เดินหน้าชน : มิเตอร์ปาล์ม-หึ่ง : โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

ณ วันนี้ ชาวสวนปาล์มน่าจะยิ้มออกได้ หลังจากราคาปาล์มไต่ระดับขึ้นไปถึง 6-7 บาท/กิโลกรัม ทำให้โครงการประกันรายได้ชาวสวนปาล์มที่กำหนดเพดานไว้ที่ 4 บาท/กิโลกรัม ก็ไม่ต้องจ่ายชดเชยแล้ว

ปัจจัยหลักที่ดันให้ราคาปาล์มพุ่งทะยานขึ้นมาระดับนี้ได้ ก็ด้วยมาตรการของรัฐบาล อาทิ การใช้น้ำมันปาล์มดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 โดยจูงใจให้ใช้ด้วยราคาที่ถูกกว่า B7 ถึงลิตรละ 2 บาท

แล้วเมื่อ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ก็ประกาศให้ บี10 เป็นน้ำมันเกรดมาตรฐาน จากนั้นตั้งแต่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป จะต้องมี บี10 จำหน่ายทุกปั๊มน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาผลปาล์มสูงขึ้น แน่นอนว่าเกษตรกรได้ประโยชน์ แต่ผลที่ตามมาคือน้ำมันปาล์มดิบ
และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขยับขึ้นตาม ซึ่งจะส่งผลไปถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องและผู้บริโภคด้วย ดังนั้น หน่วยงานที่กำกับดูแลต้องชั่งน้ำหนักให้สมดุล

Advertisement

ผลอีกอย่างที่จะตามมาจากราคาปาล์มในประเทศสูงขึ้น คือการลักลอบการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ ที่จะต้องสกัดกั้นกันให้ดี

ทั้งนี้ทั้งนั้น การกำกับดูแลตลอดห่วงโซ่การผลิตของปาล์มให้มีประสิทธิภาพนั้น อยู่ที่ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มที่เก็บอยู่ในคลังหรือแท็งก์ของผู้ประกอบการต่างๆ ทั้งโรงสกัด
โรงกลั่น และคลังรับฝาก

ตัวเลขปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบายและมาตรการในการดูแลห่วงโซ่อุปทาน

Advertisement

แต่ที่ผ่านมา ตัวเลขสต๊อกน้ำมันปาล์ม มักจะคลาดเคลื่อน เพราะการตรวจเช็กสต๊อกยังใช้วิธีอนาล็อก ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ปีนขึ้นไปบนคลังหรือแท็งก์ขนาดใหญ่ ที่เก็บน้ำมันปาล์ม บางแห่งสูงนับสิบเมตร เพื่อดูปริมาณน้ำมันปาล์ม ในคลังหรือแท็งก์ แล้วนำมาคำนวณหาปริมาตรแต่ละแท็งก์

ตัวเลขจากการตรวจเช็กสต๊อกด้วยวิธีอนาล็อก จึงมักคลาดเคลื่อน ทำให้การกำหนดนโยบายและมาตรการผิดพลาด

ดังนั้น จึงมีการเสนอให้ตรวจเช็กสต๊อกด้วยวิธีดิจิทัล โดยติดตั้ง “มิเตอร์” ตรวจวัดปริมาณน้ำมันปาล์มที่คลังหรือแท็งก์ และทำแอพพลิเคชั่น เพื่อติดตามดูสต๊อกได้แบบเรียลไทม์ โดยตัวเลขจะไปโชว์ที่ศูนย์วอร์รูม กระทรวงพาณิชย์

มาตรการติดตั้งเครื่องมิเตอร์วัดปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่มีอยู่ในคลังหรือแท็งก์ แบบเรียลไทม์ นี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กปน.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน และ ครม.รับทราบแล้ว

แต่ยังมีปัญหาเรื่องเวลาดำเนินการ จึงเสนอ ครม.เมื่อ 7 มกราคม 2563 ขอขยายเวลาออกไปจากเดิมให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ไปเป็นภายใน 6 เดือน นับจากวันที่กรมการค้าภายในได้รับการจัดสรรงบกลางวงเงิน 483 ล้านบาท ในการติดตั้งเครื่องมิเตอร์คลังหรือแท็งก์น้ำมันปาล์มประมาณ 450 แห่งทั่วประเทศ

ถือเป็นมาตรการที่ดี แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าการติดตั้งมิเตอร์ดังกล่าวที่ใช้งบประมาณของภาครัฐไปติดตั้งในคลังหรือแท็งก์น้ำมันปาล์มของภาคเอกชนนั้น มีกฎหมายให้อำนาจดำเนินการได้หรือไม่ แล้วการดูแลรักษาจะเป็นหน้าที่ของใคร

ส่วนร่างทีโออาร์เพื่อคัดเลือกเอกชนมาติดตั้งมิเตอร์นั้น แว่วว่าจะใช้เทคโนโยลีมาตรฐานของยุโรป ไม่รู้ว่าจะล็อกสเปกให้กับบางรายหรือเปล่า

แต่ที่ลือกันแซดขณะนี้ก็คือมีบริษัทเอกชนรายหนึ่ง อยู่แถวบางบัวทอง เป็นคนดำเนินการเร่หาบริษัทที่เข้าสเปกมาประกวดราคา โดยเรียกค่าน้ำร้อนน้ำชาอยู่ที่ 30%

แถมยังแอบอ้างชื่อผู้บริหารในกระทรวงพาณิชย์ 3 คน ว่าจะช่วยให้ผ่านฉลุย

ไม่รู้ว่าข่าวนี้แว่วถึงหู จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์หรือไม่

จริงเท็จยังไงก็ไปตรวจสอบดู เดี๋ยวจะซ้ำรอยเหมือนเมื่อครั้งที่เคยนั่งเป็น รมช.พาณิชย์ ที่หลงเชื่อใจข้าราชการบางคนไปเร่ขายยางให้จีนกับยูเครน ผ่านบริษัทผี ที่ทำให้ “จุรินทร์” ติดร่างแหถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบเกือบเอาตัวไม่รอดมาแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image