ที่เห็นและเป็นไป : จะต้องอยู่กันไปอย่างนี้

หลังความเคลื่อนไหว “วิ่งไล่ลุง” ซึ่งดูจากการแสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วดูจะสะท้อนให้เห็นความหงุดหงิดหรือเกิดแรงกดดันอยู่ไม่น้อย

จึงทำให้ได้ยินคำถามที่ว่า “จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรในรัฐบาลหรือไม่” ถี่ขึ้นอีกครั้งในช่วงนี้

เท่าที่สดับตรับฟังในแวดวงผู้คนที่ติดตามการเมืองใกล้ชิด หรือจะว่าให้ถูกเป็นกลุ่มที่มีส่วนได้เสียใกล้ชิดกับความเป็นไปทางการเมือง ในคำถามนี้ คำตอบส่วนใหญ่ไม่คิดว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไร อาจจะมีบ้างก็เล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญ

เช่น มองว่ารัฐบาลและนายกรัฐมนตรีจะยังเป็นคนเดิม อาจจะมีบ้างก็แค่ปรับคณะรัฐมนตรี แต่เป็นการปรับเพื่อให้เสียงสนับสนุนรัฐบาลมีความหนักแน่นขึ้น ให้แก้ปัญหา “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำได้” ไม่ใช่เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นของรัฐบาลไทยแต่อย่างใด

Advertisement

รัฐบาลจะยังอยู่ได้อีกยาวเท่าที่อยากจะอยู่ และภารกิจเพื่อสร้างความ “มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืนในอำนาจ”        ยังดำเนินไปอย่างเอาจริงเอาจังและต่อเนื่อง

โครงสร้างอำนาจที่ถูกออกแบบโดยกติกาใหม่ ซึ่งมุ่งให้ “อำนาจบัญชาการเด็ดขาดรวมอยู่ที่ศูนย์กลาง”     ส่งผลเข้มข้นต่อเนื่อง

ยุทธศาสตร์ทำให้ “พรรคการเมืองอ่อนแอลง” ให้ “อำนาจประชาชนที่ผ่านการใช้สิทธิเลือกตั้ง” อยู่ในสภาพ “เบี้ยหัวแตก” ไร้พลังที่จะต้านทานอำนาจจาก “ศูนย์กลางการผูกขาด” เริ่มสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น

Advertisement

สถานะของ “พรรคการเมือง” กำลังเคลื่อนไปในทิศทางที่กำหนดไว้ คือ เป็น “พรรคเล็ก พรรคน้อย” ที่ไม่มีพลังพอจะแข็งขืนต้านทานอำนาจเด็ดขาดได้

สมาชิกพรรคการเมืองใหญ่เริ่มทยอยออกจากพรรค เพื่อไปตั้งพรรคการเมืองของตัว ด้วยความเชื่อว่าหากรวบรวมผู้คนจนทำให้ในการเลือกตั้งสามารถได้ ส.ส.มา 5 คน 7 คน จะมีโอกาสได้เก้าอี้รัฐมนตรีง่ายกว่ารอวาสนาอยู่ในพรรคใหญ่ที่ต้องแข่งขันกับมวยใหญ่ในพรรคที่มีมากมาย

ถึงแม้ไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรี แต่ ส.ส.พรรคเล็กเป็นอิสระที่จะต่อรองกับทุกฝ่ายได้ดีกว่า เพราะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้เร็วและตลอดเวลา ไม่ติดเงื่อนไขเหมือนเป็น ส.ส.พรรคใหญ่

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรตกอยู่ในสภาพอันประกอบด้วยพรรคการเมืองขนาดเล็ก ไม่เข้มแข็งเหมือนครั้งที่ถูกออกแบบให้เป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่เหมือนในอดีต การทำให้อยู่ภายใต้การควบคุมย่อมง่ายดาย  ตามยุทธวิธี “แบ่งแยกแล้วปกครอง”

ทำให้ “อำนาจของประชาชนโดยประชาชน” ไม่มีพลังพอที่จะต้านทานอำนาจจาก “ศูนย์กลางการผูกขาด” ได้

ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำอะไรโดยแคร์ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนอีก

คำพูดแบบที่ว่า “รู้จักรับผิดชอบตัวเองกันบ้าง ไม่ใช่รอแต่รัฐบาลมาจัดการให้” จะได้ยินบ่อยขึ้น จนความคิดนี้กลายเป็นความชอบธรรมที่ประชาชนต้องมีให้รัฐบาล

เราต้องอยู่กันในสภาพเช่นนี้ชั่วลูกชั่วหลาน อีกหลายชั่วคน โดยปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางอื่นจะถูกบั่นทอน ทำลายลงไปเรื่อยๆ

หากมีบางคนหวังว่า “พลังของประชาชน” จะไม่ยินยอมให้อนาคตของประเทศเป็นไปเช่นนี้

นั่นน่าจะถือว่าเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ

“ม็อบไล่ลุง” อาจดูมีพลังที่จะสร้างแรงกดดันให้เกิดขึ้นไม่น้อย เมื่อผสมกับความเดือดร้อนของประชาชนอันเกิดจากการบริหารเศรษฐกิจไม่ได้ผล กระทั่งเกิดความคิดในคนบางกลุ่มว่า “ความไม่พอใจของประชาชน” จะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้

แต่หากมองให้ลึกลงไป โดยเอาอดีตหรือประวัติศาสตร์มาเป็นเครื่องมือประเมินความเป็นไปแล้ว จะพบว่ามีความเป็นจริงบางอย่างที่ชัดเจนว่าจะไม่เป็นไปเช่นนั้น

เมื่อครั้ง “ม็อบเสื้อเหลือง” ที่นำโดย “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ทั้งที่ได้รับการสนับสนุนเต็มที่ในทุกมิติจากศูนย์กลางอำนาจ แต่กว่าจะล้มรัฐบาลภายใต้การนำของ ทักษิณ ชินวัตร ได้ ต้องใช้เวลายาวนาน

เช่นเดียวกับ “ม็อบนกหวีด” ของ “กปปส.” ที่ยิ่งได้รับแรงหนุนจาก “ศูนย์กลางอำนาจ” กว่าจะล้ม “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ได้ ใช้เวลายาวนานและต้องสร้างความสูญเสียให้กับประเทศชาติต่อเนื่องยาวนานเช่นกัน

ไม่ต้องพูดถึง “ม็อบเสื้อแดง” ที่ถูกต่อต้านและตอบโต้จาก “ศูนย์กลางอำนาจ” ซึ่งไม่เพียงล้มเหลว แต่ยังก่อความสูญเสียยับเยินจากความพ่ายแพ้

“ม็อบอาจจะสะท้อนพลังประชาชน” แต่ยากที่จะทำให้กระทบต่อ “พลังจากศูนย์กลางการผูกขาดอำนาจ”

คำถามที่ว่า “จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในทางการเมืองหรือไม่”

คำตอบจึงออกไปในทาง “จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางที่จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง ผู้แทนราษฎรแสดงออกในทางไร้ศักดิ์ศรีมากขึ้น ขณะที่อำนาจรวมศูนย์ผูกขาดจะแข็งแกร่งขึ้น”

เป็นคำตอบที่เป็นความหวังต่อประเทศและประชาชนหรือไม่

คนไทยทุกคนต้องถามตัวเอง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image