‘วิษณุ’ ยันคดีเสียบบัตรแทนกันในอดีต ยกมาเป็นบรรทัดฐานตัดสินปัจจุบันไม่ได้

“วิษณุ” ชี้คดีเสียบบัตรแทนกันในอดีตไม่สามารถยกมาเป็นบรรทัดฐานคดีปัจจุบันได้ ยัน พ.ร.บ.งบฯล่าช้า ไม่ทำให้วิบัติ อย่างที่ถูกวิจารณ์

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 22 ม.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์อีกครั้ง ถึงกรณีการเสียบบัตรลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 แทนกันของสมาชิกพรรคภูมิใจไทย จนอาจทำให้การประกาศใช้พ.ร.บ.งบฯ ล่าช้าออกไป ว่า กรณีนี้ ขอให้แยกออกเป็นสองเรื่อง คือ หนึ่ง ต้องไปดูกันว่า การแสดงตนหรือการใช้สิทธิของ ส.ส. ในการลงมติ ได้ทำถูกต้องหรือไม่ หรือมีการเสียบบัตรแทนกันหรือไม่ สอง ผลจากการนี้จะกระทบต่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณดังกล่าวอย่างไร แม้จะเกี่ยวกันแต่ก็ต้องแยกกันเป็นคนละประเด็น เพราะความผิดต่างกัน โทษต่างกัน ผลกระทบต่างกัน ในกรณีของการกระทำนั้นจะเป็นความผิดหรือไม่นั้นอยู่ที่ทางสภา เป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งทราบในเบื้องต้นว่าประธานสภามอบหมายให้เลขาธิการสภาไปดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและได้ทราบผลมาในระดับหนึ่งแล้ว

นายวิษณุกล่าวว่า ซึ่งข้อเท็จจริงก็ได้มีปรากฏออกมาในข่าวของสื่อ ที่ว่ามีการเสียบบัตรคาทิ้งไว้ โดยที่เจ้าของบัตรไม่ได้มอบหมายหรือวานให้ใครกดแทนซึ่งตรงนี้จริงหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ ขณะเดียวกันก็มีปัญหาว่าเมื่อมีการเสียบบัตรทิ้งไว้เจ้าหน้าที่ของสภาได้เดินตรวจตราแล้วเก็บกลับออกมาตามวิธีปกติหรือไม่ หากเจ้าหน้าที่ระบุว่าเก็บแล้วเหตุใดจึงยังมีบัตรเสียบคาไว้อยู่ ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าอาจจะมีบุคคลอื่นนำบัตรไปเสียบลงคะแนนให้ในทีหลัง แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ได้เก็บ บัตรดังกล่าวก็ยังเสียบคาไว้ที่เครื่อง และถ้าไม่มีใครนำไปกดรหัสสัญญาณจากตรงนั้นจะปรากฏออกมาได้อย่างไร ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนจะเกิดผลกระทบอย่างไรนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงตรงนั้นเป็นสำคัญ

นายวิษณุ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเคยมีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ใน 2 เรื่อง เรื่องแรกเมื่อปี 2556 อีกเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2557 โดยเรื่องแรกมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่15-16-17-18/2556 เรื่อง คราวที่มีการขอแก้ไขและธรรมนูญ ซึ่งในครั้งนั้นมีการกล่าวหาหลายเรื่อง รวมถึงที่มีการลงมติและมีการเสียบบัตรแทนกัน และมีการวิจารณ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในครั้งนั้นว่าขัดรัฐธรรมนูญทุกเรื่อง ส่วนเรื่องของการเสียบบัตรแทนกันในครั้งนั้น นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย นำบัตรลงคะแนนของ ส.ส. คนอื่นประมาณ 4-5 คน ไปเดินเสียบลงคะแนน จึงถูก น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส. สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ถ่ายคลิปวิดีโอไว้ แล้วถูกนำไปเปิดแฉในชั้นศาล ทำให้ศาลเชื่อได้ว่ามีการเสียบบัตรแทนกันจริง ศาลจึงใช้หลัก 3 ข้อมาวินิจฉัย นายวิษณุกล่าวว่า คือ 1. ส.ส. หนึ่งคนมีสิทธิลงคะแนนหนึ่งเสียง แต่เมื่อนำบัตรของคนอื่นไปเสียบแทนก็แสดงว่าบุคคลนั้นใช้สิทธิเกินหนึ่งเสียง ซึ่งถือเป็นความผิด 2. ส.ส. ได้มีการปฏิญาณตนแล้วว่า จะต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่เมื่อปฏิบัติงานออกมาแบบนี้ ก็ถือว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต 3. สมาชิกสภา จะต้องมีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ในอาณัติของใคร ดังนั้นการที่ ส.ส. นำบัตรไปให้ใครเสียบลงคะแนนแทน แล้วบุคคลนั้นนำไปเสียบแทนก็ถือเป็นการครอบงำบุคคลอื่น

