12 มาตรการแก้‘พีเอ็ม2.5’ ทันการณ์-ตอบโจทย์หรือไม่

12 มาตรการแก้‘พีเอ็ม2.5’ ทันการณ์-ตอบโจทย์หรือไม่

12 มาตรการแก้‘พีเอ็ม2.5’ ทันการณ์-ตอบโจทย์หรือไม่

หมายเหตุเป็นความเห็นของนักวิชาการด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ใน 12 มาตรการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบดำเนินการ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม 2.5 ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพในขณะนี้

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและพลังงาน

การแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษในระยะสั้นขณะนี้เป็นเรื่องยาก เนื่องจากทุกฝ่ายต้องยอมเจ็บตัวทั้งเกษตรกร หากไม่ให้เผาไร่อ้อยจะทำอย่างไร ค่าใช้จ่ายของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น โรงงานน้ำตาลจะลดกำไรเพื่อเยียวยาได้หรือไม่ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เกษตรกรจะแบกรับภาระเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองต้องให้ความร่วมมือลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ขณะนี้ในพื้นที่ประสบภัยฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ยังไม่เห็นยาแรงจากหน่วยงานภาครัฐ เพราะการใช้ยาแรงเป็นสิ่งที่ฝ่ายการเมืองกลัวจะมีผลกระทบกับฐานคะแนนนิยม แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรรีบใช้ เพราะฤดูแล้งปีนี้จะยาวนาน

Advertisement

ประเด็นสำคัญต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาฝุ่นถูกยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ เพราะฝุ่นสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อม และความเดือดร้อนกับทุกคน แต่เมื่อมองย้อนกลับไปปัญหานี้ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้น แต่ทำไมยังปล่อยให้เกิดซ้ำในภาวะที่วิกฤตกว่าเดิม เท่าที่เห็นมีการนำรถน้ำมาฉีดละอองน้ำก็ไม่มีประโยชน์ วันนี้ยังไม่เห็นมาตรการระยะยาว เช่น การปลูกต้นไม้เพิ่ม การทำให้เขาหัวโล้นมีต้นไม้ ก็ยังไม่ทำอะไร การสนับสนุนให้ใช้รถไฟฟ้าแทนรถเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ไม่มี ทั้งที่ช่วยลดฝุ่นได้มาก

การแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องการใช้มาตรการอย่างมโหฬาร โดยมาตรการระยะกลางและระยะยาวต้องปราศจากการเผาโดยสิ้นเชิง แต่จะต้องมีการดูแลเกษตรกร มีการบังคับใช้กฎหมายกับโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท สำหรับกระทรวงสาธารณสุขคงเป็นปลายเหตุในการดูแลสุขภาพประชาชน ทำได้แค่ตั้งรับโดยแจกหน้ากากอนามัย ดูแลผู้ป่วยในฐานะหน่วยงานปลายทาง

อยากฝากให้ผู้นำรัฐบาลต้องสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมและกำหนดแผนระยะยาว 5 ปีเพื่อลดฝุ่น แต่ในระยะแรกรัฐบาลต้องยอมเจ็บบ้างจากมาตรการที่จะมีผลกระทบต่อมิติทางการเมือง ส่วนระยะยาวขอให้รัฐบาลคิดถึงส่วนรวม ดังนั้น เมื่อตั้งใจทำให้ฝุ่นลดลงได้จริงก็จะเป็นผลดีกับรัฐบาลเอง

Advertisement

อาภา หวังเกียรติ
รองคณบดีฝ่ายบริหารและสื่อสารองค์กร
วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

มติ ครม.เมื่อวันที่ 21 มกราคม เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น ยังไม่มีแนวทางใหม่ แต่เป็นมาตรการที่ควรทำก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ ไม่ควรรอให้มีปัญหา และสาระสำคัญที่กำหนดก็อยู่ในแผนแก้ไขปัญหาที่เป็นวาระแห่งชาติ ในแผนบอกว่าให้ใช้หลักการป้องกัน แต่เขียนไว้ 4 ระดับที่จะเริ่มแก้ไข ฝุ่นต้องเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรก่อน ดังนั้น เมื่อรอให้ฝุ่นเกินก็ทำให้เกิดภาวะวิกฤต ดังนั้น มาตรการที่กำหนดจึงแก้ปัญหาไม่ได้

