ขับพ้นพรรค-ย้ายสังกัดใหม่ เงื่อนปมแห่ง‘เทคนิค-กติกา’

ขับพ้นพรรค-ย้ายสังกัดใหม่ เงื่อนปมแห่ง‘เทคนิค-กติกา’

ขับพ้นพรรค-ย้ายสังกัดใหม่ เงื่อนปมแห่ง‘เทคนิค-กติกา’

หมายเหตุกรณีพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) มีมติเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 ขับ 4 ส.ส.ออกจากพรรค ประกอบด้วย 1.น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ 2.นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี 3.น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี และ 4.พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี จากพฤติการณ์ขัดมติพรรคหลายครั้ง ทำให้ทั้ง 4 คน ต้องหาพรรคการเมืองสังกัดใหม่ภายใน 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 16 มกราคม ที่่ผ่านมา ขณะที่พรรคอนาคตใหม่แจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้มติขับออกจากพรรคมีผลอย่างเป็นทางการ ไม่ทันกำหนด 30 วัน กลายเป็นปัญหาการเข้าสังกัดพรรคการเมืองใหม่ และเกิดความคลุมเครือถึงสถานภาพของ ส.ส.ทั้ง 4 คน จากนี้เป็นความเห็นของนักวิชาการ และอดีตกรรมการ กกต. ต่อปมปัญหาที่เกิดขึ้น

โคทม อารียา
อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ถ้าดูตามรัฐธรรมนูญ ส.ส. ทั้ง 4 คนต้องหาสังกัดพรรคการเมืองใหม่ภายใน 30 วัน ส่วนที่พรรคอนาคตใหม่ยังไม่ออกเอกสารยืนยันมติขับออกจากพรรคให้มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาทางเทคนิค และไม่อยากให้ปัญหานี้มาเป็นเรื่องหลัก หากดูตามหลักการเจตนารมณ์ของกฎหมาย ต้องการให้ไปหาสังกัดพรรคใหม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาตามเงื่อนไข 2 อย่าง คือหากหลุดจากการเป็น ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่ ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2562 การมีหนังสือยืนยันอย่างชัดเจน จึงไม่เกี่ยว

Advertisement

แต่ถ้าบอกว่ายังไม่หลุดจากการเป็น ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ จนกว่าจะมีหนังสือยืนยัน ก็ต้องนับจากวันที่มีหนังสือชัดเจนไปอีก 30 วัน ซึ่งตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคือ ส.ส.มีสิทธิจะย้ายพรรคได้ ปัญหาทางเทคนิคที่เคยพบ เช่น เรื่องกู้เงินถือเป็นเงินบริจาคหรือไม่ ซึ่งตามเจตนารมณ์คือ อยากสนับสนุนพรรคการเมืองและเปิดพื้นที่ให้แต่ละคนมาแข่งขันกันด้วยอุดมการณ์หรือนโยบาย แต่ก็มีคนบางกลุ่มหยิบเรื่องนี้มาให้เป็นปัญหา

ตามข้อปฏิบัติทั่วไป หากมีพนักงานคนหนึ่งถูกไล่ออกจากบริษัท ก็ต้องทำเอกสารแสดงว่าพนักงานคนนี้พ้นจากการเป็นพนักงานบริษัทแล้ว เอกสารนี้ไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหญ่โตมาก หากบอกว่าต้องมีเอกสารจึงจะถือว่าออก แต่ถ้าไม่ออกเอกสารให้แล้วจะให้เขาหมดสมาชิกภาพภายในวันที่ 17 มกราคม ก็คงไม่ได้ หากจะยึดถือตามแนวนี้ก็ต้องให้เขาต่ออายุวันหมดสมาชิก แต่ในความเห็นส่วนตัวมองว่า ส.ส.ทั้ง 4 คนสามารถย้ายพรรคได้ เพราะเป็นที่ประจักษ์อยู่พอสมควร จะบอกไม่รู้ว่ามีมติขับก็ไม่ได้

ดังนั้น การที่พรรคไม่ออกเอกสารให้อาจจะเป็นการกลั่นแกล้ง เพราะ ส.ส.ยื่นเรื่องขอให้ออกเอกสารให้ เพื่อจะไปสมัครสมาชิกพรรคใหม่ เมื่อเป็นเช่นนี้สามารถฟ้องศาลปกครองได้

Advertisement

อย่านำปัญหาทางเทคนิคเรื่องเอกสารมาทำให้วุ่นวาย อย่าใช้ปัญหานี้มาตัดสินการหมดสมาชิกภาพ ส.ส. อย่ากางกฎหมายแล้วขึงไม้บรรทัดกันว่าเลยกำหนดไปกี่วันแล้ว ทาง กกต.ก็ต้องมีหน้าที่ตรวจสอบและพิจารณาว่า ส.ส. คนนั้น ยังมีชื่ออยู่พรรคเก่าและพรรคใหม่พร้อมกันหรือไม่ หากพบปัญหาก็ต้องรีบแจ้งและแก้ไขให้ถูกต้อง ทุกฝ่ายต้องช่วย ไม่ใช่คอยจับผิดกัน

