‘สุชาติ’ โทษเครื่องลงคะแนนไม่พอ ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน

เสียบบัตรแทน-เมื่อวันที่ 22 มกราคม นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการตรวจพบว่ามีการใช้บัตรลงคะแนนของ ส.ส.บางรายลงมติในระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยที่เจ้าของบัตรไม่อยู่ในห้องประชุมว่า คงรอผลการตรวจสอบของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ได้มอบหมายไป และเรื่องนี้ทราบว่าทางพรรคต้นสังกัดเองได้ตั้งกรรมการสอบสวนด้วย ส่วนจะมีผลทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นโมฆะหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาหรือไม่ และศาลจะวินิจฉัยอย่างไร

ทั้งนี้ พฤติกรรม ส.ส.เสียบบัตรแทนกันนั้นมีมาก่อนหน้านี้แล้ว จนครั้งล่าสุดก็ส่งผลถึงขั้นทำให้กฎหมายสำคัญเป็นโมฆะมาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ทราบกัน ซึ่งได้กำชับให้มีการเฝ้าระวังอยู่แล้ว แต่มีข้อจำกัดในเรื่องการจัดหาเครื่องมือและเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณ ประกอบกับช่วงนี้การก่อสร้างห้องประชุมสุริยันยังไม่เสร็จ ทำให้สภาผู้แทนฯต้องมาใช้ห้องประชุมจันทราของวุฒิสภา ซึ่งมีจำนวนเครื่องเสียบบัตรลงคะแนนไม่เพียงพอต่อจำนวน ส.ส. ทำให้ ส.ส.จำนวนหนึ่งต้องมีการใช้เครื่องเสียบบัตรแสดงตนร่วมกันในการลงมติคราวเดียวกัน อาจทำให้เกิดความสับสนและเฝ้าระวังการออกเสียงแทนกันยาก

“ยิ่งไปกว่านั้นสำนักเลขาธิการสภาฯ ได้ทำร่างแผนงบประมาณ เพื่อใช้ในการติดตั้งระบบออกเสียงลงคะแนน ที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีของระบบการลงมติที่ทันสมัยด้วยการแสดงตนหรือยืนยันตัวตนผ่านลายนิ้วมือ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาการเสียบบัตรแทนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับงบประมาณ และในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 63 ได้มีการตัดงบประมาณในส่วนนี้ออกไป ทำให้เกิดปัญหาขึ้นอย่างที่เห็น และอาจส่งผลเสียหายทำให้งบประมาณฯปีนี้ที่ล่าช้าอยู่แล้ว ยิ่งล่าช้ามากขึ้นไปอีก กระทบต่อการพัฒนาแก้ไขปัญหาของประเทศและประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายสุชาติระบุ

นายสุชาติกล่าวต่อว่า รัฐสภาที่เป็นหนึ่งในเสาหลักของประเทศ มีข้อมูลสำคัญมากมาย ยังต้องมีการดำเนินการสร้างระบบเทคโนโลยี Diaster Recovery (DR site) ที่ใช้ในการกู้คืนระบบเมื่อระบบสื่อสารข้อมูลหลักล้มเหลว การแบ๊กอัพข้อมูล ซึ่งระบบนี้สามารถจัดเก็บและเรียกใช้ข้อมูลได้แม่นยำรวดเร็วเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินใดๆ ดังนั้นเมื่องบประมาณถูกตัดไป ก็ทำให้การทำระบบต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการของสภาในส่วนนี้ด้อยประสิทธิภาพ ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้นการที่เกิดปัญหาขึ้น ตนอยากให้เข้าใจว่าจะโทษฝ่ายสภาอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเราได้ทำเต็มที่เต็มความสามารถในการร้องของบประมาณที่จำกัดดังกล่าวแล้ว แต่ก็ถูกตัดออกไปจำนวนมาก

Advertisement

“ผมเห็นด้วยกับการตัดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็น แต่ในส่วนของสภา ที่เกี่ยวข้องกับด้านไอที ด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวก ให้การทำงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว แม่นยำ ถูกต้อง โดยเฉพาะเกี่ยวกับระบบการลงมติ และความปลอดภัยของบุคคลสำคัญและความปลอดภัยของประชาชนที่มาสภา ซึ่งสภาเป็นหัวใจสำคัญในการพิจารณากฎหมาย จะต้องมีความถูกต้อง แม่นยำ และปลอดภัย ผมเห็นว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นที่จะต้องมีงบประมาณเข้ามาขับเคลื่อนให้การทำงานของสภาเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด” นายสุชาติกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image