ไปเขียนแผนเหมือนแช่แข็งตัวเองเอาไว้ ถ้าไม่ถึง 50 ไมโครกรัม ก็ไม่ทำอะไร พอฝุ่นเกินก็ใช้มาตรการปกติของแต่ละหน่วยงาน แล้วทำให้เกิดผลตามสภาพที่เห็นในปัจจุบัน และหากฝุ่นเกิน 75-100 ไมโครกรัม ก็ใช้กลไกของคณะกรรมการควบคุมมลพิษ หากสูงกว่า 100 ไมโครกรัม ก็ใช้กลไกของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ขณะนี้การแก้ไขปัญหาอยู่ที่ระดับ 3 โดยใช้คณะกรรมการควบคุมมลพิษเสนอข้อมูลให้นายกรัฐมนตรี

ปัญหาใหญ่ขณะนี้มาจากไม่มีหน่วยงานใดยอมเป็นเจ้าภาพหลักที่ชัดเจน ทั้งที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ควรจะเป็นเจ้าภาพ แต่ คพ.ทำหน้าที่แค่ให้ข้อมูล ส่วนแผนที่เขียนไว้ก็ไม่มีกลไกในการสั่งการที่ชัดเจน เช่น บอกว่าให้ปิดโรงเรียนแต่ไม่ได้บอกว่าให้ใครเป็นผู้สั่ง ขณะที่ปัญหาฝุ่นควรเป็นวาระแห่งชาติที่มีผู้บริหารระดับประเทศตัดสินใจสั่งการรัฐมนตรีระดับกระทรวงได้ทั้งกระทวงคมนาคม สิ่งแวดล้อม เกษตร มหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แต่ในกลไกกฎหมายไม่ได้เอื้อให้ทำอะไรได้แบบเร่งด่วนชัดเจน โดยแก้ไขที่ต้นเหตุ เช่น ในเมืองใหญ่ก็มาจากรถยนต์ การเผาชีวมวล การเผาในภาคอุตสาหกรรม และมีประเด็นฝุ่นที่มาจากพื้นที่อื่น ขณะการวิเคราะห์ที่มาโดย คพ.อาจจะไม่ครอบคลุม แต่ควรแยกแยะคำนวณตัวเลขเป็นฐานข้อมูลให้ชัดเจน เช่น มีรถยนต์ดีเซลวิ่งบนถนนได้เท่าไร ปัญหามลพิษจึงจะไม่เกิดขึ้น

สิ่งสำคัญเร่งด่วนที่ควรทำ ต้องยอมรับว่าแก้ไขยาก ดังนั้น ต้องมองในระยะยาวในปีต่อไป หากยังใช้มาตรการแบบนี้การแก้ไขปัญหาได้ยาก โดยเฉพาะใน กทม.ถ้าลดจำนวนรถที่มาบนถนนได้ฝุ่นก็ลด เพราะฉะนั้นทุกผ่ายก็ต้องไปคิดมาตรการที่จะลดการใช้รถยนต์ก็จะเป็นสิ่งแรกที่ช่วยได้ และการสั่งปิดโรงเรียนหรือขยับเวลาทำงานบางครั้งก็ไม่มีผลมาก เพราะผู้ปกครองก็ต้องไปส่งบุตรหลานหรือคนทำงานก็ต้องใช้รถตามปกติ

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เป็นเรื่องที่ดีในความพยายามแก้ปัญหา แต่อยากให้รัฐบาลมีข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะจากข้อมูลที่กรมควบคุมมลพิษนำมาอ้างอิงว่า ปัญหาฝุ่นละองขนาดเล็กเกิดจากการจราจร 72% เมื่อเข้าไปค้นหาข้อมูลก็ไม่มีตัวเลขชัดเจน เพราะในแง่จราจรเป็นปัญหา ก็ควรจะเป็นปัญหาทั้งปีไม่ใช่แค่ช่วงนี้เท่านั้น

สิ่งที่ชัดเจนคือ พื้นที่การเกษตรที่เป็นอุตสาหกรรมการเกษตรน่าจะเป็นปัญหามากกว่า เช่น พื้นที่ปลูกอ้อย ข้าวโพด และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เพราะเป็นพื้นที่ใหญ่และมีชีวมวลมาก เรื่องนี้คือข้อแรกที่รัฐควรจะแก้ไข แต่ก็อาจจะไปขัดกับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรของรัฐ ที่หวังการส่งออกจากราคาต้นทุนถูก ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่เหล่านี้มีอำนาจต่อรอง