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาทางเทคนิคเกี่ยวกับการยุบพรรคตัวเอง แล้วย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ ค่อนข้างเป็นปัญหาจากรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ใส่ไข่เยอะแยะจนเกินขอบรัฐธรรมนูญ แทนที่รัฐธรรมนูญควรจะเขียนปกป้องพรรคการเมืองไว้มากกว่า เพราะไม่เช่นนั้นจะยุบพรรคกันเป็นว่าเล่น รวมไปถึงการลงโทษแบบเหมาเข่ง ที่ใครในพรรคทำผิดก็ตัดสินยุบพรรค พรรคการเมืองจึงไม่กลายเป็นสถาบันขึ้นมาเสียที เพราะต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ข้อกฎหมายข้อนั้นข้อนี้ ควรจะปล่อยการเมืองไปตามปกติจะดีกว่า

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้รู้สึกถึงความไม่แน่นอนของ ส.ส.ทั้ง 4 คนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งมีรายละเอียดในตัวบทกฎหมายอยู่แล้ว ต้องไปดูว่ามีข้อจำกัดอย่างไร และจะส่งผลให้ทั้ง 4 คนหลุดจากสถานะ ส.ส.หรือไม่ สุดท้ายเรื่องอาจต้องถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการวินิจฉัย

ในอดีตไม่เคยพบว่ามีกรณีเช่นนี้ ส่วนตัวมองว่ามีความเสี่ยง เพราะยังมีช่องว่างที่แสดงถึงความไม่มั่นคงของทั้ง 4 ส.ส. ในแง่ข้อการตีความข้อกฎหมาย และมีความเป็นไปได้ในระดับหนึ่งที่จะหลุดจากการเป็น ส.ส.ได้เช่นกัน

กรณีนี้ต้องมองไปที่ ส.ส.ที่ถูกขับออกจากพรรค เนื่องจากเป็นความรับผิดชอบของตัวเองที่จะต้องหาบ้านใหม่อยู่ และต้องศึกษาข้อกฎหมาย แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นกรณีใหม่ อาจจะนึกไม่ถึงว่าจะเกิดช่องว่างในการตีความ

สาเหตุที่เกิดปัญหาดังกล่าว เป็นเพราะหลายครั้งเนื้อหารัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมา มีช่องว่างให้เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองขึ้นได้ โดยผู้ร่างกฎหมายไม่ได้คิดมาก่อน ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ให้สังคมเห็นอยู่เรื่อยๆ รวมทั้งกรณีนี้

บทเรียนที่ชัดเจนคือ 1.แม้จะไม่ใช่กรณีแรกสำหรับคนที่ต้องออกจากพรรคใดพรรคหนึ่งและไปหาที่อยู่ใหม่ แต่อาจถือกรณีนี้เป็นบทเรียนว่า ต้องทำให้เกิดความชัดเจนในกระบวนการ และระยะเวลาของการย้ายเป็นอย่างไรบ้าง 2.จะเป็นข้อมูลสำหรับพรรคการเมือง หากบุคลากรที่เคยสังกัดพรรค จะย้ายไปพรรคอื่น มีกระบวนการอะไรบ้างที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้มีข้อเคลือบแคลงสงสัยในอนาคต เป็นภาระหน้าที่ของทั้ง 2 ฝ่าย ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ถือเป็นบทเรียนราคาแพงของทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการย้ายบ้าน

รศ.ยุทธพร อิสรชัย
สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ในรัฐธรรมนูญมาตรา 101 เขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงด้วยเหตุใดบ้าง ทั้งนี้ หากคณะกรรมการบริหารพรรค รวมทั้ง ส.ส.อื่นในพรรคจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 มีมติขับ ส.ส.ออกจากพรรค ถ้า ส.ส.ผู้นั้นไม่เข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายใน 30 วัน ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่พ้น 30 วันดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่มีเหตุให้ต้องเป็นปัญหาเลยว่าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้ออกหนังสือแจ้งมติหรือยัง เพราะในการขับออกจากพรรคนั้น เมื่อมีมติแล้วถือว่ามีผลทันที ซึ่งกฎหมายชัดเจนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ผู้ดำเนินการเรื่องนี้คือ นายทะเบียนพรรคการเมือง มีหน้าที่ทำทะเบียนสมาชิกพรรค หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เช่น การลาออก การถูกขับออก นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องเป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินการ สำหรับการที่ ส.ส.เหล่านี้จะไปหาพรรคใหม่สังกัด โดยผู้ที่เป็น ส.ส.จะต้องไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคนั้นๆ ก่อน เมื่อเป็นสมาชิกและได้รับการรับรองจากที่ประชุมพรรคแล้ว จะถือว่าเสร็จสิ้นกระบวนการย้ายพรรค และต้องมาจดแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อไป จึงจะถือว่าครบถ้วนสมบูรณ์

