บุคลิกภาพเผด็จการ : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ผมเขียนงานชิ้นนี้ในคืนหลังจากวันเด็กแห่งชาติ เพื่อพยายามตั้งคำถามกับข้อกังวลในทุกๆ ปีว่าการที่กองทัพนั้นเปิดให้เด็กๆ ได้สัมผัสยุทโธปกรณ์ต่างๆ นั้นจะทำให้เด็กมีบุคลิกภาพเป็นเผด็จการจริงหรือไม่

รวมทั้งการถกเถียงเรื่องของคำขวัญวันเด็กที่มีลักษณะที่เป็นโอวาทวันเด็กที่เด็กพึงกระทำอย่างมิต้องโต้แย้งนั้นมันเป็นสิ่งที่จะทำให้ชาติมีอนาคตมากกว่าที่เป็นอยู่ไหม

ส่วนตัวผมไม่ได้รู้สึกว่าการที่กองทัพนั้นเปิดให้เด็กๆ เข้าชมยุทโธปกรณ์โดยตัวของมันเองจะทำให้เด็กนั้นเป็นเด็กที่ใฝ่เผด็จการโดยอัตโนมัติ

ผมเห็นว่าการที่กองทัพเปิดให้มีการเข้าชมยุทโธปกรณ์นั้นไม่ได้เป็นผลโดยตรงที่จะทำให้เด็กสนับสนุนกองทัพ โดยเฉพาะลามไปถึงการที่กองทัพนั้นเข้ามามีบทบาททางการเมืองในแบบที่ไม่ใช่วิถีประชาธิปไตย

Advertisement

ภาพรวมในการทำความเข้าใจในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดหน่วยทหาร แสดงยุทโธปกรณ์ และบุคลิกภาพของเด็กที่จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ฝักใฝ่เผด็จการ โดยเฉพาะเผด็จการทหารนั้นมีมากกว่าเรื่องของการเปิดให้เด็กได้เข้าชมยุทโธปกรณ์ของกองทัพ

ผมคิดว่าผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจพาเด็กไปชมยุทโธปกรณ์ และใส่เรื่องราวที่เกี่ยวกับเหตุผลว่าทำไมถึงพาเด็กไปชมยุทโธปกรณ์ ผมเดาว่าผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยเองก็อยากชมเช่นกัน

นอกจากนั้น ในหลายพื้นที่ในต่างจังหวัด ผมก็เห็นว่าไม่มีกิจกรรมอะไรที่อยู่ในสเกล (ระดับ) ที่น่าสนใจกว่าการได้เข้าไปเยี่ยมชมหน่วยทหาร เพราะอุปกรณ์หลายอย่างนั้นเป็นอุปกรณ์ที่เราไม่ได้มีโอกาสเห็นโดยทั่วไป

Advertisement

หรืออาจเป็นยุทโธปกรณ์ที่เราอาจจะกลัวมันด้วยซ้ำ เช่น รถถังหรือปืนที่พวกเขาถือในการยึดอำนาจ
หรืออาจเพราะว่าหน่วยราชการอื่นๆ ไม่มีศักยภาพในการนำเสนอภาพลักษณ์ขององค์กรและทรัพยากรขององค์กรได้แบบนี้

ดังนั้น การที่เราได้มีโอกาสไปเปิดหูเปิดตาในโอกาสดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายไปเสียทั้งหมด อาจจะเล่าเรื่องให้ลูกฟังว่า อุปกรณ์เหล่านี้ซื้อหามาด้วยราคาที่แพง มาจากภาษีและการจัดสรรงบประมาณของประเทศ ดังนั้น ลูกเอ๋ยจงตั้งใจเล่าเรียน โตขึ้นลูกจะได้มีตังค์มาเสียภาษีเยอะๆ เพื่อจะได้มีอาวุธเหล่านี้

สรุปง่ายๆ บุคลิกภาพเผด็จการนั้นไม่ได้มาง่ายๆ แค่เอาอะไรสักอย่างใส่ไปในหัวเด็กหรอกครับ มันขึ้นกับการเลี้ยงดูและขึ้นกับตังค์ผู้ปกครอง กลุ่มเพื่อน โรงเรียน และภูมิหลังทางสังคมวัฒนธรรมที่อยู่รายล้อมเด็กด้วยนั่นแหละครับ

