‘สนธิรัตน์’ ชูเครื่องยนต์พลังงาน… พลิกเศรษฐกิจไทย

หมายเหตุนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ “มติชน”เกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงานที่จะดำเนินการในปี 2563 ท่ามกลางปัจจัยต่างๆ ของเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่เริ่มมีปัจจัยลบเกิดขึ้นต่อเนื่อง

ทิศทางนโยบายพลังงานปี 2563
จากนโยบาย เอ็นเนอร์ยี่ ฟอร์ออล์ คือ พลังงานเพื่อทุกคน เรื่องเร่งด่วนไตรมาส 1 (มกราคม-มีนาคม 2563) คือ โครงการที่กระทรวงเดินหน้าไปแล้วคือ นโยบายกำหนดให้น้ำมันดีเซลบี10 เป็นน้ำมันพื้นฐาน และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม และวันที่ 1 มีนาคมนี้ ทุกสถานีบริการจะมีน้ำมันบี10 จำหน่ายเต็มรูปแบบ ซึ่งนโยบายนี้ก่อเกิดผลมาตั้งแต่ปลายปี 2562 และตอนนี้มีผลดีเกินเป้าหมาย เพราะราคาปาล์มน้ำมันทะลุ 8 บาทต่อกิโลกรัม ขณะนี้ไปแรงมาก เพราะโรงกลั่นต่างๆ ได้เตรียมสต๊อกบี100 เพื่อใช้ตามแผนที่กระทรวงพลังงานกำหนด ซึ่งบี10 เป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินการไตรมาส 1 เป็นกลุ่มของเชื้อเพลิงชีวภาพ และไตรมาส 1 จะประกาศเรื่องน้ำมันแก๊สโซฮอล์ จะผลักดันน้ำมันอี20 เป็นน้ำมันพื้นฐานของแก๊สโซฮอล์ มุ่งเป้าหมายแก้ราคาสินค้ามันสำปะหลังและเอทานอลซึ่งเป็นพืชเกษตรสำคัญ

นอกจากนี้ในไตรมาส 1 จะเดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชน โดยเดือนมกราคมนี้จะประกาศหลักเกณฑ์ โดยหลักเกณฑ์เสร็จระดับหนึ่งแล้ว และรับฟังความเห็น 1-2 สัปดาห์ เปิดรับข้อเสนอเอกชนและประชาชนที่พร้อมในการขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชน ถือเป็นโครงการหลักของกระทรวงพลังงานปีนี้ทั้งปี เพราะอย่างที่รู้ว่าโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นโครงการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก มีเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ แก้ปัญหาในต่างจังหวัดที่มีปัญหา

นอกจากนี้จะใช้เงินของกองทุนอนุรักษ์พลังงานที่มีอยู่ 10,000 ล้านบาทต่อปี เข้าไปแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจในชุมชน โดยเดือนมกราคมนี้จะเปิดรับยื่นข้อโครงการ และกุมภาพันธ์พิจารณาโครงการ และมีนาคม-เมษายน จะอนุมัติโครงการ อนุมัติเงิน โดยเงินจากกองทุนอนุรักษ์มีเป้าหมายแก้ปัญหาภัยแล้ง การสร้างมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจฐานรากด้วยกลไกการเอากองทุนของพลังงาน เรียกว่าสถานีพลังงาน คือ การเอาพลังงานไปสร้างความเจริญในพื้นที่ชุมชน คล้ายกับกาญจนบุรีโมเดล

Advertisement

นอกจากนี้จะนำข้อสั่งการของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่สั่งตอนไปเยี่ยม กฟผ. ให้ดูแลอัตราค่าไฟสำหรับผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็กมาก (ไมโครเอสเอ็มอี) เพื่อช่วยพี่น้องประชาชนลดค่าภาระค่าไฟฟ้า และค่าก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) จะเห็นความชัดเจนในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างราคาน้ำมันกับกลุ่มต่างๆ จะเห็นผลได้ในไตรมาส 1 เพื่อให้ราคาพลังงานเป็นธรรม

