‘ส.ส.ซีกรบ.-ฝ่ายค้าน’ สามัคคี แห่ชงญัตติด่วน ตั้งกมธ.ศึกษาปัญหาแก้ฝุ่น PM 2.5

PM 2.5-เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่รัฐสภา เกียกกาย ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลักภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไข และการป้องกันปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ที่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างยั่งยืน ตามที่ ส.ส.ซีกรัฐบาล และส.ส.ฝ่ายค้านเสนอ รวมจำนวน 11 ญัตติ โดย น.ส.พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้เสนอญัตติ อภิปรายตอนหนึ่งว่า ปัญหาฝุ่นละอองถือเป็นปัญหากระทบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย มีแนวโน้มขยายตัวเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ซึ่งมีที่มาจากหลายสาเหตุ ทั้งการเผาในที่โล่ง เผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า เป็นสาเหตุอันดับ 1 ประกอบกับได้รับผลกระทบจากการเผาจากต่างประเทศ การประกอบกิจการโรงโม่หินในบางจังหวัด รวมถึงกรุงเทพที่มีค่าฝุ่นละอองเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งเกิดจากยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล การเผาในพื้นที่โล่ง โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และสภาพอากาศ ซึ่งเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน

ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ประชาชนมีสิทธิในอากาศที่ดี ซึ่งฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค พยายามระดมความคิดเพื่อหาแนวทางช่วยรัฐบาลแก้ปัญหา โดยนำอุปกรณ์หลายรูปแบบที่จำเป็นต้องใช้เพื่อป้องกันฝุ่นละออง มาแสดงให้ที่ประชุมเห็นถึงภาระที่ประชาชนต้องจ่าย ซึ่งตัวอย่างอากาศถนนหน้าอาคารรัฐสภาสูงถึง 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินกว่า 80 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าอันตราย แต่รัฐบาลไม่เคยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ประเทศจีนสามารถแก้ปัญหาได้โดยไม่โทษประชาชน จึงอยากให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ต้องมือร่วมกันแก้ไขปัญหานี้

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้เสนอญัตติ อภิปรายว่า แม้ปีนี้ปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จะลดลงกว่าปีที่แล้ว แต่ก็ยังถือว่า มีค่าเกินมาตรฐานขององค์กรอนามัยโลกอยู่ดี เหตุที่ลดลงไม่ใช่ฝืมือของรัฐบาลแน่นอน เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้มีมาตรการใดๆในการป้องกันออกมาเลย ทั้งๆที่ก็มีข้อมูลระบุชัดว่า กว่า 70% มาจากปัญหาการคมนาคม ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารสาธารณะ และภาคขนส่ง ที่ยังใช้เบนซิน และดีเซลเป็นเชื้อเพลิงหลักอยู่ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลประสบความล้มเหลวในการผลักกันการแก้ไขปัญหามลพิษ ตนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลลดราคาแก๊สเอ็นจีวีลงเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และจัดทำแผนระยะกลาง และระยะยาว ทั้งการส่งเสริมรถโดยสารสาธารณะที่ใช้แก๊สเอนจีวี

Advertisement

“ผมไม่มั่นใจว่า มาตรการในการส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถโดยสารสาธารณะถูกจุดหรือไม่ เพราะรถเมล์ของขสมก.มีอายุ 30 ปีที่มองด้วยตา โดยไม่ต้องใช้เครื่องตรวจจับก็เห็นควันดำลอยออกมา แบบนี้จะไปลดฝุ่นให้ประชาชนได้อย่างไร วันนี้เรามีรถโดยสารพลังงานสะอาดให้บริการประชาชนอยู่น้อยมาก ขณะที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าก็มีราคาสูง ดังนั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการโดยสารรัฐ จึงจำเป็นต้องลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าลงเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้ให้มากขึ้นเพื่อเป็นการลดผลกระทบจากฝุ่นที่เกิดจากระบบคมนาคม” นายอัครเดช กล่าว

ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า แม้วันนี้ประเทศไทยจะมีพ.ร.บ.อากาศสะอาด มีการแก้ไขโครงสร้างอำนาจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไขปัญหาได้ทันที แต่ตนก็คิดว่า เรื่องนี้หากไม่ใช้ใจโดยเฉพาะใจของผู้มีอำนาจ รวมไปถึงส.ส.ที่นั่งอยู่ในสภานี้ในการแก้ไขปัญหา เราจะมองไม่เห็นว่า ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เป็นปัญหาอยู่จริง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ เพราะคนที่มีอำนาจไม่ค่อยได้รับผลกระทบ หากเทียบกับมลพิษชนิดอื่นๆ เพราะผู้มีอำนาจ หรือสภาฯของเราประชุมอยู่แต่ในห้องแอร์ เสร็จก็นั่งรถส่วนตัวกลับ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปยืนรอรถมล์นานๆแบบที่ประชาชนต้องเผชิญอยู่ เราไม่เคยต้องมานั่งคิดว่า จะมีเงินเหลือเพื่อไปซื้อหน้ากากให้ลูกของเราเหมือนกับประชาชนที่เขาเลือกเรามาทำหน้าที่ ตนอยากให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)ลงไปสัญจรในพื้นที่ที่มีการเผาไหม้มากที่สุด ไม่ว่า จะเป็นจ.กาญจนบุรี ลพบุรี ลำปาง เป็นต้น หรือ เชิญ ส.ส.ไปยืนหน้าป้ายรถเมล์หน้ารัฐสภาก็ได้ ไปเพื่อให้เห็นปัญหา รับรู้ และจะได้ใส่ใจกับการแก้ปัญหาให้ดีกว่านี้ให้กับประชาชน ตนคิดว่า ถ้าผู้มีอำนาจใส่ใจได้ โครงสร้างอำนาจที่เป็นปัญหาอยู่จะเป็นเรื่องรองลงไปเลย

Advertisement

จากนั้นที่ประชุมสภาฯ มีมติตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไข และการป้องกันปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ที่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างยั่งยืน จำนวน 49 คน ใช้เวลาศึกษา 120 วัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image