พ่อแม่เด็กแหละครับสำคัญมาก อย่าไปโทษคนภายนอกอย่างเดียวเลยครับ

นอกจากนั้น การที่ทหารนั้นเข้ามามีบทบาททางการเมือง มาออกหน้าสื่อในการให้ทรรศนะต่างๆ หรือในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่ผู้นำทหารนั้นปกครองประเทศหลายตำแหน่ง และให้สัมภาษณ์หรือปรากฏตัวในที่สาธารณะด้วยเครื่องแบบทหาร หรือไม่ได้มีท่าทีให้ความร่วมมือกับสาธารณะในการเปิดให้มีการตรวจสอบข้อสงสัยในโครงการบางโครงการก็อาจมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการยอมรับ หรือยอมจำนนในการอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพ และมีทัศนคติแบบทหารนิยม น่าจะมีอิทธิพลมากกว่าหากจะพูดถึงการก่อร่างบุคลิกภาพเผด็จการ และการที่ผู้ปกครองนั้นยอมจำนนกับสิ่งนี้ก็เป็นเรื่องที่มีบทบาททางตรงมากกว่าการไปชมยุทโธปกรณ์ในวันเด็ก

ผมจึงไม่เห็นว่าบุคลิกภาพเผด็จการเป็นสิ่งที่หยุดนิ่ง หรือถูกมอบให้มาแต่ในวัยเด็กเท่านั้น แน่นอนว่าในวัยเด็กการซึมซาบนั้นอาจจะทำได้ง่ายหน่อย เพราะผ่านความเชื่อ ผ่านการท่องจำ หรือซึมซาบไปจากครอบครัวและโรงเรียน ผ่านหลักสูตรและกิจกรรมภายในโรงเรียน

แต่บุคลิกภาพแบบเผด็จการนั้นก็สามารถเกิดขึ้นในช่วงวัยอื่นได้ด้วย เช่น ในการเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัยหรือการทำงานเพราะบุคลิกภาพเผด็จการนั้นอาจจะเกิดจากการเรียนที่จะต่อรอง ตัดสินใจเลือกจากการคิดคำนวณผลที่จะหรือเสียในการคล้อยตาม หรือไม่ขัดขืนในเรื่องบางเรื่อง ไม่ใช่เพราะเขาเห็นดีเห็นงาม แต่อาจเป็นเพราะได้ไม่คุ้มเสีย หรือในระยะยาวคนที่ยอมตามหรือยอมเข้าสู่ระบบนั้นก็จะได้ส่วนแบ่งหรือประโยชน์จากระบบนั้นด้วย

ในแง่นี้การเชื่อว่าบุคลิกภาพแบบเผด็จการนั้นต้องเป็นเรื่องที่ตกทอดหรือไม่เปลี่ยนแปลงจากอดีตจึงไม่จริงเสมอไป การศึกษาในระดับสากลเสนอว่าบุคลิกภาพแบบเผด็จการอาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากโลกสมัยใหม่ก็ได้ และจะเห็นว่าระบอบการเมืองและวัฒนธรรมสมัยใหม่นั้นก็ผลิตระบอบเผด็จการอย่างฟาสซิสต์ที่นำเสนอความก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติในรูปแบบใหม่ๆ โดยไม่ได้หวนกลับไปสู่ชีวิตในอดีตได้เช่นกัน

โดยทั่วไปนั้นข้อเสนอรุ่นคลาสสิกที่เชื่อว่าระบอบเผด็จการนั้นอยู่ได้ด้วยความเชื่อมโยงระหว่างระบอบเผด็จการที่คงอยู่กับบุคลิกภาพแบบเผด็จการ ดังงานที่อ้างอิงกันต่อๆ กันมาของ Adorno (1950) และคณะในเรื่อง Authoritarian Personality จะเสนอว่า บุคลิกภาพแบบเผด็จการนั้นมีองค์ประกอบสำคัญ 9 อย่าง

1.ยึดมั่นถือมั่นอย่างไม่ลืมหูลืมตาในความเชื่อที่เชื่อกันต่อๆ กันมาในเรื่องความถูกต้องและความผิด

2.เคารพและยอมตนอยู่ภายใต้ผู้มีอำนาจตามที่มีการระบุเอาไว้ เช่น ในกฎหมายหรือในกฎเขาว่าใครมีอำนาจก็ยอมรับอำนาจของเขาทันที

3.เชื่อมั่นในการใช้กำลังหรือความรุนแรงก้าวร้าวต่อบุคคลอื่นที่ไม่ยอมรับความเชื่อเดียวกับเราโดยเฉพาะความเชื่อที่เชื่อว่าตกทอดกันมาแต่โบราณ หรือไม่ยอมรับคนที่แตกต่างจากเรา

4.มีมุมมองต่อมนุษย์ในแง่ลบ คือ เชื่อว่าคนมีธรรมชาติของการโกหก หลอกลวง และลักขโมย ถ้าโอกาสมี