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

Advertisement

ศาลจึงใช้หลักการทั้งสามข้อนี้วินิจฉัยว่า เฉพาะ เรื่องการลงมติ จึงถือว่าไม่ชอบจึงถือว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และลำพังเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้กฎหมายฉบับนั้นตกไป แต่ที่ร่างกฎหมายนั้นตกไป เพราะมีปัจจัยอื่น 4-5 สาเหตุมาประกอบกัน นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนกรณีปี 2557 ผู้กระทำเป็นคนเดียวกันคือนายนริศร ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการกระทำในเวลาที่ต่อเนื่องกัน โดยเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-4/2557 กรณีพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. … หรือพ.ร.บ.2 ล้านล้านบาท ที่เรียกกัน ซึ่งถูกร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยสองประเด็นหลัก คือ 1. การกล่าวหาว่ามีการเก็บบัตรแทนกัน ในการลงมติ โดยสายนริศรนำบัตรลงคะแนนของ ส.ส.4-5 ใบ ไปเดินเสียบลงคะแนนแล้วถูกถ่ายคลิปวิดีโอไว้ 2. การที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจกระทรวงการคลังไปกู้เงิน เป็นการทำที่ไม่ผ่านวิธีการงบประมาณ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า เรื่องอย่างนี้ต้องใช้กฎหมายงบประมาณเท่านั้น ซึ่งในเรื่องของการเสียบบัตรแทนกันนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้หลักการสามข้อข้างต้น มาพิจารณา แล้ววินิจฉัยว่าการลงมติในวันนั้นมิชอบ ทั้งนี้เราก็ต้องเข้าใจว่ากรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ มีทั้งส่วนที่เหมือนและต่างกับในอดีต ซึ่งตนไม่ขอตอบและไม่ชี้นำว่า ผลจะเป็นประการใด หรือจะเกิดอะไรขึ้น โดยตอนนี้ต้องรอให้สภาผู้แทนราษฎรสรุปผลสอบข้อเท็จจริงออกมาให้ได้เสียก่อน ว่าเป็นการเสียบบัตรแทนกัน หรือเสียบคาไว้ หรือเป็นความบกพร่องของระบบเครื่องลงคะแนน โดยที่ตนเองก็ยังไม่ทราบว่าผลจะออกมาอย่างไร และเมื่อได้ความกระจ่างแจ้งออกมาอย่างไรแล้วก็จะทำได้ความเหมือน หรือแตกต่างจากในอดีต ขณะเดียวกันเมื่อปี 2556 และ 2557 เป็นการเสียบบัตรแทนกันหลายใบ ซึ่งขณะนั้นศาลเชื่อว่าอาจจะมีมากกว่า 4-5 ใบ