ในแง่ของการแก้เรื่องรถยนต์ก็ทำไป แต่ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ใช่การพูดกันลอยๆ วันนี้ยังไม่เห็นการกล้าตัดสินใจของรัฐบาล อยากเห็นความกล้าหาญทางการเมือง อาจจะมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก็ต้องเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง หวังว่าจะได้เห็นนโยบายที่เป็นพื้นฐานที่แท้จริง ตามความเป็นจริงจากข้อมูลจริง ไม่ใช่การเฉไฉแบบนี้

ผศ.ดร.รัฐภูมิ พรหมณะ
รองผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา

สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเกิดทุกปี เป็นปัญหาเดิม ประชาชนก็สูดอากาศที่เป็นอันตรายเข้าไปในช่วงเวลาเดียวกันซ้ำทุกปี จนส่งผลเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาด พีเอ็ม 2.5 และ 10 ไมครอน ทำให้มีผลกระทบต่อปอด ระบบเลือด ถือได้ว่าเป็นภัยคุกคามสุขภาพของประชาชนที่ความร้ายแรงมาก ที่ผ่านรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและเข้มงวดกับมาตรการ 7 วันอันตราย ช่วงเทศกาลวันหยุดสิ้นปีและต้อนรับปีใหม่ ดังนั้น มองรัฐบาลควรดำเนินมาตรการและให้ความสำคัญต่ออันตรายของสถานการณ์ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กในระดับ 7 วันอันตรายด้วยเช่นกัน

การวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ส่วนตัวมองเป็น 2 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่ชุมชนเมืองใหญ่ มีการใช้รถใช้ถนนกันอย่างหนาแน่น มีโรงงานอุตสาหกรรม กรณีรถยนต์ต้องเข้มงวดเรื่องการปล่อยควันขาวและดำอย่างจริงจัง จัดระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนใช้บริการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว 2.พื้นที่ชุมชนชนบท พื้นที่การเกษตร ส่วนใหญ่หนีไม่พ้นเรื่องการเผาพื้นที่การเกษตร พื้นที่ป่า ต้องควบคุมการเผาอย่างจริงจัง

การลอยตัวของฝุ่นละออง พีเอ็ม 2.5 และพีเอ็ม 10 ในอากาศ หากนับระยะทางจากพื้นดินขึ้นไปในอากาศ ความหนาของฝุ่นละอองดังกล่าวที่ลอยอยู่ในอากาศจะมีระยะทางประมาณ 2 กม. ดังนั้น การจะลดฝุ่นละอองในอากาศด้วยการฉีดพ่นละอองน้ำแทบไม่มีผลใดๆ เลย

สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวและเป็นเชิงป้องกันปัญหาฝุ่นละอองที่ได้ผลเป็นที่ประจักษ์ คือ ต้นไม้ มีงานวิจัยรองรับชัดเจนว่า บ้านที่มีต้นไม้ห้อมล้อมจะทำให้มีฝุ่นละอองเข้าไปในบ้านได้น้อยกว่าบ้านที่ไม่มีต้นไม้ห้อมล้อม เพราะต้นไม้เป็นตัวผลิตก๊าซออกซิเจน และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่สำคัญคือช่วยกรองฝุ่นได้อย่างดี

12 มาตรการที่ ครม.เห็นชอบ
เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก

1.ขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯจากวงแหวนรัชดาภิเษก เป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก

2.ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯในวันคี่ ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563

3.ตรวจวัดควันดำรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) ทุกคัน โดยเพิ่มชุดตรวจเป็น 50 ชุด ครบทั้ง 50 เขตของกรุงเทพฯ

4.กรมการขนส่งทางบกปฏิบัติการร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจรในการตรวจสอบ ตรวจจับรถควันดำสำหรับรถโดยสารและรถบรรทุก เพื่อออกคำสั่งห้ามใช้รถ

5.ตรวจสอบโรงงานที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองหากไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้สั่งปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือสั่งหยุดการประกอบกิจการ

6.กำกับให้กิจกรรมการก่อสร้างรถไฟฟ้าและก่อสร้างอื่นๆ เป็นไปตามข้อกำหนดไม่ทำให้เกิดฝุ่นและปัญหาการจราจร บริเวณรอบพื้นที่ก่อสร้าง

7.ไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่กระทำการเผา

8.จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาศัยอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมการเผาในที่โล่งในช่วงสถานการณ์วิกฤตฝุ่นละอองและเข้มงวดการควบคุมยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง

9.ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 PPM เป็นน้ำมันที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองน้อย

10.ขอความร่วมมือลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงานและรถยนต์ของส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน

11.ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษาสนับสนุนการจัดโครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี เพื่อช่วยลดฝุ่นละออง

12.สร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ประชาชน เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image