บทนำ : ผลจาก‘โหวตแทน’

บทนำ : ผลจาก‘โหวตแทน’

บทนำ : ผลจาก‘โหวตแทน’

กลายเป็นปัญหาใหญ่ เมื่อมีการเปิดเผยว่า ส.ส.พรรครัฐบาล เสียบบัตรและลงมติแทนกันในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ทำให้วิปรัฐบาลเสนอเรื่องผ่านประธานสภา ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 3 ประเด็น คือ 1.กระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ขัดแย้งกับหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 120 หรือไม่ 2.หากขัดมาตรา 120 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะตกไปทั้งฉบับ หรือเฉพาะมาตราที่ลงมติแทนกัน และจะถือว่าสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ไม่แล้วเสร็จภายใน 105 วัน ตามมาตรา 143 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 3.หากร่าง พ.ร.บ.งบฯ 2563 ตกไปทั้งฉบับ หรือเฉพาะมาตราที่มีการใช้บัตรแสดงตน และมีการลงมติแทนผู้อื่นจะต้องดำเนินการในแต่ละกรณีอย่างไร

ก่อนหน้านี้ในปี 2556 มีการเสียบบัตรลงมติแทนกัน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ทำให้กระบวนการร่างกฎหมายมิชอบ ในปี 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติถอดถอน ส.ส.ที่เสียบบัตรแทน และตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ต่อมายังถูกฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนกรณีล่าสุด มือกฎหมายของรัฐบาลให้ความเห็นว่า กรณีปี 2556 กับที่เกิดขึ้นกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ล่าสุด แตกต่างกัน ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ติดตามมา อย่างไรก็ตาม หน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยเป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีประเด็นทั้งข้อกฎหมายและบรรทัดฐานคำวินิจฉัยที่ผ่านมา ขณะที่ปัญหาที่เกิดกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ มีความอ่อนไหวและมีผลกระทบต่อประเทศ กล่าวคือ ผลที่จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่ล่าช้ามามากแล้วต้องล่าช้าต่อไปอีก และผลต่อการบริหาร เพราะไม่มีงบประมาณให้เบิกจ่าย

ผลที่จะเกิดขึ้น เป็นไปได้ตั้งแต่ 1.ตกทั้งฉบับ 2.เสียไปเฉพาะมตินั้น 3.เสียไปเฉพาะคะแนนที่เสียบบัตรแทนกัน หรืออื่นๆ ดังนั้น รัฐบาล ต้องเตรียมหาทางออกในเรื่องงบประมาณ ภายหลังปรากฏผลการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน รัฐบาลและรัฐสภา ต้องหามาตรการแก้ไขปัญหา ส.ส.เสียบบัตร ลงมติแทนกัน โดยไม่ต้องมาแก้ตัวว่าเครื่องเสียบบัตรไม่เพียงพอ มาตรฐานในเรื่องนี้ชัดเจน ดังที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนฯ ได้ย้ำว่า การเสียบบัตรแทนกันทำไม่ได้ทุกกรณี ทั้งหมดนี้ต้องเกิดขึ้น เพื่อรักษามาตรฐานของฝ่ายนิติบัญญัติมิให้ตกต่ำไปมากกว่านี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image