09.00: INDEX 2 ภาพ เดินเชียร์ลุง กับวิ่งไล่ลุง ภาพแห่งอดีต ภาพแห่งอนาคต

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ ว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ความสนใจเป็นอย่างสูงรวมศูนย์ไปยัง ณ สวนรถไฟ มากกว่าสวนลุมพินี

ไม่ต้องพูดถึงจำนวน 13,260 คน ที่ผ่านจุดคัดกรอง ประตู 1 ประตู 3 และประตู 4

รวมถึงจำนวน 6,000 ที่ยืนอยู่หน้าเวที

ไม่ต้องพูดถึงรายงานการคาดคำนวนจากสถานีวิทยุบีบีซีที่ให้จำนวนมากกว่า 10,000 อันถือได้ว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุด นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

Advertisement

เป็นจำนวนที่มากกว่าแฟล็ชม็อบเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ณ สกาย วอล์ก ปทุมวัน

หากที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือ เรื่องการบริหารจัดการ

ใครก็ตามที่ติดตามแต่ละถ้อยคำของแกนนำ “เดินเชียร์ลุง” ในระยะเวลาเดียวกัน ณ สวนลุมพินี จะจับบทสรุปในลักษณะรวบยอดได้อย่างเด่นชัด

Advertisement

เด่นชัดว่ากิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” เป็นเรื่องของเด็กๆ แม้กระทั่ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่มองว่าเป็นแกนนำก็ยังเป็นเด็กๆ

กระนั้น หากศึกษากระบวนการก่อรูปของกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ก็จะสัมผัสได้ในเรื่องการบริหารจัดการที่เริ่มจากการกำหนดเรื่องลงทะเบียน การกำหนดเรื่องเสียเงินเพื่อ “วิ่งไล่ลุง”

เป็นการลงทะเบียน “ออนไลน์” และตามมาด้วยเปิดให้ลงทะเบียน “ออฟไลน์”

นี่คือจำนวน 10,000 คนอันเป็นพื้นฐานของ “กิจกรรม”

ทุกอย่างของ “วิ่งไล่ลุง” สามารถวัดและประเมินผลได้อย่างมีประ สิทธิภาพและต่อยอดไปได้เป็นอย่างดี

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ มีความจำเป็นต้องนำเอากระบวนการบริหารจัดการของ “วิ่งไล่ลุง” ไปเปรียบเทียบกับ “เดินเชียร์ลุง”

คำถามก็คือ ปัจจัยอะไรทำให้ “เดินเชียร์ลุง” มีแต่คนสูงวัย

คำถามก็คือ ปัจจัยอะไรทำให้ “วิ่งไล่ลุง” เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน

ภาพเหล่านี้สะท้อน “อนาคต” ได้อย่างเด่นชัด

ภาพ “เดินเชียร์ลุง” เป็นลักษณะการโหยหาอดีต ภาพ “วิ่งไล่ลุง” เป็นการมองไปหา “อนาคต” มองไปข้างหน้าอย่างเปี่ยมด้วยความหวัง

นี่คือจุดต่างอย่างมีนัยสำคัญในทางความคิดในทางการเมือง

เป็นจุดต่างอันมองผ่านองค์ประกอบ เป็นจุดต่างอันมองผ่านภาพ ของคนที่เข้าร่วม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image