วิพากษ์ ส.ส.เสียบบัตรแทน : พ.ร.บ.งบปี’63 เทียบเคียงเงินกู้2ล้านล.

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการ กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียบบัตรแทนกันในการลงมติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ในวาระ 2 และ 3 จะส่งผลกระทบถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

สําหรับกรณีปัญหาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 มองว่า โดยกระบวนการหรือความชอบธรรมแล้วต้องยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ากระบวนการที่มี ส.ส.เสียบบัตรลงคะแนนแทนกันมีผลต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ มากน้อยเพียงใด ซึ่งเคยมีกรณีเทียบเคียงเป็นบรรทัดฐานและส่งผล

กระทบต่อกฎหมาย มันจะกลายเป็นบรรทัดฐานคล้ายคลึงกันผลของกฎหมายหรือว่าผลของการเสียบบัตรแทนกันจะมีผลแตกต่างกันหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ทำให้ฝ่ายค้านสามารถหยิบยกขึ้นมาเพื่อทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเกิดความล่าช้าในกระบวนการบังคับใช้ เพราะมี ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน

Advertisement

โดยหลักการ ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้มีปัญหาพอสมควร เพราะว่า ส.ส.ได้รับฉันทานุมัติประชาชนจากการเลือกตั้งเพื่อให้เข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชนในสภา หลักการคือ ส.ส.ต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนอย่างสมจริง ซึ่งตามข่าวก็จะผิดหลักการความเป็นตัวแทน นอกจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ดีไม่ดีอาจเชื่อมโยงไปถึงสถานะความเป็น ส.ส.ว่า เมื่อผิดเจตนารมณ์ของประชาชน ควรมีสภาพความเป็น ส.ส.ต่อไปอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เมื่อเป็นตัวแทนประชาชนก็ต้องทำหน้าที่ตัวแทน

แน่นอนว่าเรื่องร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ คงต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งผลที่ตามมาคือความล่าช้า เมื่อล่าช้าก็จะกระทบกับการบริหารงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งเป็นปัญหาหลักในขณะนี้ เพราะผ่านมากว่า 4-5 เดือน พ.ร.บ.งบประมาณยังไม่ได้บังคับใช้ เท่ากับว่าเราไม่สามารถใช้เงินได้อย่างเต็มศักยภาพ

ขณะที่ประเทศกำลังเกิดภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ซึ่งมันกระทบกันหมดเลย ผมมองว่ามันคงจะล่าช้าพอสมควรเลย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเองก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย เนื่องจาก ส.ส.ที่เสียบบัตรแทนกันเป็น ส.ส.ของรัฐบาล

ภาพรวมรัฐบาลไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไปได้ และพรรคภูมิใจไทยในฐานะพรรคต้นสังกัดก็ต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เท่ากับว่ารัฐบาล พรรค และตัว ส.ส. ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

ตอนนี้เราพูดเรื่องเสียบบัตรแทนกันแล้วไปเปรียบเทียบกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญตอนเรื่องของร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน

หลักมีอยู่ว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร พูดง่ายๆ ว่าเป็นตัวสร้างหลักทางกฎหมายขึ้นมา

ดังนั้น ปัญหาคือจะตีความกันอย่างไร เพราะเรื่อง 2.2 ล้านล้าน มีหลายแนวคิด แนวหนึ่งบอกว่าให้หักเฉพาะเสียงที่เสียบบัตรขี้โกงออกไป รวมถึงคนที่โหวตด้วย

คือ คนเสียบ 1 คน คนที่ไม่อยู่ 1 คน รวม 2 เสียง แล้วมานับดูว่าเกินกึ่งหนึ่งหรือไม่ ถ้าเกินกึ่งหนึ่งถือว่าใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องทำให้โมฆะทั้งฉบับ

ส่วนอีกแนวหนึ่งบอกว่า การโหวตจะโหวตด้วยเจตจำนงเสรี เป็นเจตจำนงที่แท้จริงของเจ้าตัว ดังนั้น ถ้าไม่มาโหวตเอง เท่ากับว่าโหวตนั้นใช้ไม่ได้ จึงควรที่จะเสียไป

