พท.ย้อน’มีชัย’ถ้ารธน.บังคับใช้ตอนนี้ครม.คงไปทั้งคณะ ถาม ถ้ารัฐไม่เเข่งเอกชนแล้วใครทำ

วันที่ 30 มกราคม นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวถึงกรณี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า “รัฐไม่มีหน้าที่ทำงานแข่งกับเอกชน ให้นั่งกระดิกเท้าอยู่เฉยๆ รอเก็บภาษีบำรุงรัฐ” นั้น ตนเห็นว่า การยกตัวอย่างดังกล่าว เป็นประเด็นตรงกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ถ้าสมมติว่ารธน.นี้มีผลบังคับใช้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งหมด เพราะมีมติครม.รับซื้อยาง กก.ละ 45 บาท ในราคานำตลาด เป็นการทำหน้าที่แข่งกับเอกชนอย่างชัดเจน แค่ตัวอย่างเดียว รัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับมีชัยก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ ซ้ำจะต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะอีกต่างหาก จะเห็นได้ว่า ร่างรธน.ฉบับนี้ ถ้ามีผลบังคับใช้ รัฐบาลแทบจะไม่มีโอกาสช่วยเหลือประชาชนเลย โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แล้วเราจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชนได้อย่างไร นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของข้อบกพร่อง

ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญที่ร่างรัฐธรรมนูญตัดโอกาสในการช่วยเหลือประชาชน แต่สิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นข้อบกพร่องที่สำคัญที่สุดของร่างรธน.ฉบับนี้ คือ การกำหนดกติกาที่มีผลให้รัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ไร้เสถียรภาพ อ่อนแอ ทั้งนี้ การที่มีการชูประเด็นการปราบทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญอยู่แล้ว เพียงแต่ กรธ.ตีปี๊บชูประเด็นปราบโกงก็เพื่อกลบเกลื่อนเบี่ยงเบนความพยายามในการสืบทอดอำนาจ โดยเห็นได้จากการกำหนดกติกาไปสู่หลักคิดดังกล่าว เช่น

1. นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้
2. กำหนดระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม เพื่อให้การเมืองอ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพจะได้ไปเลือกคนนอกเป็น นรม.ได้
3. ไม่ตัดสิทธิ์ คสช.ที่จะสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ กรธ.ที่ คสช.แต่งตั้งยังถูกตัดสิทธิ์แต่ผู้มีอำนาจเหนือ กรธ.กลับมีสิทธิ์ 
4. ในบทเฉพาะกาล ยังคงให้คสช.มีอำนาจไปจนถึงวันเลือกตั้งและส่งมอบหน้าที่ให้กับรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะทำให้ คสช.ควบคุมกลไกรัฐทุกกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งอำนาจงบประมาณ อันอาจเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้งประชาชนจะมั่นใจในความเป็นกลางได้อย่างไร

Advertisement

นายชวลิตกล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกภาคส่วนตระหนักและให้ความสำคัญกับกระแสสังคมในอันที่จะกำหนดกติกาเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องร่วมมือกัน แต่ไม่ใช่มัดมือมัดเท้าจนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนไม่ได้ดังกล่าวข้างต้น ไม่อย่างนั้นเราจะมีโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค โครงการกองทุนหมู่บ้านโครงการ OTOP ฯลฯ ที่รัฐบาลนี้ก็นำมาใช้ต่อเนื่องได้อย่างไร

“โดยส่วนตัวตนมองไม่เห็นทางที่ร่าง รธน.ฉบับนี้จะแก้ปัญหาของประเทศที่กำลังประสบอยู่ หากรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งอ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพ เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม สักแต่เพียงให้มีการเลือกตั้งในกติกาที่ไม่มีประเทศไหนในโลกเขาใช้กันซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นจะส่งผลให้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ประชาชนจะยิ่งถดถอย ประชาชนทุกคน ทุกครอบครัวจะได้รับความเดือดร้อน ได้รับผลกระทบหมด เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งอ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพ ดังกล่าวข้างต้น ชาวโลกที่ไหนจะมาค้าขาย มาลงทุน และคงจะย้ายฐานไปยังเพื่อนบ้านจนเกือบหมด

จึงขอให้ กรธ.รับข้อคิดอีกมุมหนึ่งกลับไปปรับปรุง แก้ไขหากยืนยันหลักการเดิม ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ตนเสียดายเงินงบประมาณ 3 พันกว่าล้าน ในการทำประชามติโอกาสผ่านยาก เพราะประชาชนทุกครัวเรือนห่วงปัญหาปากท้องเป็นสำคัญ ตามโพลที่ได้สำรวจมาทุกสำนัก เป็นเครื่องเตือนสติทุกฝ่ายว่า ถ้ารัฐบาลอ่อนแอไม่มีเสถียรภาพ จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้อย่างไร” นายชวลิตกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image