แต่กรณีล่าสุดนี้มีความชัดเจน ว่ามีเพียงหนึ่งใบ เว้นแต่ จากนี้ไปจะปรากฏความชัดเจนออกมาว่ามีใบที่ 2 หรือ 3 ตามมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ตนอยากให้สื่อมวลชนได้เห็นความแตกต่าง อย่างไรก็ตามหากใครยังรู้สึกมีความคลางแคลงใจก็สามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยผู้มีสิทธิยื่นร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ก็จะมีทั้ง นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ก่อนที่จะนำร่างฯงบประมาณขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะเมื่อทางสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ จบแล้วจะต้องทิ้งเวลาไว้ 3 วันเพื่อส่งมา ดำเนินการตามขั้นตอนก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยช่วงเวลาดังกล่าวเป็นโอกาสที่หากยังมีใครติดใจสงสัย ก็สามารถยื่นคำร้องต่อประธานสภาเพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยได้ เพราะฉะนั้นร่าง พ.ร.บ.งบฯ จะโมฆะหรือไม่ อย่าเพิ่งไปใช้คำนั้น การลงมติแบบนั้นจะทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ถูกต้องไปด้วยหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ดังนั้นข้อที่ควรจะเข้าใจต่อไปคือ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับกฎหมายสองฉบับในอดีต หากการลงมติที่ไม่ถูกต้องนั้นเกิดขึ้นในวาระสาม ก็จะทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ถูกต้องทั้งฉบับ ก็ต้องจบไปทั้งฉบับ แต่กรณีพ.ร.บ.งบฯ63 นี้มีเงินแง่ ที่ต่างจากกฎหมายฉบับอื่น เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 143 กำหนดว่าสภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน แม้จะครบกำหนดเวลาถ้ายังไม่เสร็จก็ต้องถือว่าเสร็จ หรือเห็นชอบตามที่รัฐบาลเสนอ ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องไปตีความให้ รัฐบาลว่าตอนนี้เกินเวลา 105 วันมาแล้ว ถ้ามตินั้นไม่ถูก จะทำให้ร่างกฎหมายนั้นต้องเสียไปทั้งฉบับหรือเสียไปเฉพาะการลงมติวาระสอง และวาระสาม ที่มิชอบนั้น หากถือว่ามตินั้นมิชอบ ก็เท่ากับว่าสภา ไม่ได้พิจารณากฎหมายให้แล้วเสร็จ ภายใน 105 วัน “ผมไม่ตอบ ไม่ชี้นำ ไม่วินิจฉัย และไม่รู้ สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นประเด็นที่จะต้องนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ผลการวินิจฉัยในอดีตไม่ได้เป็นบรรทัดฐาน 100% ต่อคดีในปัจจุบันทุกกรณี เว้นแต่ศาลจะมองว่าเป็นรูปแบบเดียวกัน เพราะบางเรื่องกฎหมายก็ต่างกัน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ระบุผลการตรวจสอบว่าเป็นการเสียบบัตรแทนกัน ไม่ใช่การเสียบบัตรคาเครื่องไว้ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องรอให้สภามีผลการตรวจสอบออกมา แล้วนำผลดังกล่าวเข้าไปสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะแม้แต่ผู้ร้องคือนายนิพิฏฐ์ ก็ให้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย นายวิษณุกล่าวว่า หากมีการส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แล้วศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้จะทำให้การออกประกาศใช้พ.ร.บ.งบฯ63 ล่าช้าออกไป แต่ผลกระทบจากตรงนั้นคงไม่วิบัติอย่างที่ใครเขาคิดกัน “ซึ่งถ้าสมมุติว่า ศาล รธน. วินิจฉัยว่าให้ตัดออกไปได้ 1-2 เสียงก็จะโอเค แต่ถ้าศาลระบุว่าใช้ไม่ได้ อาจจะกลับมาบอกผลว่าเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งผมไม่ขอตอบว่าผลจะเป็นอย่างไร มิเช่นนั้นจะมาหาว่าผมชี้นำ แต่ขอย้ำว่าไม่ต้องเกรงใจว่าจะเกิดผลกระทบอะไร ที่มีลักษณะวิบัติ แต่ยอมรับว่าช้าแน่นอน เพราะติดขั้นตอนศาลรัฐธรรมนูญ” ผู้สื่อข่าวถามว่า ระหว่างรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนราชการจะสามารถนำงบประจำ มาใช้ได้ใช่หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีปัญหา รธน. เขียนไว้แล้วว่าให้ใช้งบประมาณของปีเก่าไปพลางก่อน ซึ่งขณะนี้เราก็ใช้มา 4 เดือนแล้ว เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงถึงงบลงทุน รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องงบลงทุนนั้นเราพยายามไม่แตะ แต่ตอนนี้งบประจำสามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งทางสำนักงบประมาณได้เตรียมการไว้แล้ว ในเรื่องการใช้งบประจำ เช่น เงินเดือน ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบหรือทำความเดือดร้อนอะไร ส่วนโครงการก่อสร้างต่างๆ ขอให้รอไว้ก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image