ดังนั้น ในภาพรวมของนโยบาย โดยหลักการจะไม่ดูแค่โครงการที่เกิดขึ้น แต่จะดูการหมุน การเชื่อมโยงโครงการต่างๆ เน้นการเชื่อมโยงบูรณาการข้ามหน่วยงาน เป็นทิศทางของเรื่องใหญ่ๆ ในไตรมาส 1 แรงเหวี่ยงจากไตรมาส 1 ไปสู่เรื่องใหญ่อื่นๆ ในไตรมาส 2 (เมษายน-มิถุนายน 2563) และไตรมาส 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2563) ซึ่งจะเป็นการผลักดันภาพใหม่ หรือแม็คโคร หลังจากเดินหน้าในภาพย่อย หรือไมโครแล้ว คือ นโยบาย เอ็นเนอร์ยี่ ฟอร์ออล์ เป็นพลังงานเพื่อคนทุกคนแล้ว

โดยในภาพใหญ่ ประเทศไทยต้องใช้ศักยภาพพลังงานของประเทศ อาทิ การผลักดันการเป็นเทรดเดอร์ ออฟ อาเซียน ด้านพลังงานไฟฟ้า ที่ผ่านมาได้เริ่มแปรรูปเป็นโครงการย่อยๆ อาทิ โครงการของ กฟผ.ที่เข้าไปลงทุนเรื่องสายส่ง รับการเชื่อมโยงการขายไฟฟ้า หรือการหาตลาด ช่องทางขายไฟฟ้าไปประเทศเพื่อนบ้าน ใช้ศักยภาพความเป็นเทรดเดอร์ ออฟ อาเซียน สร้างความมั่นคง เพิ่มศักยภาพให้ประเทศ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริการไฟฟ้าของภูมิภาค เกิดกำลังผลิตใหม่ๆ

Advertisement

นอกจากนี้ในภาพใหญ่ สิ่งที่จะดำเนินการควบคู่กัน คือ การเป็นแอลเอ็นจีฮับ (ศูนย์กลางก๊าซธรรมชาติเหลว) โดยไตรมาส 3 จะผลักดันไทยเป็นคอมเมอร์เชียลไลน์เชิงพาณิชย์ แต่ไตรมาส 3 คงไม่เกิดทันที ต้องดูว่าจะต้องแก้ไขเรื่องไหนที่เป็นอุปสรรค ติดขัดส่วนไหน ฝั่งข้าราชการมีกฎระเบียบใดที่ต้องแก้ไข ซึ่ง ปตท.หน่วยงานหลักได้เสนอแผนมาเบื้องต้นให้ไทยเป็นฮับจริงๆ เป็นผู้บริการพลังงานในภูมิภาค เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันในอนาคต

เรื่องเหล่านี้จะทำให้ไทยเป็นผู้นำพลังงานภูมิภาค เล่นบทบาทมากกว่ากรอบเดิมๆ ที่เป็นมา และใช้บทบาทเหล่านี้ช่วยพัฒนาพลังงานภาคชุมชนให้แข็งแกร่ง ซึ่งการพัฒนาทั้งหมดต้องมองการแข่งขัน ต้นทุนพลังงานต้องแข่งขันได้ แต่ประเทศไทยมี 2 ทิศทาง คือ การมองพลังงานแบบมหภาพ เป็นการมองแบบอดีตที่เคยมอง กับการมองพลังงานในเรื่องของฐานรากชุมชน ที่ปัจจุบันรัฐบาลหยิบขึ้นมา ทั้ง 2 ทางนี้มีข้อขัดแย้งกัน คือ หากพลังงานชุมชนเติบโตมาก ต้นทุนพลังงานจะแพงขึ้น เพราะเชื้อเพลิงไบโอแมส ไบโอก๊าซ พลังงานหมุนเวียนต่างๆ แพงกว่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าปกติ แต่สิ่งที่ดีกว่าคือ การ
กระจายการผลิตไปสู่ข้างล่าง ไม่ให้กระจุกตัว และยังสามารถไปหมุนเศรษฐกิจฐานราก สร้างเศรษฐกิจฐานรากได้ตั้งแต่ชาวบ้าน ชุมชน มีรายได้จากปัจจัยการผลิต มีการลงทุน มีโรงไฟฟ้า เรื่องนี้จะเทค
บาลานซ์ให้เดินไปด้วยกันให้ได้

