นักวิชาการเสนอไอเดีย ‘สกัดโกง’ แนะภาคปชช.มีส่วนร่วม ส่องงบกลาง 5 แสนล้าน

นักวิชาการเสนอไอเดีย ‘สกัดโกง’ แนะภาคปชช.มีส่วนร่วม ส่องงบกลาง 5 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม นายยุทธพร อิสระชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เปิดเผยว่า หลังจากกระบวนการงบประมาณมีการจัดทำงบประมาณ การอนุมัติงบประมาณ การบริหารและการติดตามประเมินผล โดยช่วงของการบริหารและการติดตาม จะต้องเกิดขึ้นหลังสภาเห็นชอบ ดังนั้นระบบราชการจะต้องนำไปขับเคลื่อน แม้ว่าในกฎหมายงบประมาณมีการกล่าวถึงงบกระตุ้นเศรษฐกิจ งบแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ แต่กระบวนการงบประมาณในประเทศไทยยังมีลักษณะจากบนสู่ล่างมาโดยตลอด เพราะมีโครงสร้างรัฐแบบรวมศูนย์ ขณะที่กลไกการทำงบไม่ได้ล้าหลัง แต่ล่าสุดมีการใช้งบประมาณแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ตามยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ และในรัฐธรรมนูญกำหนดให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แต่เมื่อนำไปปฏิบัติก็จะมีปัญหาจากกลไกของรัฐราชการ

“ปัญหาใหญ่จึงอยู่ที่ขั้นตอนการบริหารงบประมาณ และการตรวจสอบติดตาม แต่กลายเป็นว่าการติดตามงบภายใต้กลไกรัฐรวมศูนย์อำนาจ สุดท้ายทุกอย่างก็ถูกกำหนดมาจากรัฐบาล กระบวนการที่จะมีภาพสะท้อนมาจากล่างขึ้นมาสู่บน จากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะต้องมีความสมดุลในรูปแบบงบประมาณ 3 มิติ ทั้งอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานในระดับพื้นที่ วาระในเชิงนโยบาย และในเชิงของพื้นที่ที่มีปัญหาเป็นการเฉพาะ ซึ่งไม่เหมือนกันเรื่องเหล่านี้ไม่ถูกสะท้อนขึ้นมาเพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาลงไปสู่ประชาชนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้รับเสียงสะท้อนอย่างแท้จริงไม่เกิดขึ้น ที่สุดงบปีนี้ก็คล้ายกับงบปีก่อนๆ โดยเฉพาะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ สุดท้ายปลายทางงบก็ไปตกอยู่กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ไม่กี่กลุ่ม เศรษฐกิจก็ยังเป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรังต่อไป แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจในระดับมหภาคจะดีดู แต่ประชาชนอาจรู้สึกว่าเศรษฐกิจฝืดเคืองเหมือนเดิม” นายยุทธพร กล่าว

นายยุทธพร กล่าวอีกว่า สำหรับการประเมินตัวชี้วัดจากผลสัมฤทธิ์ หลังการใช้งบควรมีความเข้มข้นในกระบวนการตรวจสอบ เพราะการติดตามตรวจสอบในปัจจุบันจะใช้ขั้นตอนการกำกับทางการเมือง และ ทางกฎหมาย ในทางการเมืองการกำลังจริงจังเป็นไปได้ยาก เพราะในสภารัฐบาลมีเสียงข้างมาก และกลไกการตรวจสอบทางการเมืองจะเข้าไปตรวจสอบเรื่องของงบกลาง งบลับ ทำให้เห็นว่าขั้นตอนในการผ่านงบ รัฐบาลนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญแม้จะมีผู้อภิปรายอย่างมากมาย ส่วนการตรวจสอบทางกฎหมายจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงบประมาณ ป.ป.ช. การคอร์รัปชั่นหลายครั้งที่ผ่านมาไม่มีใบเสร็จ โดยเฉพาะงบประมาณในปีนี้เป็นงบประมาณประจำปี ที่มีงบกลางมากที่สุดถึง 5 แสนกว่าล้านบาท รวมถึงงบลับอีกบางส่วน งบดังกล่าวการใช้จ่ายมีช่องว่างในการทุจริต มีผลประโยชน์ทับซ้อนได้ง่าย เพราะงบกลางสามารถใช้ไปก่อนแล้วมารายงานทีหลังน่าเป็นห่วงกลไกทางกฎหมายจะเข้าถึงเรื่องเหล่านี้หรือไม่

“อีกประการที่ควรต้องส่งเสริมการติดตามงบประมาณจากการตรวจสอบโดยภาคประชาชน วันนี้ยังไม่มีกลไกเรื่องนี้ ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้มีสภาตรวจสอบภาคประชาชนที่สุ่มจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายของรัฐบาล ถือเป็นการตรวจสอบทางตรง ไปเรียนรู้การบริหารงานของรัฐบาล ขณะที่ไทยยังมีช่องว่างในการตรวจสอบเพราะไม่มีการกำหนดกลไกที่ยึดโยงกับประชาชน

Advertisement

สำหรับการทำงบประมาณปี 2564 เชื่อว่าสัดส่วนงบจะเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดัชนีผู้บริโภค แต่การตรวจสอบถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นควรมีกลไกที่มีการกระจายอำนาจทางงบประมาณ มีการส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่การจัดงบประมาณ และมีกลไกจากสภาตรวจสอบภาคประชาชน“ นายยุทธพร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image