รายงานหน้า 2 : ส่อง‘วิ่งไล่-เดินเชียร์’ลุง นักวิชาการแนะรัฐบาล ดับชนวนม็อบชนม็อบ

หมายเหตุความคิดเห็นจากนักวิชาการประเมินถึงกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” กับ “เดินเชียร์ลุง” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ว่าจะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างม็อบ 2 ฝ่ายหรือไม่

จตุพร พรหมพันธุ์
ประธาน นปช.

วิ่งไล่ลุงประกาศชัดเจนว่าจะมีกิจกรรมครั้งต่อไปที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เข้าใจว่าแต่ละจังหวัดก็คงจะจัดวิ่งคู่ขนาน ส่วนเดินเชียร์ลุงก็ประกาศถ้ามีการเคลื่อนไหววิ่งไล่ลุงก็จะสำแดงตน ออกมาทำกิจกรรมเช่นเดียวกัน ถ้ากลไกรัฐยังไม่หยุดในการเข้าไปสนับสนุนหรือเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อเป็นคู่กรณี ปัญหาจะไม่มีทางจบ แต่สิ่งที่ต้องชมเชยเหตุการณ์เมื่อวันที่ 12 มกราคม คือการอำนวยความสะดวก ไม่มีการขัดขวาง แม้ว่าจะมีการตรวจตราบ้าง แต่ไม่เป็นอุปสรรค แต่วิธีปฏิบัติก็ไม่เหมือนกับขบวนการเดินเชียร์ลุง ซึ่งไม่มีการตรวจสอบเหมือนฝ่ายแรก

Advertisement

ทุกอย่างคือปรากฏการณ์เริ่มต้น อาจจะวิวัฒนาการไปตามลำดับตามสถานการณ์ของความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ประชาชนที่เดือดร้อนจะแห่มาร่วมกับการวิ่งไล่ลุงมากขึ้น ส่วนการเดินเชียร์ลุงถ้าเป็นด้วยกลไกของรัฐหรือบุคคลที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จริงๆ เข้ามาร่วมผสมกัน ก็จะมีความเติบโต และอาจจะกระทบกระทั่งเมื่อขนาดมวลชนแต่ละฝ่ายโตขึ้น ถ้ามีการวิ่งไล่ลุงแล้วมีการจัดแบบคู่ขนานก็หนีการกระทบกระทั่งกันไม่ออก

แต่ถ้ารัฐยอมรับความจริงว่าการวิ่งไล่ลุงเป็นสิทธิเสรีภาพ รัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวก และไม่มีความประสงค์จะไปสนับสนุนการเดินเชียร์ลุง รัฐก็สามารถยืดเวลาไปได้อีกระยะ เพราะต้องยอมรับความจริงว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาปากท้องได้ รวมทั้งภัยแล้งที่สาหัส แล้วถ้าการอภิปรายไม่ไว้วางใจใช้ข้อมูลแบบเนื้อๆ พุ่งตรงเป้าถึงประเด็นการทุจริต การเติบโตของฝ่ายที่ไม่เอารัฐบาลจะโตมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการจัดระยะห่างของมวลชนทั้ง 2 ฝ่ายรัฐต้องทำหน้าที่ แต่ไม่ใช่เป็นคู่กรณี

แต่ของจริงคือคนที่เดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ถ้าเห็นว่ารัฐโกงด้วย จะเกิดการผสมโรงครั้งใหญ่ เพราะฉะนั้นอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะคิดอย่างไร ถ้าคิดว่าใช้ความสามารถทุกวิถีทางแล้ว ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ แล้วท่านกล้าแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลาออก หรือจะทำคุณูปการด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้เรียบร้อยแล้วอำลา เชื่อว่าประชาชนจะปรบมือให้ เพราะฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ควรตัดสินใจในวันที่ยังไหว

Advertisement

หากรัฐบาลเลิกเดินเชียร์ การกระทบกระทั่งก็จะไม่มี แต่ถ้าฝ่ายรัฐไปจัดการเดินเชียร์ ฝ่ายวิ่งไล่ลุงจะขยายตัวอย่างมโหฬาร ไม่มั่นใจว่าในอนาคตหากมีสถานการณ์จะเอาอยู่กันหรือไม่ และจะไปถึงจุดหนึ่งบนกระดานอย่างไร ก็ต้องขีดเส้นใต้ไว้ที่การทำรัฐประหาร

ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ที่ผ่านมา การประท้วงหรือการแสดงความเห็นเรื่องผลงานรัฐบาลมีปัญหา เนื่องจากการไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตย ความจริงแล้วในทุกประเทศก็มีเรื่องการประท้วง การเดินขบวน การเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก เช่น การประท้วงฝรั่งเศสที่สามารถพบได้บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่มีปัญหาความขัดแย้งรุนแรงเหมือนที่เราเห็นในประเทศไทย นั่นเพราะเราปฏิเสธประชาธิปไตย พยายามให้ทหารเข้ามาแทรกแซง