กรณี 4 ส.ส.ที่ถูกขับออกจากพรรค อ้างว่าพรรค อนค.ยังไม่ออกหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบชัดเจน ก็ต้องย้อนไปกล่าวถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ซึ่งได้เขียนไว้ชัดเจนแล้วว่า “นับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติ” โดยบุคคลทั้งหมดนี้จะต้องไปหาพรรคใหม่ภายใน 30 วัน ไม่จำเป็นต้องรอหนังสือแจ้งจากพรรคเลย เมื่อรอหนังสือก็จะกลายเป็นประเด็นว่าทั้ง 4 ส.ส.ยังไม่ทราบว่าตัวเองถูกขับออกจากพรรคอนาคตใหม่หรือไม่

ในอดีตเคยมีกรณีการย้ายพรรคของ ส.ส.เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ไม่มีเหตุที่จะต้องรอหนังสืออะไรเลย ปกติแล้วเมื่อมีมติขับออกจากพรรค ส.ส.เหล่านั้นก็ดำเนินการทันที ไม่ต้องรอหนังสือจากพรรค เพราะมติดังกล่าวมีผลทางกฎหมายอยู่แล้ว

ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ตามกฎหมาย ทั้ง 4 ส.ส. ต้องหาพรรคใหม่สังกัดให้ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พรรคมีมติ และกฎหมายฉบับเดียวกันกำหนดว่า บุคคลจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองซ้อนกัน 2 พรรคในเวลาเดียวกันไม่ได้ ปัญหาคือ ณ เวลานั้นที่ประชุมพรรคอนาคตใหม่มีมติขับ 4 ส.ส. แต่ยังไม่มีการจัดทำเอกสารการประชุม ตามที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่ายังไม่มีการทำเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะกำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบการลงมติว่า ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง หรือไม่

ดังนั้น เวลานี้สถานะของทั้ง 4 ส.ส. พูดภาษาชาวบ้านคือ “ผีไม่มีศาล” อยู่ในระหว่างการตรวจสอบสถานะว่า อยู่กับพรรคใด

หากมีมติขับจากพรรค ก็ต้องนับย้อนไป 30 จากวันที่ลงมติ แต่มตินั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นอีกเรื่อง ขึ้นอยู่กับว่าองค์ประชุมมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งกำลังอยู่ในการรวบรวมตรวจสอบ แต่ท้ายที่สุดแล้วผู้ที่ต้องพิจารณาก็คือ กกต.ไม่ใช่ตัวพรรคการเมือง โดย กกต.มีหน้าที่ตรวจสอบว่ามตินั้นชอบหรือไม่ พรรคการเมืองมีหน้าเพียงส่งเอกสารเท่านั้น

ส่วนตัวมองว่า กรณีนี้ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาด แต่เป็นเรื่องของกระบวนการ และคนที่อยู่ระหว่างกระบวนการมากกว่า เชื่อว่าไม่มีพรรคการเมืองใดที่จะตั้งใจกลั่นแกล้ง เพราะหากต้องการกลั่นแกล้ง ท้ายที่สุดจะมีกระบวนการฟ้องร้องว่า ได้รับเสียหาย

แต่ปัญหาคือ ต้องเข้าใจในกระบวนการด้วยว่า หาก กกต.วินิจฉัยว่าการลงมติของอนาคตใหม่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส.ส.ทั้ง 4 คนก็ยังสังกัดพรรคอนาคตใหม่อยู่ ก็ต้องมาทำเรื่องกันใหม่อีกรอบ

รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน สร้างปัญหาค่อนข้างมาก รวมทั้ง พ.ร.ป.หลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ไม่ได้มีเจตนารมณ์ในการทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง หรือเป็นสถาบันการเมือง จึงเกิดประเด็นเช่นนี้ขึ้นมา อีกทั้งตัวรัฐธรรมนูญเองก็เปิดโอกาสให้มีการย้ายพรรคได้ใน 30 วัน ซึ่งในอนาคตจะเกิดกรณีเช่นนี้อีกอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลย้ายเอง หรือ ส.ส.ฝ่ายค้านย้ายไปอยู่รัฐบาล นี่คือข้อเสียของรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ทุกคนคงมองเห็นแล้วว่า ตัวรัฐธรรมนูญเปิดช่องไม่ให้การสวนมติพรรคต้องหลุดจากการเป็น ส.ส. ดังนั้น การสวนมติพรรคและย้ายพรรคจึงทำได้ง่าย

อีกประการคือ กรณีของการย้ายไปเป็น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล สามารถสร้างผลงานทางการเมืองได้มากกว่าการเป็นฝ่ายค้าน จึงเป็นเรื่องปกติสำหรับใครก็ตามที่คิดจะฝืนมติพรรคหรือย้ายพรรค ว่า สุดท้ายแล้วรัฐธรรมนูญให้ภาพว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.ก็ไม่สิ้นอยู่ดี ไม่เหมือนกรณีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ฝ่าฝืนมติพรรคแล้วต้องสิ้นสภาพไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image