รายงานหน้า 2 : ‘สมคิด’กระตุกเอกชน-รัฐวิสาหกิจ เร่งลงทุนสร้างอนาคตไทย ‘สุวิทย์’ชู‘BCG Model’ความหวังปท.

หมายเหตุน.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดงานสัมมนา “2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย” โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปาฐกถาพิเศษ ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ

ปานบัว บุนปาน
กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

ในโอกาสที่มติชนดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 43 ด้วยความปรารถนาอยากเห็นทิศทางของประเทศ โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ ขยายศักยภาพของประเทศ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยรัฐบาลมีแนวทางสำคัญในการดำเนินการ ซึ่งมองว่าการลงทุนคือ ทางออกของประเทศไทยในปี 2563 หนังสือพิมพ์มติชน จึงหยิบยกแนวคิดเรื่องการลงทุน มาเป็นหัวข้อหลักในการสัมมนา และเป็นที่มาของชื่อ “2020 ปีแห่งการลงทุน ทางออกประเทศไทย” และถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กล่าวปาฐกถาพิเศษในเรื่องนี้โดยตรง

Advertisement

การสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกระทรวงน้องใหม่ของประเทศ และมีบทบาทมากในขณะนี้ ร่วมปาฐกถาพิเศษด้วย

นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนาที่มีผู้มีส่วนสำคัญต่อการลงทุนของประเทศมาร่วมแสดงความคิดเห็น ได้แก่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ผลักดันโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม โดยเฉพาะคลื่นโครงข่าย 5G, นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ), นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (เอสซีจี), นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์, นายสารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด, นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด

นอกจากการนำเสนอข่าวสารแล้ว มติชนยังให้ความสำคัญกับการจัดสัมมนา ซึ่งมีการถ่ายทอดไลฟ์ไปยังผู้ชมทั่วโลก การสัมมนาได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผู้รู้ในทุกๆ ด้านมาแสดงทรรศนะ เพื่อเป็นเวทีระดมความรู้ สร้างความเข้าใจในปัญหาต่างๆ และเชื่อว่าการสัมมนาครั้งนี้จะทำให้ประชาชนได้เห็นทิศทางการขับเคลื่อนประเทศได้ชัดเจนมากขึ้น มีความเข้าใจ และมีความหวังที่จะเดินหน้าผ่านสถานการณ์ของปี 2020 ไปได้อย่างราบรื่น ดิฉันในนามของมติชนขอใช้โอกาสนี้กราบขอบพระคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนมติชนตลอดมา

Advertisement

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รองนายกรัฐมนตรี

ถ้าไม่จำเป็นไม่อยากบรรยายที่ไหน เนื่องจากข้อจำกัดการบริหารจัดการ ไม่สามารถพูดได้ทุกอย่าง แต่เนื่องจากเป็นงานมติชน ยินดีที่จะพูดให้ และแนะนำวิทยากรที่เหมาะสม ซึ่งวิทยากรที่มาพูดในงานนี้ มีความรอบรู้หลากหลาย อยากให้สิ่งที่พูดเกิดประโยชน์ เพราะเราพูดความจริง ไม่พูดเท็จ และไม่อยากให้เป็นเฟคนิวส์

ประเทศไทยขณะนี้หาคำตอบที่เหมาะสมไม่ได้ เพราะอยู่ในจุดที่ต้องบริหารให้ดี ประเทศไทยไม่ได้ดี และไม่ได้แย่ แต่ต้องอาศัยการบริหารจัดการ และต้องอาศัยความสามัคคีกัน

โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยดีพอสมควร มีการวางรากฐานอย่างดี เพื่อเปลี่ยนประเทศไปสู่ความทันสมัยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

นอกจากนี้ ไทยมีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งเมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาก็เกิดภาวะตึงเครียดในเรื่องการค้าโลกช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีที่ผ่านมา

โดยในช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เราเจอพายุเป็นเหมือนระเบิด 2 ลูก ลูกแรกเป็นระเบิดอยู่เหนือน้ำ คือ เรื่องการส่งออกที่ค่อยๆ ชะลอตัวลง จนกระทั่งติดลบถึง -7.7% ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา การส่งออกของไทยลดลงไปลึก เพราะสินค้าส่งออกของไทยอยู่ในซัพพลายเชน เชื่อมโยงกับจีน สินค้าส่งออกของไทยไม่หลากหลาย

เมื่อโลกสะเทือนจึงควบคุมไม่ได้ เพราะโครงสร้างของไทยเป็นแบบนั้น โดยการส่งออกของไทยมีสัดส่วนถึง 70% ของจีดีพี

