เปิดฟลอร์กมธ.แก้รธน. รับฟังความเห็น ทุกฝ่ายเปิดเวทีปชช.มีส่วนร่วม ลดลากม็อบลงถนน

เปิดฟลอร์ กมธ.แก้รธน. รับฟังความเห็น รบ.-ฝ่ายค้าน หนุน เปิดเวทีให้ปชช. มีส่วนร่วมลดลากม็อบลงถนน “สมชัย”ห่วงตั้งส.ส.ร.แก้ปัญหาไม่ทันการณ์ “ไพบูลย์”ขวางลำต้องทำประชามติก่อนแก้ ด้าน นิพิฎฐ์ เสนอทำทีโออาร์กำหนดกรอบแก้รธน.

เมื่อวันที 14 มกราคม ที่รัฐสภา เกียกกาย มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ.2560 ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกมธ. ทำหน้าที่ประธานการประชุมเพื่อเปิดโอกาสให้กมธ.แต่ละคนได้แสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น กมธ.ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ควรสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นจากประชาชนในการแก้รัฐธรรมนูญ อาทิ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกมธ. กล่าวว่า ขอเสนอให้ตั้งคณะอนุกมธ. 5 ชุด ไปรับฟังความเห็นประชาชนทั่วประเทศ ไม่อยากให้พูดกันแค่ 49 คน เพราะทุกฝ่ายเรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับรัฐธรรมนูญ จำเป็น ต้องจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ ดีกว่าให้พรรคการเมืองจัดเวทีเอง และนำไปเคลื่อนไหวทางการเมือง จะยิ่งสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคม

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกมธ. กล่าวว่า การตั้งกมธ.ชุดนี้เหมือนผ่อนหนักเป็นเบา เพราะถึงอย่างไรก็ติดขัดที่วุฒิสภาอยู่ดี แต่จำเป็นต้องตั้งกมธ.ชุดนี้เพื่อให้มีข้อเสนอออกมา สิ่งที่หลายคนกังวลจะเกิดการ เมืองนอกสภานั้น ถ้ารัฐสภาตอบสนองข้อเรียกร้องประชาชนได้ การเมืองบนท้องถนนก็จะลดลง จึงจำเป็นต้องรับฟังความ เห็นประชาชน เพื่อลดทอนความตึงเครียด เช่นเดียวกับ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกมธ. กล่าวว่า การจะแก้รัฐธรรมนูญต้องผ่านด่านอรหันต์จำนวนมาก จึงต้องให้ประชาชนเห็นด้วย ที่สำคัญขอให้ทุกฝ่ายอย่าเอาเรื่องเศร้ามาพูดกัน หากมือกำอดีตไว้แล้ว จะเอามือที่ไหนไปไขว่คว้าอนาคต

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร รองประธานกมธ. ในฐานะกมธ.สัดส่วนพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ สรุปได้เป็น 3 แนวทาง คือ 1.การแก้ไขมาตรา 256 อย่างเดียว 2.การแก้มาตราที่เป็นปัญหา โดยไม่แตะต้องมาตรา 256 3.การแก้มาตรา 256 และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อจัดทำกติกาใหม่ แต่ละแนวทางมีปัญหาและอุปสรรคแตกต่างกันไป แต่การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเอาส.ว.ออกไปนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่มีทางที่ส.ว.จะส่งคืนกุญแจให้ ทั้งนี้ การมีส.ส.ร.อาจทำให้คณะกรรมการแก้รัฐธรรมนูญ(กรธ.)เสียหน้า หมายความว่า สิ่งต่างๆที่กรธ.ทำมาใช้ไม่ได้ ต้องมีการร่างใหม่ แต่กระบวนการนี้ใช้เวลานาน2 ปี ปัญหาการเมืองอาจเกิดความรุนแรง ดังนั้น การตั้งส.ส.ร.จะทันกับการแก้ปัญหาหรือไม่

Advertisement

นายโภคิน พลกุล กมธ.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อดีเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่มีปัญหาเรื่องมาตรา 279 ที่รับรองการกระทำคสช. ที่ผ่านมาประกาศและคำสั่งคสช.ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน ดังนั้นต้องเอามาตรา 279 ออกไป เพื่อเติมเต็มสิทธิเสรีภาพประชาชน คิดว่าควรทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่แตะหมวด 1 และ 2 ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ กมธ. กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ หากจะแก้ไขอาจเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ จึงต้องผ่านการทำประชามติเช่นกัน ดังนั้นการจะแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องทำประชามติเช่นกัน ถือเป็นเรื่องแรกที่กมธ.ต้องมาพิจารณากันก่อน การแก้ไขมาตรา256 เพื่อตั้งส.ส.ร. จึงไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะฝ่าฝืนกฎหมาย

ด้าน นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ กมธ.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ควรกำหนดทีโออาร์เป็นกรอบในการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความไว้วางใจกันไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขยกร่างใหม่ทั้งฉบับหรือแก้ไขรายมาตรา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายการประชุมนายพีระพันธุ์ได้มอบให้ทีมโฆษกกมธ.ไปประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แล้วกลับนำมาเสนอต่อที่ประชุมในวันที่ 17 มกราคมนี้เพื่อพิจารณาว่า จะต้องตั้งคณะอนุกมธ.จำนวนกี่ชุดต่อไป

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image