บทนำ : ส่อ‘เปลี่ยนแปลง’

บทนำ : ส่อ‘เปลี่ยนแปลง’

บทนำ : ส่อ‘เปลี่ยนแปลง’

ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำร้องที่นายณฐพร โตประยูร ยื่นให้วินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยระบุว่ามีพฤติกรรมล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องไต่สวนนัดอ่านคำวินิจฉัยวันอังคารที่ 21 ม.ค. 2563 นี้ ขณะที่มีปรากฏการณ์สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ยื่นลาออกจากพรรค ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี บ้างจะไปจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ล่าสุดนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรค ปชป. ยื่นใบลาออกจากพรรค เพื่อไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ ที่กำลังเร่งจัดตั้ง โดยเบื้องต้นจะให้นายกรณ์ จาติกวณิช ที่ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนหน้านี้ เป็นหัวหน้าพรรค

กรณีพรรคอนาคตใหม่จะเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยคดี ซึ่งมีโทษระดับยุบพรรค กับการลาออกของ ส.ส. และสมาชิกพรรค ปชป. ไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ จะสัมพันธ์กันหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป รัฐธรรมนูญกำหนดในมาตรา 101 กรณีพรรคการเมืองถูกยุบ ส.ส.ของพรรคที่ถูกยุบจะต้องหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วัน มิฉะนั้นจะสิ้นสมาชิกภาพ พรรคอนาคตใหม่มี ส.ส.ถึง 80 คน แม้ว่าแกนนำได้เตรียมตั้งพรรคใหม่ไว้รองรับ แต่ในสภาพของการเมืองที่พรรครัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ต้องการ ส.ส.มาเสริมทัพอีกจำนวนมาก ก็เป็นที่คาดการณ์ว่า อาจจะมี ส.ส.บางส่วนแปรพักตร์ เข้าสังกัดพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ที่เชื่อมโยงกับรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อมีการยุบพรรคพลังประชาชนเมื่อปี 2551

ถือเป็นสัญญาณของแนวโน้มที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่จะมีผลต่อทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ในส่วนของรัฐบาลอาจทำให้มีจำนวน ส.ส.มากขึ้น มีพรรคสนับสนุนมากขึ้นและอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พึงตระหนักก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้ เป็นผลจากกฎกติกาได้แก่ รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่มาลงคะแนนเลือกตั้ง เป็นโจทย์อีกข้อหนึ่ง ที่น่าจะมีการศึกษาว่า มีผลดีผลเสียอย่างไร และจะหาทางวางหลักแก้ไข หรือป้องกัน หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรหรือไม่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image