ดังนั้นเมื่อส่งออกลดลงจะกระเทือนต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน ขณะนี้มีข่าวดีระหว่างสหรัฐและจีน ว่าจะมีการลงนามด้านสินค้าเกษตรวันที่ 15 มกราคมนี้ ก็ภาวนาให้คลี่คลาย เพราะปัจจัยเหล่านี้แก้ยาก หวังว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จะปรานี

ส่วนระเบิดลูก 2 คือ ระเบิดใต้น้ำ ระเบิดลูกนี้มีหลายลูก เช่น โครงการลงทุนขนาดใหญ่เคลื่อนตัวช้าเกินไป ทำให้เศรษฐกิจไทยขยับตัวช้า งบประมาณแผ่นดินล่าช้า เพราะรอรัฐบาลใหม่ และงบเพิ่งผ่านสภา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

จากปกติงบประมาณต้องเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคมของทุกปี ทำให้งบประมาณในไตรมาส 1 ของปีงบ (ตุลาคม-ธันวาคม 2562) ซึ่งอยู่ไตรมาส 4 ปีปฏิทิน ลงไปในระบบเศรษฐกิจน้อยมาก

งบประมาณใช้ได้แค่กึ่งหนึ่งของงบประมาณปีที่ผ่านมา ที่สำคัญงบลงทุนแทบใช้ไม่ได้เลย โดยล่าสุดพบว่ามีการใช้จ่ายงบลงทุนไปเพียง 5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้งบประมาณที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนใหญ่ของประเทศไปไม่ได้

แม้ว่าขณะนี้การบริโภคจะค่อยๆ ฟื้นจากติดลบ ท่องเที่ยวจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่เจอระเบิดจากงบประมาณเศรษฐกิจไทยไปไม่ไหว โดยไตรมาสที่ผ่านมา การเบิกจ่ายทำได้เพียง 23% ของงบทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นงบประจำจ่ายตามเกณฑ์ของปีที่แล้ว ส่วนงบลงทุนทำได้แค่ 8% โชคดีขณะนี้งบประมาณผ่านสภาไปแล้ว ถ้างบมีผลบังคับใช้ จะเร่งใช้จ่ายงบประจำที่เหลือให้เต็มที่ และเร่งรัดการใช้จ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้า

ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 14 มกราคม เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ ไตรมาส 2 ของปีงบ คือในเดือนมกราคม-มีนาคม ให้ขึ้นไปอยู่ที่ 54% จาก 23% คาดว่าจะมีเงินไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท ถือว่ามากทีเดียว ส่วนไตรมาส 3 การใช้จ่ายงบประมาณต้องสูงกว่า 70% หลังจากนั้นเต็ม 100% ในไตรมาส 4 ซึ่งในช่วงรองบประจำปี ได้เร่งรัดการใช้จ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ถือว่ารัฐวิสาหกิจให้ความร่วมมือดีมาก ทำให้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว เบิกจ่ายงบลงทุนไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท

และในช่วงบ่ายวันที่ 15 มกราคม ได้ประชุมเร่งให้รัฐวิสาหกิจลงทุน เพื่อให้การลงทุนรัฐวิสาหกิจเป็นน้ำหล่อเลี้ยงในระบบเศรษฐกิจในช่วงที่รองบประมาณ นอกจากนี้ ยังมีระเบิดลูกใหม่ คือ ระเบิดค่าเงินบาท ไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ค่าเงินแข็งเอา แข็งเอา มีการพูดถึงว่า เกิดจากเงินทุนไหลเข้า แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด เงินบาทที่แข็งเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยขณะนี้ คือส่งออกติดลบ การนำเข้าลดลง จึงเป็นช่องว่างทำให้ค่าเงินแข็ง และยิ่งเอกชนไม่ลงทุน ขนาดขอร้องแล้ว ขอร้องอีกก็ยังนิ่ง จึงเป็นผลให้เงินบาทแข็งต่อเนื่อง ขณะนี้การเอกชนลงทุนอยู่ที่ 16% ของจีดีพีเท่านั้น ดังนั้นถ้าไม่ลงทุนอาจแก้ปัญหาเงินบาทไม่ได้ระยะยาว

มีหลายข่าวไปกดดันธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) เพราะกระทรวงการคลังไม่เกี่ยวกับค่าเงินบาทแล้ว มีการแก้ พ.ร.บ.แบงก์ชาติใครไปยุ่งแบงก์ชาติไม่ได้ ซึ่งแบงก์ชาติเองเข้าไปดูแลค่าเงินบาทลำบาก เพราะสหรัฐขู่ว่าจะขึ้นบัญชีหากเข้าไปดูแลมาก เพราะไทยเกินดุลสหรัฐอยู่ ตรงนี้เหมือนหมาป่ากับลูกแกะ ถ้าไทยโดนเล่นงานตรงนี้จะลำบากมากขึ้น

