก็มีรายละเอียดมากพอสวมควร

แต่สิ่งที่ควรตั้งข้อสังเกตในการจัดสรรงบประมาณ มีการอ้างอิงถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังนั้นเรื่องเร่งด่วน 15 ประเด็น จึงน่าสนใจว่าจะทำได้ครบถ้วน รวดเร็วจริงหรือไม่ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาฝุ่นพิษใน กทม.บอกว่าเร่งด่วน แต่กำหนดในแผนไว้ 5 ปี ขณะที่การจัดการทรัพยากรน้ำช่วงภาวะวิกฤตภัยแล้งอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็ต้องเร่งรัดดำเนินการให้มีผลเป็นรูปธรรมจากตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ ทั้งที่รัฐบาลนี้ทำงานมา 5 ปี ใช้งบในการจัดการทรัพยากรน้ำต่อเนื่องทุกปี แต่ยังมีน้ำท่วม น้ำแล้ง น่าแปลกใจเป็นอย่างมากว่างบที่ใช้ไปแล้วมีประโยชน์จริงหรือไม่ ดังนั้นทุกฝ่ายควรร่วมกันตรวจสอบว่าหลังใช้งบปีนี้ปัญหาจะทุเลาลงหรือไม่และรัฐบาลจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร

สำหรับปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะดีขึ้นหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมากจากประเมินของนักวิชาการ เชื่อว่าหลังจากใช้งบปี 2563 แล้ว หลายเรื่องอาจมีการใช้งบไม่ตรงตามเป้าหมายเฉพาะหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องตรงๆ เชื่อว่าไม่น่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซึมยาวได้มากนัก เพราะการกำหนดยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นทีมข้าราชการนั่งคิดกันแค่บนโต๊ะ ไม่มีประสบการณ์ที่แท้จริงและไม่ได้ลงไปสำรวจหาแนวทางการปฏิบัติ เหมือนการวิเคราะห์เพื่อประกาศใช้นโยบายของพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นการใช้งบปีนี้คงไม่สนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง คำว่าสร้างโอกาส ความเสมอภาคทางสังคม ไม่ได้ตรงกับการแก้ไขปัญหาปากท้อง

ส่วนความสามารถในการแข่งขันก็ไปพัฒนาด้านการเกษตร เป็นเรื่องที่คิดกันมานานแล้ว เรื่องแหล่งท่องเที่ยวก็พูดกันมานาน แต่ไม่ได้มีอะไรใหม่เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ เหมือนการสร้างเมืองไอที หรือ สร้างมหาวิทยาลัยอัจฉริยะในจังหวัดที่มีความพร้อมก็ไม่คืบหน้า และสิ่งที่น่าจับตามองมาจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะระดมแนวคิดเพื่อให้การทำงานมีเอกภาพยังไร้ทิศทาง ประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่ได้ฝากความหวังไว้ว่าจะพึ่งพาได้ เพราะทีมเศรษฐกิจขณะนี้ก็เหมือนเมื่อ 5 ปีที่แล้วหลังการทำรัฐประหาร 5 ปีผ่านมา ทีมนี้ยังเหมือนเดิม ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจให้เห็นชัดเจนจากการเอาเงินไปแจกประชาชนโดยไม่มีหลักการคิดในการพัฒนา และหากการใช้จ่ายงบคราวนี้ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของประชาชนปัญหาเศรษฐกิจในประเทศน่าจะเลวร้ายมากกว่าเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image