ขณะเดียวกันการสนับสนุนพลังงานชุมชนจะเป็นรากฐานสำคัญของบางโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จ อาทิ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ภาคประชาชน เพราะเป้าระยะยาวคือโซลาร์ ภาคประชาชนต้องเกิด บ้านทุกบ้านในอนาคตจะต้องติดตั้งโซลาร์ภาคประชาชน ทำให้เจ้าของบ้านลดค่าใช้จ่าย รองรับไมโครกริด รองรับการซื้อไฟฟ้าด้วยกันเองในอนาคตที่ต้องแก้เกณฑ์ รวมถึงประชาชนจะมีรายได้จากการเป็นผู้ผลิต โรงไฟฟ้าชุมชนเป็นขั้นที่ 1 เพราะอนาคตจะต้องดิสรัปชั่นโพรซูเมอร์อย่างเต็มรูปแบบ จะผูกความต่อเนื่องต่างๆ ตามมา

ทั้งนี้ ทั้งพลังงานชุมชนและศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาค จะดำเนินการให้เกิดขึ้นในไตรมาส 2 รวมทั้งการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทย ซึ่งกระทรวงประกาศนโยบายไปแล้ว ดำเนินการไตรมาส 2 อาทิ เรื่องการทำสถานีชาร์จ
อีวี บริเวณที่จะจัดตั้งสถานีชาร์จอีวี เรื่องการศึกษาค่าไฟส่วนเกินที่จะมาส่งเสริมการทำสถานีชาร์จอีวี
สิ่งเหล่านี้จะผลักดันในไตรมาส 2 และ 3 เพื่อเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานประเทศไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า กระทรวงพลังงานจะมีบทบาทเหล่านี้ รวมถึงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ต้องผ่านไปให้ได้

และไตรมาส 2 จะดูเรื่องของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ 20 ปี (พีดีพี 2018) ที่ดำเนินการมาแล้ว หากมีความจำเป็นต้องปรับแก้จะดำเนินการในไตรมาส 3 โดยจะดูจากผลจากนโยบายต่างๆ ที่ดำเนินการในขณะนี้ แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาว่าต้องแก้ แต่จะแก้หากจำเป็น เพื่อให้สอดรับกับนโยบายทั้งหมด
ต้นทุนโรงไฟฟ้าชุมชน

ต้องสอดคล้องแผนพีดีพี
ทั้งนี้ยอมรับว่า มีบางฝ่ายกังวลว่าต้นทุนจากโรงไฟฟ้าชุมชนจะกระทบค่าไฟ ดังนั้น ต้นทุนส่วนนี้ต้องบาลานซ์และสอดคล้องกับพีดีพี อย่างการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน นำร่อง 700 เมกะวัตต์ คงไม่มีผลกระทบกับค่าไฟฟ้า แต่ในภาพรวม ถ้าโครงการประสบความสำเร็จได้ดี ต้องเดินต่อ แต่จะทำยังไงต้องดูอีกที และอนาคตปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากชุมชนต้องเพิ่มขึ้นหรือไม่ ขอดูโครงการที่จะเดินหน้านี้ก่อน

อีกเรื่องต้องดำเนินการภายในไตรมาส 3 คือ การเปิดสัมปทานรอบใหม่ และการพิจารณาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (โอซีเอ) เพราะเหล่านี้คือความมั่นคงระยะยาวของประเทศ เพื่อให้มีความพร้อมในการเผชิญปัญหาต่างๆ ได้ สัมปทานจะดูทั้งหมดทั้งทางบก ในทะเล และโอซีเอ ต้องดูว่าทรัพยากรที่มีอยู่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ยังไง

พลังงานพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย
ปีนี้ พลังงานจะมีส่วนในการพลิกเศรษฐกิจไทย ไม่ได้พลิกเศรษฐกิจฐานรากอย่างเดียว แต่ผลักตัวเองเป็นผู้นำด้านพลังงานของภูมิภาค ควบคู่กับการสร้างความมั่นคงระยะยาวของประเทศ หลายมิติ และดิสรัปทีฟ มุ่งอีวี พลังงานหมุนเวียน การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ยกร่างหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนภายในมกราคมนี้
กระทรวงจะเร่งทำงานให้เห็นหลักเกณฑ์เดือนนี้ เช่นเดียวกับบี10 จะต้องแพร่หลาย รวมทั้งการกำหนดอี20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน มีโอกาสคุยกับโรงไฟฟ้าชุมชนหนึ่ง ปลื้มใจมาก เพราะจะเอาเงินคืนจากโรงไฟฟ้าชุมชนอัตรา 25 สตางค์ต่อหน่วยที่ไปฟื้นฟูวัฒนธรรมในพื้นที่ ป้องกันปัญหายาเสพติด เพราะมองว่าเป็นรายได้ที่มากกว่าแค่ขายวัตถุดิบเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ส่วนปัญหาพื้นที่การจัดตั้งผังเมือง สัปดาห์นี้ให้คณะทำงานเร่งพิจารณาและหาทางออกภายใน 2 สัปดาห์นี้ เพื่อให้เสร็จอย่างเร่งด่วนภายในเดือนนี้

ประเด็นราคาปาล์มน้ำมันสูงจากนโยบายบี10 จนกระทบราคาปาล์มขวด
เรื่องนี้จะทำงานกับกระทรวงพาณิชย์ บริหารงานร่วมกัน เพราะกระทรวงพาณิชย์ดูแลสต๊อก ดูซัพพลายให้สมดุล ไม่ให้ราคาเป็นปัญหาถึงผู้บริโภค ปัจจุบันปาล์มน้ำมันทะลุ 8 บาทต่อกิโลกรัม แล้ว
คาดว่าราคาไม่สุด ยังขึ้นรายอาทิตย์ เพราะมีบี100 มากระตุ้น ต้องรอปาล์มใหม่ออกมาเดือนกุมภาพันธ์นี้จะทำให้ราคาลงได้ ราคาจะดีไม่วิ่งแรงมาก

การลดเกรดน้ำมันหลังกำหนดบี20เป็นน้ำมันพื้นฐาน
ตอนนี้เป้าหมายของไทยคือการลดเกรดน้ำมัน ปัจจุบันมี 9 เกรด ที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 6 เกรด ทั้งดีเซลและเบนซิน เพราะปั๊มน้ำมันเมืองไทยมีถังน้ำมันใต้ดินไม่เกิน 5 ถัง การมีเกรดมากเป็นภาระของผู้ประกอบการ ดังนั้น จึงเป้าหมายลด และเรื่องนี้จะเห็นความชัดเจนภายใน 6 เดือนนี้ ต่อไปจะดูผลราคามันสำปะหลังให้ดี จากการสนับสนุนน้ำมันอี20 และมีแนวคิดนำใบอ้อยมาผลิตไฟฟ้า แก้ปัญหาการเผาอ้อย ปัญหาฝุ่นพิษ พีเอ็ม2.5 ซึ่งทั้งหมดนี้จะยกรับราคาสินค้าเกษตร

การลงทุนของ 2 รัฐวิสาหกิจช่วงเงินบาทแข็งค่า
บทบาทของรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงพลังงาน คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะมีส่วนในการ
กระตุ้นเศรษฐกิจภาคการลงทุนแน่นอน โดยปีนี้ทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจจะมีการลงทุนรวมกันประมาณแสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ได้กระตุ้นให้เร่งการลงทุนในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าแล้ว

บทบาทของภาคพลังงานต่อเศรษฐกิจไทย
ที่ทำทั้งหมดคือ โลคัล อีโคโนมี เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับ 1.การส่งออก 2.การท่องเที่ยว ดังนั้น เรื่องพลังงานจะต้องกระตุ้นการใช้จ่ายของชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นโยบายของกระทรวงพลังงาน ต้องการเข้าไปเสริม โดยใช้พลังงานเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา จะเป็นเครื่องยนต์ที่ 3 ของเศรษฐกิจไทย

..

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image