พูดง่ายๆ คือเกิดการขี้โกงกัน เพราะฉะนั้นวันนี้ก็ต้องยึดตามหลักของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยว่า การเสียบบัตรแทนกัน ทำให้ร่างกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญในแง่ของกระบวนการไป

ส่วนที่มีนักการเมืองบางท่านบอกว่า ถ้าออกมาสารภาพอาจไม่โมฆะ มองว่า ถ้าจะบอกว่าไม่โมฆะต้องหาเหตุผลทางกฎหมายมาให้ได้ว่าทำไมจึงวินิจฉัยต่างจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในตอนนั้น

ต้องยอมรับว่าคำวินิจฉัยในเวลานั้น สร้างปัญหาขึ้นมาพอสมควร ถ้าตอนนั้นพิจารณาโดยอาศัยหลักการแท้ๆ จะไม่มีปัญหามาถึงวันนี้

ตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญกลายๆ เป็นองค์กรกึ่งการเมืองขึ้นมา ซึ่งจริงๆ ก็เป็นอยู่แล้วตามทฤษฎี ในอนาคตอาจจะมีหลักว่า พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินเป็น พ.ร.บ.สำคัญ ดังนั้น ให้โมฆะไม่ได้ มันอาจเกิดเรื่องแบบนี้ได้

แต่ถ้าถามความเห็นส่วนตัว ก็ควรจะให้วินิจฉัยในแนวทางเดิมของศาลรัฐธรรมนูญ

หากพูดในฐานะที่ศาลรัฐธรรมนูญตอนนั้นไม่ได้วินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.บ.

ตัวนั้นเป็นโมฆะ ตอนนั้นส่วนตัวยังเห็นว่าเราควรหักคะแนนเสียงของส่วนที่ขี้โกง คือคนที่เสียบ กับคนที่ไม่อยู่ แล้วมานับ ตอนนี้ก็ยังเห็นอย่างนั้น คือ ไม่ควรโมฆะ

แต่ในเมื่อปัจจุบันมีคำวินิจฉัยฉบับนั้นขึ้นมา ก็ควรจะวินิจฉัยให้เป็นไปตามนั้น

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

มีความเป็นไปได้ที่จะโมฆะทั้งฉบับ เพราะเคยมีการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรมนูญในคดี พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท ซึ่ง ณ เวลานั้น จริงอยู่ว่าประเด็นแห่งคดีอาจไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

แต่ประเด็นเรื่องการเสียบบัตรแทนก็เป็นอีกประเด็นในกรณีดังกล่าว

ฉะนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว กรณีเสียบบัตรแทนก็จะต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันให้ต้องปฏิบัติตาม โอกาสที่จะโมฆะจึงเป็นไปได้สูง

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดี 2 ล้านล้านบาท โดยหลักทั่วไปเสียงที่ลงมติในที่ประชุม ไม่ว่าที่ใดก็ตาม ถ้าเป็นเสียงที่มีปัญหาไม่ว่าจะด้วยการขาดคุณสมบัติ กระบวนการที่มี

ผู้ลงคะแนนแทนซึ่งไม่ได้เป็นการแสดงเจตนารมณ์อย่างแท้จริงของผู้เข้าร่วมประชุม ก็จะมีการตัดเสียงของผู้นั้นออก และดูว่าเสียงส่วนใหญ่มีมติอย่างไร

อย่างไรก็ดี วุฒิสภาไม่สามารถตีตกหรือแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าสมาชิกวุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 20 วัน นับตั้งแต่รับร่าง หากพิจารณาไม่แล้วเสร็จให้ถือว่าเห็นชอบ

ดังนั้น ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถทำให้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฉบับนี้ตกในชั้นของ ส.ว.ได้ หรือแม้กระทั่ง ส.ว.บอกไม่เห็นชอบก็ต้องคืน พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับมา

และหากสภาผู้แทนราษฎรยืนยันด้วยเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งก็สามารถประกาศใช้ได้ทันที โดย ส.ว.ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้