5.ต้องการหรือโหยหาผู้นำที่เข้มแข็งหรือการปกครองที่เข้มงวด ซึ่งแสดงออกซึ่งการไม่ยอมประนีประนอมกับฝ่ายใดๆ

6.ความเชื่อว่าโลกนี้จะมีคำตอบที่ง่ายๆ ลงตัว หรือไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งก็เป็นอีกด้านหนึ่ง เช่น เหตุที่เป็นเช่นนี้ เช่นนั้นก็เพราะมีคนอยู่เบื้องหลัง แล้วก็จบ ไม่ต้องถามมาก

7.ต่อต้านความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดใหม่ๆ มองว่าเป็นความคิดที่อันตราย และมองโลกเป็นขาวเป็นดำ ถ้าไม่ถูกก็ต้องผิด

8.มีแนวโน้มที่จะแสวงหาเหยื่อ หรือกลุ่มคนบางกลุ่มที่จะเอาไว้ระบายอารมณ์ของตัวเองที่เป็นอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับความขาดแคลนบางอย่าง ความโกรธแค้นและความกลัว

9.หมกมุ่นเรื่องความรุนแรง และเซ็กซ์ (Adono, T. et al. 1950. The Authoritarian Personality. NY: Harper)

ข้อถกเถียงในหลายประะเด็นของงานวิจัยต้นแบบชิ้นนี้ซึ่งเกิดจากความสนใจของนักวิชาการหลายท่านที่อพยพหนีภัยนาซี และนักวิชาการในอเมริกา ทำให้เกิดการตั้งคำถามใหม่ๆ กับการยอมรับอำนาจของฮิตเลอร์ที่มีมากกว่าความสามารถของตัวผู้นำเอง

แต่กระนั้นก็ตามข้อค้นพบที่นำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือในการวัดบุคลิกภาพเผด็จการเหล่านี้ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์อยู่มาก อาทิ จำเป็นต้องมีครบทุกข้อไหมถึงจะหมายถึงบุคลิกภาพแบบเผด็จการ หรือบุคลิกภาพแบบเผด็จการนั้นสามารถเกิดในระบอบประชาธิปไตยได้หรือไม่

บ้านเรานั้นก็มีกระแสในการวิพากษ์วิจารณ์การปลูกฝังบุคลิกภาพและทัศนคติแบบเผด็จการอยู่มากมาย แต่สิ่งที่เรายังขาดอาจจะเป็นเรื่องของการพยายามเข้าใจการรับรู้ปัญหาและอยู่กับระบอบเผด็จการในระดับที่โตมากกว่าวัยเด็กเล็กที่หลายคนเชื่อว่าช่วงปฐมวัยนั้นเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่ทำให้เกิดการปลูกฝังบ่มเพาะเรื่องของบุคลิกภาพเผด็จการอย่างจริงๆ จังๆ

เรายังขาดการศึกษาถึงพัฒนาการของช่วงวัย และการเรียนรู้ว่าการ “อยู่เป็น” และการยินยอมต่ออำนาจเผด็จการนั้นมันวิวัฒนาการในสังคมได้อย่างไร และในโลกที่ผนวกเอาเรื่องออนไลน์เข้ามาร่วมด้วย ยิ่งทำให้การเรียนรู้ใหม่ๆ การซ่อนตัวตน และการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเผด็จการนั้นยิ่งเป็นเรื่องสลับซับซ้อนขึ้น

หมายความว่า การที่สังคมเผด็จการนั้นอยู่ได้ อาจจะไม่ได้มีแต่พวกที่เห็นพ้องกับระบอบเผด็จการเพราะมีบุคลิกภาพที่ตรงกัน แต่อาจจะมีพวกที่ไม่พร้อมจะออกมาสู้ และพวกเขาพร้อมจะยอมอยู่ในระบอบนั้นทั้งจากความกลัว หรือจากการคาดคำนวณอย่างมีเหตุผลก็อาจเป็นได้

อาจเป็นไปได้ว่าบุคลิกภาพเผด็จการนั้นมีอยู่ในทุกฝ่ายในสังคม และอาจจะซ่อนตัวอยู่ ดังนั้น การออกแบบระบบสถาบันและกลไกบางประการที่จะทำให้บุคลิกภาพเหล่านั้นไม่กลายเป็นปัจจัยหลักที่ชี้นำหรือกำหนดการกระทำและความคิดของผู้คนให้แสดงออกมาก็อาจเป็นเรื่องที่ท้าทายสังคมนี้เป็นอย่างยิ่ง

ไม่ว่าจะในวันเด็กแห่งชาติที่มีปีละครั้ง

หรือในวันผู้ใหญ่แห่งชาติที่หมายถึงวันที่เหลือจากวันเด็กแห่งชาติในแต่ละปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image