ดังนั้นการลงทุนเป็นทางออกประเทศไทย การลงทุนมีประโยชน์หลายด้าน 1.ถ้าลงทุนเม็ดเงินช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ประคองเศรษฐกิจ 2.ถ้ามีการลงทุนทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงกว่านี้ ถ้าเอกชนบอกไม่ใช่หน้าที่ ตรงนี้ก็เกินไป คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต้องคิดใหม่ว่าจะร่วมลงทุนอย่างไร 3.ถ้าต้องลงทุนไม่ใช่แค่ลงทุน ทำแบบนี้ไม่มีประโยชน์ ขณะนี้โลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ดังนั้นการลงทุนต้องคิดถึงประโยชน์สูงสุดกับไทย ตรงนี้บทบาทของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต้องให้ความสำคัญ บีโอไอต้องเฉียบแหลม และต้องทำงานกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ไม่ควรทำหน้าที่แค่ทำนายเศรษฐกิจ แต่ต้องทำงานเชิงพัฒนาร่วมกับบีโอไอ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยทันสมัยมากขึ้น

บีโอไอตั้งเป้าหมายการลงทุน 7.5 แสนล้านบาท เขาสามารถทำได้ ผมไปตรวจเยี่ยมและมอบให้ไปคิดว่าจะทำอะไร อย่างไรในปีนี้ การบรรลุเป้าหมายยังไม่เพียงพอ ต้องเปลี่ยนโครงสร้างยุคเดิมไปสู่ยุคใหม่ การลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ หรือเอสเคิร์ฟ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต เพราะอุตสาหกรรมที่เคยอยู่กับไทยเมื่อ 20 ปี เช่น สิ่งทอ เครื่องหนังไปอยู่เวียดนาม ดังนั้นอย่าไปอิจฉาเขา เราต้องสร้างของใหม่ขึ้นมา

ในสภาวะแบบนี้ ไม่ใช่เน้นแค่จีดีพีว่าตัวเลขจะเป็นเท่านั้นเท่านี้ คนด่าก็ด่าไป อยากให้ใช้สติว่าจะทำอย่างไร อีอีซีต้องเป็นไปตามเป้าตอนนี้เกิดแล้ว รถไฟความเร็วสูงเดินหน้าแล้ว มาบตาพุดเดินแล้ว อีก 2 วันจะรู้แล้วว่าใครจะไปลงทุนในสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งโครงการลงทุนดังกล่าวเป็นตัวการันตีให้นักลงทุนมั่นใจว่า ไม่ใช่แค่ราคาคุย แต่เราทำจริงดังนี้บอกสภาพัฒน์ไปแล้วไม่ใช่แค่อีอีซี เขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ เขตพัฒนาพิเศษภาคเหนือต้องตามมา เพราะในอนาคตข้างหน้าจะสำคัญมาก ต้องผลักดันให้ต่อเนื่อง เป็นหน้าที่ของสภาพัฒน์ที่จะวางโครงสร้างให้ไทยต่อไป ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล

ทั้งนี้ ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ต้องมีการลงทุนไทยต่อเนื่อง ในเรื่อง 5จี ต้องมา ต้องขอบคุณนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้บอกมาแล้วว่า 5จี จะมาในเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม

ถ้าไทยไม่ทำ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กำลังทำ ถามเอกชนไม่อยากได้ 5จี เพราะราคาน่าตกใจ แต่สิ่งเหล่านี้รอไม่ได้ ดังนั้นไม่ต้องไปเน้นรายได้ แต่เน้นว่าคนไทยควรได้อะไร โดยเงินยูโซ่ไม่ต้องส่งเข้าคลัง เอาเงินตรงนี้ไปพัฒนา 5จี เพื่อให้ไทยเกิดได้ก่อน เชื่อว่าเอกชนไทยทำได้