แต่ประเด็นนี้อาจทำให้กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นโมฆะหากมีการร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากถูกตีตกจริง ไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จได้ จะเกิดประเด็นปัญหาตามมาอีกหลายประการ โดยเฉพาะงบประมาณที่ต้องเอาของปีก่อนมาใช้ไปพลางตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้

ในขณะเดียวกัน ถ้ารัฐบาลต้องการความเร่งด่วนก็อาจจะดำเนินการโดยการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพราะกฎหมายงบประมาณต้องเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เท่านั้น จะออกเป็นพระราชกฤษฎีกาหรือกฎหมายประเภทอื่นไม่ได้

ต้องออกเป็น พ.ร.ก.และนำ พ.ร.ก.ดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมของ ส.ส.และ ส.ว. เพื่อแปรสถานะสู่การเป็น พ.ร.บ.ต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ที่ดำเนินการเสียบบัตรแทนจะมีความผิดในเรื่องการแสดงเจตนารมณ์แทนผู้อื่น ในขณะที่ผู้ให้บัตร ต้องมีหลักฐานว่ามีการให้บัตรกับบุคลลอื่นและได้มีการมอบหมายให้ผู้อื่นลงคะแนนแทนจึงจะมีความผิด

แต่หากเป็นลักษณะวางบัตรไว้ หรือลืมบัตรไว้แล้วมีผู้ไปเสียบ กรณีนี้เจ้าของบัตรไม่ผิด แต่ผู้ที่นำไปเสียบมีความผิด

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในสภาผู้แทนราษฎร สะท้อนให้เห็นว่า ณ เวลานี้ การทำหน้าที่ของ ส.ส.ในฐานะผู้แทนของปวงชนต้องตระหนักถึงประชาชน การฝากผู้อื่นแสดงเจตนารมณ์แทน จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ต่างส่งผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น

เพราะถือว่าเสียงหรือเจตจำนงของพี่น้องประชาชนได้แสดงออกผ่านการเลือกตั้งและได้มอบให้ท่านเข้ามาเป็นตัวแทนในเขตนั้นๆ กลับไม่ได้รับความสำคัญแม้แต่น้อย

ส.ส.ต้องตระหนักว่าตนต้องทำหน้าที่ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนก็เป็นอีกเรื่อง แต่ในยามปกติเหตุเพียงแค่ต้องกลับไปลงพื้นที่ไม่น่าจะเป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วนขนาดนั้น เพราะงานของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ

กฎหมายฉบับนี้ คือ กฎหมายงบประมาณ ซึ่งจะต้องไปสู่การบริหารราชการแผ่นดิน จะต้องไปเกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชนอีกจำนวนมาก นี่คือสิ่งสำคัญที่บรรดาผู้แทนราษฎรจะต้องคำนึง

ในขณะเดียวกันการตรวจสอบหลักๆ เรามีเพียงแค่ “การตรวจสอบทางการเมือง” เช่น การถอดถอน ส.ส. การใช้กลไกกรรมาธิการในการตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น

แต่ท้ายที่สุดกลไกในสภาเกิดพวกมากลากไป การตรวจสอบเหล่านี้ก็เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่มีพฤติกรรม เช่นนี้

และอีกประการคือ “การตรวจสอบทางกฎหมาย” จริงอยู่ว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากมายกับพฤติกรรมทำนองนี้ แต่ท้ายที่สุดหากหลักฐานพยานไม่ชัด

หรือล่าสุดมีการออกมาพูดกันว่าเป็นเพียงการลืมวางบัตรเอาไว้

มีคนเอาไปเสียบแทน ไม่มีภาพจากกล้องวงจรปิดถ่ายติดด้วย ในทางกฎหมายยิ่งเป็นเรื่องที่ยาก

สิ่งสำคัญคือการตรวจสอบจากภาคประชาสังคม พี่น้องประชาชนจะพิจารณาเลือก ส.ส.เช่นนี้อีกหรือไม่ในอนาคต สังคมต้องช่วยกันติดตาม ไม่เฉพาะกรณีนี้

แต่รวมถึงกรณีอื่นๆ เพราะการตรวจสอบของภาคประชาสังคมจะเป็นกลไกตรวจสอบนอกสภา ที่กำกับผู้คนในสภาไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีกในสภาผู้แทนราษฎร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image