สถานีคิดที่ 12 : ‘วิ่งไล่ลุง-เดินเชียร์ลุง’ : โดย ปราปต์ บุนปาน

กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” และ “เดินเชียร์ลุง” อาจมีความหมายภายใน-ลักษณะอาการภายนอก ที่ผิดแผกแตกต่างกันหลายประการ
ทว่าทั้งสองกิจกรรมต่างก็มีจุดร่วมเดียวกันอยู่หนึ่งประการ อันไม่อาจปฏิเสธได้

ชัดเจนว่างาน “วิ่งไล่ลุง” คือ กิจกรรมการเคลื่อนไหวของแนวร่วมประชาชน ซึ่งต่อต้านรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ

แม้จะมีนักการเมืองซีกฝ่ายค้านไปร่วมวิ่งหรือแสดงจุดยืนสนับสนุน แต่แกนนำและผู้ร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่นั้นคือประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษารุ่นใหม่และคนวัยทำงาน

งาน “วิ่งไล่ลุง” พลันมีความหมายและทรงพลังได้ก็ต่อเมื่อเกิดแนวโน้มว่าเสียงที่เป็นตัวแทนโดยชอบธรรมของบรรดาผู้เข้าร่วมกิจกรรม อาจไม่มีที่ทางในสถาบันการเมืองกระแสหลัก หรืออาจถูกกีดกันเบียดขับออกจากระบบการเมืองปกติ

Advertisement

ด้วยสภาวะ “อปกติ” ข้างต้น การเคลื่อนไหวนอกสภานอกทำเนียบ-การร่วมกลุ่มในพื้นที่สาธารณะ (แต่ยังไปไม่ถึงขั้นการชุมนุมทางการเมืองบนท้องถนน) จึงกลายเป็นกลยุทธ์ที่มีความจำเป็น

เพื่อทดแทนพื้นที่การแสดงออกในสถาบันการเมืองที่อาจพร่องหายไปในอนาคตอันใกล้

พูดอีกอย่างได้ว่า กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” นั้นมีความสำคัญขึ้นมา ในบริบทที่โครงสร้างทางการเมืองยุคปัจจุบัน คล้ายจะไม่สามารถรองรับเจตจำนง-ความปรารถนาของผู้คนในสังคมการเมืองได้อย่างครบถ้วนกระบวนความ

Advertisement

ในทางกลับกัน กิจกรรม “เดินเชียร์ลุง” ก็มีประชาชนอีกฟากฝั่งเข้าร่วมด้วยอย่างแน่นอน ขณะที่แกนกลางหลัก คือ ผู้มีชื่อเสียงและกลุ่มก้อน ซึ่งแสดงตัวว่าสนับสนุน คสช. พล.อ.ประยุทธ์ ตลอดจนพรรคพลังประชารัฐ มาต่อเนื่องยาวนานพอสมควร

ในแง่รูปลักษณ์ภายนอก ใครๆ ต่างก็เห็นว่างาน “เดินเชียร์ลุง” นั้นแตกต่างจากงาน “วิ่งไล่ลุง”

แต่ที่น่าสืบหาค้นคว้าคือ อาการ-ความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ตรงพื้นฐานการก่อกำเนิดของกิจกรรม “เดินเชียร์ลุง”

ถ้า “รัฐบาลของลุง” แข็งแกร่ง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัดจับต้องได้ และสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม กิจกรรมในวันหยุดเช่น “วิ่งไล่ลุง” ย่อมไม่สามารถทำอะไรลุงและรัฐบาลได้เลย

แต่เมื่อ “รัฐบาลของลุง” เหมือนจะมีอาการหวั่นไหว ยามเมื่อต้องเผชิญหน้ากับการเคลื่อนไหวนอกสถาบันการเมืองของประชาชนจำนวนไม่น้อย

กิจกรรม “เดินเชียร์ลุง” จึงต้องบังเกิดขึ้น

การมีอยู่ของงาน “เดินเชียร์ลุง” บ่งบอกว่าแม้โครงสร้าง-กฎกติกาทางการเมืองจะเอื้อประโยชน์ต่อลุงและพรรคพวกเพียงใด แม้เครื่องมือ-กลไก-กระบวนการปกป้องตนเองจะพร้อมสรรพขนาดไหน

แต่ถึงอย่างไรเสีย ลุงและรัฐบาลก็ต้องการเปลือกภายนอกมาช่วยห่อหุ้มป้องกันแรงกระแทก เป็นเปลือกอันเกิดจากการรวมตัวกันของ “ประชาชน” หรือเหมือนว่าจะเกิดขึ้นโดยการรวมตัวของ “ประชาชน”

ด้วยเหตุนี้ จุดร่วมสำคัญของกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” และ “เดินเชียร์ลุง” จึงอยู่ตรงสถานการณ์ความจำเป็นที่ผลักดันให้ “ประชาชน” ต้องออกมารวมกลุ่ม-เคลื่อนไหว-รณรงค์กันบนพื้นที่สาธารณะนอกสถาบันการเมือง

ซึ่งอีกด้านหนึ่ง ก็อาจบ่งชี้ให้เห็นถึง “ความไร้น้ำยา” ของโครงสร้างทางการเมือง ณ ปัจจุบัน
ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image