หากปล่อยให้กิจกรรมวิ่งไล่ลุงและเดินเชียร์ลุงเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิแสดงความเห็นภายใต้กรอบกฎหมายที่เท่าเทียมกัน คิดว่าคงไม่เป็นปัญหา แต่เท่าที่เห็นคือหลายอย่างมีแรงกดดันจากรัฐ เช่น การกดดันกลุ่มกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในหลายๆ พื้นที่ รวมทั้ง จ.อุบลราชธานี ไม่ให้ใส่เสื้อวิ่งไล่ลุง นี่เป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน หากรัฐบาลยังดำเนินการในลักษณะนี้คิดว่าอาจนำไปสู่แรงกดดันที่ทำให้เกิดการปะทะกันได้ แต่คงไม่ใช่เร็วๆ นี้

เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ได้ไปสังเกตการณ์กิจกรรมวิ่งไล่ลุงใน จ.อุบลราชธานี พบว่ามีการห้ามใส่เสื้อวิ่งไล่ลุง โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นการตกลงไว้แล้ว ส่วนตัวมองว่าการตกลงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากแรงกดดันของรัฐบาล สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ไม่ต่างจากครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยวิธีรัฐประหาร เพราะประเทศยังเป็นแบบเดิม กล่าวคือยังใช้วิธีการบริหารประเทศโดยอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่ได้เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่่ผ่านการเลือกตั้งอย่างที่กล่าวอ้าง

หากทั้ง 2 ฝ่ายมีโอกาสทำกิจกรรมที่เท่าเทียมกัน อยู่ที่ว่าสังคมจะมองอย่างไร แต่ส่วนตัวมองว่าในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย การเห็นต่างเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย โดยที่รัฐต้องปฏิบัติต่อทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะความรุนแรงต่างๆ ในอดีตที่เราเห็นเกิดขึ้นจากการที่รัฐกดดัน หรือการไม่เปิดโอกาส รวมทั้งทหารเข้ามาแทรกแซงการเมือง

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

วิ่งไล่ลุง เป็นกิจกรรมกลุ่มคัดค้านรัฐบาล และต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่แสดงพลังและสะท้อนความรู้สึกเบื่อหน่าย กล้าแสดงออกเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สื่อถึงความหมายที่สำคัญ คือ ไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม หรือจำกัดวงเท่านั้น แต่ได้ขยายวงกว้างออกไปอีก ทั้งการชุมนุมในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่กล้าแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา เพื่อส่งสัญญาณไปยังรัฐบาล หรือผู้มีอำนาจอย่างชัดเจน พร้อมเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯลาออก และแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560

ส่วนฝ่ายเดินเชียร์ลุง ที่สนับสนุนรัฐบาลนั้น ส่วนตัวคิดว่าไม่มีปัญหา เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ เจ้าหน้าที่รัฐเอื้ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สนับสนุนรัฐบาล มากกว่าวิ่งไล่ลุงซึ่งมักห้ามปราม ข่มขู่ กดดัน หรือใช้กฎหมายมาเล่นงาน ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ

ที่สำคัญผู้จัดงานเดินเชียร์ลุง ควรระมัดระวังการจัดกิจกรรมดังกล่าว เพราะมีเจตนาจัดงานวันเดียวกัน แบบม็อบชนม็อบ ที่พัฒนามาเป็นกลุ่ม กปปส. หรือเสื้อเหลือง เพื่อต่อสู้กับกลุ่ม นปช.หรือเสื้อแดงมาก่อน จนเกิดสถานการณ์ลุกลามบานปลาย ขยายวงกว้างออกไปอีก ซึ่งลักษณะดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้อีก แต่เปลี่ยนรูปแบบชุมนุมในทางสร้างสรรค์มากขึ้น

สำหรับทางออกนั้น ควรมีพื้นที่ให้สองฝ่ายได้แสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ และชุมนุมอย่างสันติ ไม่ก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพซึ่งกันและกัน ภายใต้กฎกติกาเดียวกัน ไม่ชี้นำ ลำเอียง และเลือกปฏิบัติ

ที่สำคัญเจ้าหน้าที่รัฐต้องเลิกหรือยุติการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ไม่นำกฎหมายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง และทำลายฝ่ายคัดค้านหรือต่อต้านรัฐบาล

ถ้ายังไม่เปลี่ยนแปลง ในอนาคตอาจเกิดความแตกแยก เกลียดชัง แบ่งฝ่ายมากขึ้นกว่าเดิม เพราะฝ่ายที่ถูกกลั่นแกล้งรังแก ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกเลือกปฏิบัติ เป็นเวลาที่ยาวนาน คงไม่ยอมอีก อาจนำไปสู่ความรุนแรง หรือแตกแยกอีกครั้งได้

ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทั้งการวิ่งไล่ลุงและเดินเชียร์ลุงเป็นการแสดงออกการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบหนึ่ง ในความเป็นประชาธิปไตยนั้น คนสามารถออกมามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ การประท้วงก็คือการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ต้องไม่ไปกระทบสิทธิ หรือเกินเส้นของสิทธิที่จะกระทำได้

การมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่ดี แต่ถามว่าจะก่อให้เกิดการปะทะกันหรือไม่ มองว่าถ้าทุกคนเคารพกติกา เชื่อว่าไม่ไปถึงขั้นนั้น สิ่งที่ต้องระวังมากกว่าการที่ม็อบจะไปปะทะกันทางร่างกาย คือต้องระวังทางคำพูด หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กก่อน เพราะคำพูดหรือการปล่อยอะไรในโซเชียล ก่อให้เกิดความเกลียดชังกันได้

การออกไปประท้วงในสถานที่หนึ่ง ก็อยู่ในที่ของพวกเรา ก็เข้าไปฟัง ไปแสดงออกในสิ่งที่ต้องการ แต่การปะทะกันในโซเชียล ก่อให้เกิดความรุนแรงทางด้านวาจากันได้ และอาจจะลามไปที่ม็อบ นี่คือสิ่งที่น่ากลัวกว่า

อีกประเด็นหนึ่งคือ ทุกคนจะเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตคือคุณประท้วงได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขต ไม่เกิดความรุนแรง และไม่กระทบสิทธิคนอื่น อย่างหนึ่งคือพอประท้วงแล้ว จะต้องมีคนที่ได้รับผลกระทบจากการประท้วง เช่น ถ้ามีการปิดถนน กีดขวางเส้นทางจราจร คนจะเกิดความไม่พอใจ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต้องระวัง ไม่เช่นนั้นจะเป็นผลตีกลับไปที่ม็อบเอง แต่ถามว่ากระทบการเมืองหรือไม่ ประเด็นคือ ทุกคนเรียนรู้และควรรู้ว่าต้องอยู่ในขอบเขต

กรณีผู้จัดวิ่งไล่ลุงประกาศจัดต่อเนื่องอีกครั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ มองว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่สามารถทำได้ถ้าอยู่ในกรอบ เรามี พ.ร.บ.การชุมนุมทางการเมือง ถ้าทุกคนทำได้ภายในกรอบ แสดงออกอย่างไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบกับใคร ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน สามารถทำได้ อย่างน้อยการให้คนมีพื้นที่ในการแสดงความพอใจหรือไม่พอใจออกมา ทำให้คนไม่เก็บกด แล้วปล่อยออกมาทีเดียว คนเราต้องมีพื้นที่ในการแสดงออก ถ้าเราปิดพื้นที่การแสดงออก จะเป็นผลในเชิงลบ แต่การแสดงออกต้องอยู่ในขอบเขต

สำหรับการที่กลุ่มวิ่งไล่ลุงตั้งคำถามว่า เหตุใดได้รับการปฏิบัติ 2 มาตรฐานจากภาครัฐหากเทียบกับกลุ่มเดินเชียร์ลุง โดยมีผู้จัดถูกข่มขู่คุกคามโดยเฉพาะในต่างจังหวัดนั้น ต้องยอมรับว่าในการปฏิบัติมีความแตกต่างกัน ซึ่งจริงๆ แล้วควรต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน นี่เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจหรือรัฐบาลควรเอาใจใส่เรื่องนี้ให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นคนจะรู้สึกได้ และไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย

ปรากฏการณ์นำนกหวีดและอุปกรณ์ลายธงชาติที่เคยใช้ในการชุมนุม กปปส. เพื่อแลกเหรียญปราบกบฏในงานวิ่งไล่ลุง มองว่าเป็นเรื่องปกติ เมื่อเวลาผ่านไป คนได้รับข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ เกิดการประมวลข้อมูล ยิ่งในทางการเมือง บางครั้งความคิดของคนในช่วงหนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง พออีกช่วงหนึ่งมีเรื่องเข้ามา หรือได้เห็นอะไรในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ความเชื่อก็เปลี่ยนได้ จึงเป็นปรากฏการณ์ปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนเปลี่ยนไปในทางนี้ทั้งหมด จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ดีสำหรับรัฐบาลหรือคนที่เคยอยู่ฝั่งนี้ว่าเราทำอะไรไปแล้วคนเปลี่ยนใจได้

กรณีเดินเชียร์ลุงซึ่งปรากฏภาพและถ้อยคำบางอย่างที่ถูกตั้งคำถาม เช่น ส้มเน่า สตรอเบอรี่คางทูม และอื่นๆ มองว่าคนเรียนรู้ในการออกไปม็อบ แต่ยังไม่รู้จักการเรียนรู้ถึงคำว่า เฮตสปีช หรือการสร้างวาทกรรมความเกลียดชัง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่แต่ไม่ควรทำ ก่อนหน้านี้คนกังวลเรื่องเฟคนิวส์ แต่เฮตสปีช ยังไม่หายไปจากสังคมไทย ตรงนี้ต้องระวังทั้ง 2 ฝั่ง ส่วนตัวมองว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการหยิก หยอก ล้อ แต่ถ้าเลยไปถึงวาทกรรมความเกลียดชัง ต้องหยุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image