แบงก์ชาติแจงปมบาทแข็ง ชี้มีผลทั้ง‘บวก-ลบ’ ยันแก้ยึด‘สมดุล-ยั่งยืน’

หมายเหตุนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงชี้แจงถึงนโยบายการเงินและสถานการณ์ค่าเงินบาท ที่ ธปท. เมื่อวันที่ 14 มกราคม

เมธี สุภาพงษ์
รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.

สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 ที่ผ่านมา โดยแข็งค่าขึ้นราว 8% เทียบดอลลาร์สหรัฐ มีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าส่วนหนึ่งมาจากทิศทางดอกเบี้ยนโยบายการเงินของธนาคารสหรัฐ (เฟด) จากเดิมช่วงปลายปี 2561 ที่คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง แต่พอเข้าปี 2562 เฟดกลับทิศทางลดดอกเบี้ยนโยบายลงทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า

รวมทั้ง ความตึงเครียดจากสงครามการค้าสหรัฐและจีน ขณะเดียวกันมีแรงกดดันให้บาทอ่อนค่าจากปัจจัยในประเทศ คือ ความไม่แน่นอนในประเทศจากการจัดการเลือกตั้งของไทยตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 จนไปถึงช่วงที่จัดการเลือกตั้งแล้วเสร็จ

Advertisement

ทั้งนี้ ในปี 2562 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธปท.ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 2 ครั้ง โดยดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% โดยเหตุผลสำคัญในการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้ง 2 ครั้ง เพราะเห็นสัญญาณจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ ซึ่งมีผลช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง

อย่างไรก็ดี เหตุผลหลักที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า คือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เพราะประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกสูงกว่ารายจ่ายจากการนำเข้า โดยดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม-พฤศจิกายน) อยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการเข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความเข้าใจว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากการเก็งกำไรระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หากดูตัวเลขจะเห็นว่าการลงทุนของต่างชาติสุทธิทั้งปี 2562 แล้วเป็นการไหลออกสุทธิ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งการลงทุนของต่างชาติสุทธิเป็นการไหลออกสุทธิ 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ธปท.ยังมีความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาท และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยพร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น สำหรับการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. เพื่อการชะลอการแข็งค่าของเงินบาท โดย ธปท.จะเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ และขายเงินบาท โดยดอลลาร์สหรัฐที่ซื้อเข้ามาอยู่ในรูปของเงินสำรองระหว่างประเทศ โดยเงินสำรองฯ ก็จะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากต้องการชะลอการอ่อนค่า ทาง ธปท.จะขายดอลลาร์สหรัฐที่อยู่ในเงินสำรองฯ เพื่อซื้อเงินบาท เงินสำรองฯ ก็จะลดลง

ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเงินสำรองฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบันไทยมีเงินสำรองฯ เยอะติดอันดับต้นๆ ของโลก สะท้อนว่า ธปท.ได้มีการเข้าดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดด้วยการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐต่อเนื่อง

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2558-2562 เงินทุนสำรองฯ เพิ่มขึ้นเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากการค้าขายสินค้าและบริการกับต่างประเทศ หาก ธปท.ไม่ได้มีการเข้าดูแลค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา เงินทุนสำรองฯ ก็จะไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทก็อาจจะแข็งกว่าระดับปัจจุบัน

นอกจากการซื้อดอลลาร์สหรัฐแล้ว ธปท. ยังมีวิธีการดูแลค่าเงินบาทผ่านวิธีอื่น ได้แก่ มาตรการดูแลด้านเงินทุนไหลเข้า ที่ออกมาในช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 ซึ่งได้ปรับหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในส่วนของยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ และช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 ได้ออกมาตรการสนับสนุนให้ออกไปลงทุนยังต่างประเทศ โดยปัจจุบัน ธปท.อยู่ระหว่างการติดตามหลังจากที่ได้ออกมาตรการไปแล้ว

สำหรับการบริหารจัดการค่าเงินต้องให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนในระยะยาว ถ้ามีการเข้าไปแทรกแซงจนบาทอ่อนกว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ก็เท่ากับเป็นการใช้ค่าเงินเพื่อให้สินค้าของไทยได้เปรียบประเทศคู่แข่งชั่วคราว ซึ่งไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง และหากเป็นที่สังเกตของประเทศอื่นๆ ก็อาจจะก่อให้เกิดการกีดกันทางการค้าหรือการใช้มาตรการทางภาษีซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อภาคการส่งออกในระยะยาว

ส่วนที่มีข้อเสนอให้ใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing หรือ คิวอี) เช่นเดียวกับประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป นั้น การทำคิวอี เป็นการทำนโยบายผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ภาคเอกชนในประเทศจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้สภาพคล่อง ในระบบปรับสูงขึ้น โดยการทำคิวอีของประเทศหลักมักดำเนินการในช่วงที่การส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านสถาบันการเงินไปยังภาคเศรษฐกิจจริงไม่ทำงาน หรือประเทศกำลังเผชิญภาวะวิกฤต ซึ่งคิวอี จะช่วยลดต้นทุนในการกู้ยืมระยะยาวของภาคธุรกิจและครัวเรือน