อีกตัวสำคัญคือ ส่งออกและบริการ ในอีก 5 ปี เครื่องจักรจะเข้ามามีบทบาทมาก ทำให้มูลค่าสินค้าเกษตรด้อยลง ตามมูลค่าของสินค้าทั่วโลก ไทยมีจุดแข็งด้านเกษตร อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งสินค้าของไทยสำคัญคือ เกษตร รัฐบาลช่วยเงินจมปีละเท่าไหร่ ดังนั้นต้องช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่เปลี่ยนจะกลายเป็นฟิลิปปินส์ โดยต้องช่วยกันคิดว่าอุตสาหกรรมที่มีอยู่จะเดินไปอย่างไร อยากเห็นสตาร์ตอัพเน้นเกี่ยวกับท่องเที่ยวและบริการ และให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เช่น ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น ดีไซน์ ขณะนี้ยังไม่มีกระทรวงดูแล แม้มีมูลค่าสูงมาก

ดังนั้นการลงทุนใหม่ๆ ต้องเกี่ยวกับเทคโนโลยี หารือกับนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พยายามให้ช่วยผลักดันเรื่องนี้

อีกเรื่องที่สำคัญในช่วง 5 ปี คือ เศรษฐกิจฐานราก อยากให้นำเอาสมาร์ทฟาร์มเมอร์เป็นตัวนำ ต้องมีผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตั้งเป้าปีละ 1 แสนราย เพื่อเชื่อมโยงทั้งเรื่องตลาด การผลิตสินค้า และนโยบายรัฐบาล เครือ ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รัฐวิสาหกิจอื่นๆ ประปา ไฟฟ้า จะเข้ามาช่วย โรงไฟฟ้าชุมชนเป็นหนึ่งในฐานราก การผลักดันท่องเที่ยวเมืองรองเริ่มเกิดแล้ว ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกันผ่านสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เอาเทคโนโลยีมาช่วยได้ นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี สามารถมาร่วมได้ โดยสิ่งที่ทำลงไปบีโอไอตีกลับเป็นสิทธิประโยชน์ให้กับบริษัทแม่ เพื่อจูงใจให้เอกชนไปร่วมดูแลพัฒนาฐานราก

สังคมคนชรามาแน่นอน อีกไม่กี่ปีคนชราจะมีสัดส่วน 20% ของประชากร ถ้าไม่มีอะไรรองรับ ลำบากแน่นอน ผมอายุ 67 แล้ว ข้างหน้าลูกหลานคงไม่มาเลี้ยงดู ดังนั้นการพัฒนาการศึกษา สาธารณสุข สำคัญ Bio economy Circular economy Green economy (BCG) ที่ทำอยู่ต้องเดินหน้ากันไป กกร.ควรมาช่วยรัฐบาล ได้หารือกับสรรพากร ศุลกากร ให้เตรียมตัวให้พร้อม รัฐบาลอยากให้เอกชนลงทุนในยุคบาทแข็ง เช่น การเปลี่ยนเครื่องจักร โดยจะมีแพคเกจจูงใจลงทุนมาให้ 6 เดือน และให้ติดตั้งภายใน 1 เดือน

อยากให้ร่วมกันในเรื่องลงทุนทั้งเอกชน รัฐวิสาหกิจ ตรงนี้ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจไทยคงอยู่ไม่ได้ด้วยยากระตุ้น แต่ต้องสร้างอนาคตข้างหน้า ผมฝันอยากเห็นธุรกิจที่ยืนอยู่บนขาของนวัตกรรม สร้างสตาร์ตอัพที่ยืนอยู่ด้วยตัวเอง เช่น เกษตร ท่องเที่ยว การเงิน ไม่ใช่ไปพึ่งพาอุตสาหกรรมรถยนต์ หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่

แม้กระทั่งนักการเมืองต้องช่วยกัน ช่วยกันสร้างบรรยากาศ ปีนี้เป็นปีแห่งการลงทุน แต่ถ้าการเมืองยังตีกันทุกวัน นักลงทุนไปแน่นอน ถ้าเป็นแบบนั้นจะให้ทำอย่างไร ทุกคนต้องร่วมมือกัน ไม่อย่างนั้นอย่าไปโทษใครเลย

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ปี2020 ถือเป็นการลงทุนที่แท้จริง ไม่ลงทุนไม่ได้ ประเทศไทยขับเคลื่อนมาตลอด ทั้งนี้ ความท้าทายของประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน เราติดอยู่ในกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางมานาน ดังนั้น ไม่มีการลงทุนไม่ได้ ถ้าไม่มีการลงทุนจะไม่สามารถทำให้ประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้

คำถามคือ ต้องใช้เวลากี่ปีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ของประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หากเราอยู่ที่ 3% ต้องใช้เวลามากถึง 23 ปี 4% ใช้เวลา 17.5 ปี 5% ใช้เวลา 14 ปี 6% ใช้เวลา 11.7 ปี

