สถานีคิดเลขที่ 12 : ไม่(น่า)ไว้วางใจ : โดย จำลอง ดอกปิก

พรรคฝ่ายค้าน

เลื่อนการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลข้ามปี มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง

ล่าสุดที่ยืนยันขันแข็ง จะดีเดย์ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 20 มกราคม ก็ลากเลื่อนอีกครั้ง

ได้แต่นัดประชุมพรรคร่วม เคลียร์ปัญหาไม่ลงตัว รัฐมนตรีที่จะถูกยื่นซักฟอก เนื่องจากความเห็นไม่ตรงกัน

Advertisement

นอกจาก 5 รายที่แถลงไว้ ประกอบด้วย 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 2.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 3.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ 4.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ 5.นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ยังมีรัฐมนตรีเป้าหมาย ที่ต้องขยายเพิ่มจำนวนอีกหรือไม่

โดยเฉพาะราย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยเสียงแตก

Advertisement

ฝ่ายหนึ่งนำโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เห็นว่าไม่มีข้อมูลแน่นหนาพอที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขณะที่ ส.ส.จำนวนหนึ่ง เรียกร้องต้องการให้เพิ่มชื่อในบัญชี ระบุว่ามีข้อมูลเด็ด ที่จะอภิปรายโน้มน้าวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ตัดสินใจ ลงมติไม่ไว้วางใจรองนายกรัฐมนตรีท่านนี้ได้

ไม่เพียงแต่ ส.ส.บางกลุ่ม ของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

พรรคร่วมฝ่ายค้านบางพรรค ก็สนับสนุน อภิปราย ‘บิ๊กป้อม’ ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในบรรดา 7 พรรคนั้น ไม่มีพรรคใดยื่นคำขาด

ว่าต้องไม่มีชื่อ พล.อ.ประวิตร หรือต้องมี

นั่นหมายความว่า ยังเปิดกว้าง สำหรับการเพิ่มเติมรายชื่อรัฐมนตรีรายอื่นๆ รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับการหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูลอภิปราย ระหว่างกัน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่า จะเพิ่มเติมใครอีกหรือไม่

พรรคฝ่ายค้าน มี ส.ส.-นักการเมือง ที่คร่ำหวอด ผ่านงานการเมืองมาอย่างโชกโชน ทั้งในบทบาทรัฐบาล และการเป็นฝ่ายตรวจสอบ

ฉะนั้น จึงรู้หลักดี สมควรบรรจุใครบ้าง

แม้เรื่องนี้ไม่มีกฎล็อกตายตัว แต่ก็มีกรอบ พิจารณา รัฐมนตรีที่อยู่ในข่าย เช่น รายที่บริหาร ราชการแผ่นดินล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ส่งผลเสียหายต่อประเทศ ทุจริต มีพฤติการณ์ไม่ชอบมาพากล ใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ เป็นต้น

ในรายของการบริหาร ไม่มีประสิทธิภาพนั้น อาจไม่ยาก

แต่การที่ ไม่มีมาตรฐานกลางแบบชั่งตวงวัดตัดสิน ก็จำเป็นต้องดูให้ถ้วนถี่ คัดเฉพาะรายที่ล้มเหลวเป็นที่ประจักษ์ เพราะการอภิปรายเรื่องนี้นั้นง่าย แต่ต้องสะท้อนความเป็นจริง ที่สังคมเห็นพ้อง จับต้องผลกระทบได้

ที่ยาก และเป็นไฮไลต์ของการอภิปรายทุกครั้งคือ เรื่องส่อไปในทางทุจริต เอื้อประโยชน์ ใช้อำนาจหน้าที่มิชอบประการต่างๆ

ยากเนื่องจาก ข้อมูล หลักฐาน ที่ถือว่าเป็นใบเสร็จทางการเมืองนั้น หายาก

ต่อให้รู้ทั้งรู้ แต่หากไม่มีข้อมูล ก็อาจต้องยกประโยชน์ให้กับรัฐมนตรีรายนั้นๆ

ฝ่ายค้านเอง จำเป็นต้องรักษาหน้าตา ความน่าเชื่อถือ ด้วยเช่นกัน

จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ที่ฝ่ายค้านจะได้แลกเปลี่ยน นำเรื่องมาอภิปรายถกเถียง เพื่อหาข้อสรุป จะอภิปรายกี่คน กันแน่ ใครบ้าง

ไม่ใช่ใส่ชื่อเยอะๆ เข้าไว้ อภิปรายไม่ไว้วางใจแบบหว่านแห

แต่ต้องขึ้นอยู่กับ ข้อมูล หลักฐานในมือเป็นหลัก

และต้องพิจารณาอย่างตรงไป ตรงมา ไม่มีวาระซ่อนเร้น ทางการเมือง และผลประโยชน์แอบแฝง

ความไม่ลงตัวของการอภิปรายครั้งนี้ มีกระแสข่าวกระเส็นกระสาย

ที่สรุปไม่ได้ มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งในรายการ ชื่อคนเข้าคนออก และข้อมูลอภิปราย

ในแวดวงการเมืองนั้น เป็นที่รู้กันว่า ช่วงการยื่นอภิปรายนั้น เป็นฤดูตักตวงเงินทองของนักการเมือง บางคน บางกลุ่ม

แค่เอาชื่อ ใครเข้าใครออก แค่แกล้งทำเป็นปูดปล่อยหัวข้อเรื่องอภิปราย

เท่านี้ก็มีคนวิ่งเข้าหา ออฟเฟอร์ปิดเรื่อง

การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นมาตรการตรวจสอบสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติที่กระทำต่อฝ่ายบริหาร และเป็นหนึ่งในความคาดหวังตามกรอบกติกา ที่จะก่อให้การเปลี่ยนแปลงในฝ่ายบริหาร ในระดับต่างๆ

แต่บางครั้ง นักการเมืองกลับทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของความเป็นญัตติสูงสุด

ร้องหาระบบการควบคุม ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่กลับไม่ให้ความสำคัญ ในการแสดงออกซึ่งบทบาทในสภาอย่างตรงไปตรงมาเต็มกำลังความสามารถเพื่อเป็นการยืนยัน ดำรงรักษาระบบไว้

ไว้วางใจไม่ได้อีกเหมือนกัน

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image