ในกรณีของไทย ปัจจุบันสภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับสูงมากอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ การทำคิวอี จะทำให้สภาพคล่องเพิ่มขึ้นแค่กับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น หากต้องการช่วยให้สภาพคล่องไปที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มากขึ้น ภาครัฐอาจให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ผ่านธนาคารพาณิชย์ของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน จะเป็นมาตรการที่ตรงจุดและมีประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจดีกว่า

นอกจากนี้ มาตรการคิวอี ยังมีผลข้างเคียง เช่น เพิ่มความเหลื่อมล้ำ เพราะจะเอื้อให้ต้นทุนทางการเงินของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ถูกกว่าเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันก็มีต้นทุนที่ต่ำกว่าอยู่แล้ว และอาจทำให้เกิดการกู้ยืมจนเกินตัวของบริษัทต่างๆ ด้วย ซึ่งส่งผลต่อเนื่องกับเสถียรภาพทางการเงิน

สำหรับกรณีประเทศอื่นที่เกินดุลสูง มีการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ ทำให้ค่าเงินไม่แข็งค่าขึ้นเท่าประเทศไทย อย่างไต้หวัน และเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงใกล้เคียงกับไทย แต่สกุลเงินของประเทศเหล่านั้นไม่แข็งค่าเท่าไรนัก เนื่องจากมีเงินไหลออกไปลงทุนต่างประเทศค่อนข้างมาก ช่วยลดแรงกดดันจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยส่วนใหญ่เป็นการออกไปลงทุนของนักลงทุนสถาบัน เช่น ประกันชีวิต กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ขณะที่ไทยยังไม่มีการกระจายการลงทุนไปต่างประเทศมากนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องและผลักดันให้มีเงินไหลออกมากขึ้นในระยะถัดไป

สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินบาทที่แข็งค่ามีผลต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต่อผู้ส่งออกและผู้ที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง คือ ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น เป็นประโยชน์สำหรับภาคเอกชนบางกลุ่ม ช่วยให้ธุรกิจมีต้นทุนนำเข้าเครื่องมือ เครื่องจักรถูกลง

ปกติไทยจะมีการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรปีละประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าขึ้น ประเทศจะประหยัดไปได้ราว 5 หมื่นล้านบาท หากธุรกิจที่เห็นโอกาสนี้จะสามารถสร้างความได้เปรียบคู่แข่งขันด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตจากการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรที่ถูกลง ธุรกิจและประชาชนที่เป็นหนี้ต่างประเทศจะมีหนี้ลดลง

อย่างตอนนี้ธุรกิจและประชาชนมีหนี้ค้างจ่ายต่างประเทศอยู่ราว 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าขึ้น ธุรกิจและประชาชนจะมีหนี้ลดลงประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งคนที่จะได้รับประโยชน์ก็คือคนที่จะชำระหนี้คืน

สำหรับภาคเศรษฐกิจโดยรวม ปกติไทยนำเข้าน้ำมันดิบปีละประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าขึ้น ก็จะช่วยประหยัดต้นทุนของประเทศไปได้ 2 หมื่นล้านบาทเช่นกัน ซึ่งน้ำมันก็เป็นต้นทุนที่สำคัญของทั้งประชาชนและธุรกิจ

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาค่าเงินบาท ต้องแก้ไขให้ตรงจุด และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดย ธปท. และภาครัฐ ยังคงกังวลต่อสถานการณ์ โดยมีการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องถึงแนวทางในการช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท

ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นเพียงแค่อาการ ที่สะท้อนมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทย การแทรกแซงค่าเงิน รวมถึงนโยบายการคลังอื่นๆ ที่หวังผลระยะสั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ส่วนต้นเหตุของปัญหาเงินบาทแข็งค่า คือ การเกินดุลการค้าต่อเนื่อง การออกไปลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศที่ยังมีน้อยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ไขทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ 1.เพิ่มการนำเข้า อาจจะผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือลงทุนเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงการผลิต ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดีในช่วงที่ต้นทุนการนำเข้าจะถูกลงเพราะเงินบาทแข็ง

2.ลดแรงซื้อบาทจากภาคส่งออก เช่น การเก็บรายได้ไว้ในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (เอฟซีดี) หรือการหักชำระรายจ่ายและแลกเฉพาะส่วนที่เหลือ

3.สนับสนุนการออกไปลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน จะมีส่วนช่วยให้เกิดแรงผลักดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

ที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินมาตรการบางส่วนเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นและผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูการแลกเปลี่ยนเงิน เพื่อเอื้อต่อการลงทุนในต่างประเทศและสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image