สิ่งที่ต้องทำไปคือ คิดใหม่ เป็นการลงทุนเชิงคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ ทำอย่างไรจะสร้างพลังประชาชน ตรงนี้นำมาสู่การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศไทยแลนด์ 4.0 อย่างไรก็ดี การเติบโตเชิงปริมาณไม่ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน การเติบโตเชิงคุณภาพเท่านั้นจึงจะตอบโจทย์ การเติบโตเพื่อยกระดับมาตรฐาน และคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยส่วนใหญ่ การเติบโตที่ลดทอนวัตถุนิยม ความเห็นแก่ตัว การมองประโยชน์ระยะสั้น เป็นจุดอ่อนของทุนนิยมในปัจจุบัน

การลงทุนจากนี้ไป คือ การลงทุนในองค์ความรู้ และทรัพยากรมนุษย์ เชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี จะทำให้ประเทศไทยไปข้างหน้าในศตวรรษที่ 21

ที่ผ่านมา ประเทศไทยติดกับดักใน 3 เรื่องคือ กับดักประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความไม่สมดุล จะแก้ได้ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตอบโจทย์ใน 6 มิติ ตอบโจทย์ประเทศไทยด้านความหลากหลาย เชื่อมโยงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตอบโจทย์ 10 ใน 17 เป้าหมาย
การพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุม 5 ใน 10 อุตสาหกรรม S-Curve และกระจายโอกาสและความมั่งคั่งสู่เศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจภูมิภาค

ขณะเดียวกัน BCG Model ยังเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจแบบทั่วถึง ทั้งอาหารและการเกษตร สุขภาพ และการแพทย์ พลังงานวัสดุและเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ BCG Model จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทั่วถึง ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายใน 2 ด้าน คือ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ความท้าทายในการพัฒนาประเทศ ที่ต้องเร่งเดินไปข้างหน้าคือ มี 12 ล้านคน ทำงานในภาคเกษตร แต่ 90% ของพื้นที่เพาะปลูก ปลูกพืชเพียง 6 ชนิด คือ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด

ความท้าทายคือ ราคาเกษตรผันผวน เกษตรกรรายได้ต่ำ ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม และแรงงานภาคเกษตรมีอายุมากขึ้น 1 แสนล้านบาท นำเข้าผลิตภัณฑ์เวชกรรม และเภสัชกรรม ความท้าทาย คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การพึ่งพาการนำเข้ายา วัสดุ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากต่างประเทศ ขณะที่ 60% ของพลังงานนำเข้าจากต่างประเทศ 15.5% ของพลังงานในประเทศ มาจากพลังงานหมุนเวียน ความท้าทาย คือ การจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต และการลดการนำเข้าพลังงาน

ส่วนการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท มากเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่ 80% ของนักท่องเที่ยวกว่า 35 ล้านคน กระจุกตัวอยู่ใน 8 จังหวัด ความท้าทายในเรื่องนี้คือ นักท่องเที่ยวมากเกินรองรับ ดังนั้นจึงเกิดเป็นการส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง และปัญหาทรัพยากรเสื่อมโทรม

เรามองไปข้างหน้าอีก 5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มการจ้างงานเป็น 20 ล้านคน สร้างรายได้ 4.4 ล้านบาท คิดเป็น 24% ของ GDP จากนี้ไปมหาวิทยาลัยจะต้องปรับหลักสูตรที่ตอบโจทย์ BCG สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI จะต้องเข้ามาช่วย ทำให้ BCG ก้าวสู่ระดับโลกได้ ถ้าเราทำให้เกิดการลงทุนแบบนี้ต่อเนื่องไปอีก 10 ปี จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างแท้จริง ผ่านการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยได้ตั้งกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คณะกรรมการชุดใหญ่ที่จะขับเคลื่อนนโยบาย BCG ประกอบด้วย 8-9 กระทรวงใหญ่ มีนายกฯเป็นประธาน ให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน และตั้งกรรมการบริหาร ให้ผมเป็นประธานกรรมการบริหาร ขับเคลื่อน BCG ผ่านพหุภาคี

หวังเป็นอย่างยิ่ง 4.0 ที่พูดกันเป็นไปได้ เมื่อเรามองเป็นรูปธรรมผ่าน BCG จะทำให้เราสามารถก้าวข้าม 3 กับดักประเทศ ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้ลืมตาอ้าปาก เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งหมดนี้เป็นความหวังของประเทศไทย ทั้งหมดนี้เป็นไปได้แน่นอน ถ้ามีความเปลี่ยนแปลงการลงทุนแบบใหม่ที่จะไปตอบโจทย์ในส่วนนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image