อดีตที่ปรึกษา กรธ.ยันเจตนารมณ์ ม.143 ใช้กู้ชีพงบ’63 ไม่ได้ ชี้ผ่าน 2 สภาแล้ว ไม่ถือเป็นการดึงเรื่องเกิน 105 วัน

แฟ้มภาพ

อดีตที่ปรึกษา กรธ.ยันเจตนารมณ์ ม.143 ใช้กู้ชีพงบ’63 ไม่ได้ ชี้ผ่าน 2 สภาแล้ว ไม่ถือว่าเป็นการดึงเรื่องเกิน 105 วัน

เมื่อวันที่ 25 มกราคม นายเจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย ฐานะอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 ว่าด้วยการกำหนดระยะเวลาให้สภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ให้แล้วเสร็จภายใน 105 วันนับแต่ที่ได้รับร่างจากรัฐบาล และหากเกินกำหนดให้ถือว่าสภาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่รัฐบาลส่งมาว่า เจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวเพื่อไม่ให้สภาถ่วงเวลาการทำงาน ทั้งในชั้นของสภา หรือในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 เพราะหากพิจารณาเกินเวลา 105 วัน รัฐบาลฐานะหน่วยงานที่จัดสรรงบประมาณ และผู้ใช้งบประมาณมีสิทธิใช้ร่างงบประมาณที่เสนอมา ซึ่งในคำร้องที่ ส.ส.เข้าชื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีระยะเวลา 105 วัน คือกระบวนการที่สภาพิจารณาไม่เสร็จในวาระสาม แต่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 นั้น ทำเสร็จสิ้นทั้งในกระบวนการทั้งหมดของสภา และของวุฒิสภา ดังนั้น หากจะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคงไม่เกี่ยวกับกระบวนการที่ต้องรื้อการพิจารณาใหม่ เพราะในประเด็นนี้ต้นตอคือกระบวนการตรากฎหมาย หรือการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ดังนั้น ในประเด็นที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกระบวนการตรากฎหมายต้องรอคำวินิจฉัยของศาล

นายเจษฎ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ไม่มีทางโมฆะทั้งฉบับ เพราะหากพิจารณาในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอดีตว่าด้วยการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นั้น จะพบสาระสำคัญคือ เนื้อหาของร่างกฎหมายต้องมีปัญหา แต่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 บทบัญญัติไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาคือกระบวนการออกเสียงเท่านั้น ดังนั้น ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น ยกตัวอย่างเหมือนการคลอดของมนุษย์ ที่คนหนึ่งคลอดธรรมชาติ อีกคนผ่าตลอด ซึ่งไม่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เด็กสามารถเกิดมาได้มีชีวิต ไม่ได้หมายความว่าคนที่เกิดโดยไม่เป็นไปตามธรรมชาตินั้นไม่ใช่มนุษย์ ยกเว้นแต่ตาย ซึ่งในกรณีที่ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท และร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีปัญหานั้น เนื้อหาไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เกิดจากกระบวนการทำคลอด ส่วนผลของการเสียบบัตรแทนกันจะเป็นอย่างไร จะผิดหรือไม่ ต้องว่ากันในรอบสองต่อไป โดยแยกออกจากเนื้อหาของร่างกฎหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image