เมื่อไทยแลนด์ ‘ยืน (ร้อย) หนึ่ง’ ดัชนีคอร์รัปชั่นโลก คะแนนไม่ขยับ อันดับร่วง

ไม่รู้ว่าควรจะร้องไห้หนักมาก หรือทำท่าเฉยชาคุ้นชิน เมื่อค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ‘ดัชนีคอร์รัปชั่นโลก’ ประจำปี 2019 มีประเทศไทยอยู่ในอันดับ 101 ด้วยคะแนนเพียง 36 เต็มร้อย ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเอเชียมีสิงคโปร์ยืนหนึ่งอย่างไม่น่าแปลกใจ

ย้อนกลับไปดูคะแนนของไทยในปี 2018 พบว่า มี 36 คะแนนเท่ากัน แต่ช่วงชั้นอยู่ในลำดับที่ 99 ในขณะที่ปี 2017 ไทยได้ 37 คะแนน มากกว่า 2 ปีหลัง โดยรั้งอยู่อันดับที่ 97

พูดง่ายๆ ว่าอันดับไทยแลนด์เขยิบถอยหลังลงแม่น้ำเจ้าพระยาไปตามลำดับ แม้คะแนนไม่ต่าง แต่ประเทศอื่นขยับแซงหน้า ทั้งที่บรรยากาศในปีที่ผ่านมา พบว่ามีการจัด ‘อีเวนต์’ ต้านโกงอย่างยิ่งใหญ่ รัฐบาลประกาศกร้าวไม่เอาคนโกง

ครั้นกางถ้อยแถลงของรัฐบาลที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศกลางรัฐสภา ก็มี ‘การแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการทั้งฝ่ายการเมือง และฝ่ายราชการประจำ’ เป็นหนึ่งในนโยบาย 12 ด้าน ใน 4 หลักการใหญ่ ความตอนหนึ่งว่า

Advertisement

“เร่งรัดการดำเนินมาตรการทางการเมืองควบคู่ไปกับมาตรการทางกฎหมายเมื่อพบผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเฝ้าระวังการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างจริงจังและเข้มงวด และเร่งรัดดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเมื่อพบผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ภาครัฐปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบโดยเร็วที่สุดพร้อมทั้งให้ภาคสังคม ภาคเอกชน และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริตประพฤติมิชอบ”

ในขณะที่ภาคประชาชน จากการสำรวจของ ‘สวนดุสิตโพล’ ในประเด็น ‘นโยบายเร่งด่วน’ ในความคิดเห็นของประชาชนที่อยากให้รัฐบาลประยุทธ์เร่งดำเนินการมากที่สุด มีประเด็น ‘แก้โกง’ อยู่ในอันดับต้นๆ ด้วย 60.41% คือ การแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการประจำ เพราะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประเทศไม่พัฒนา อยากให้มีการป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจัง เป็นต้นแบบที่ดีให้กับเยาวชน ฯลฯ

คะแนนที่ไม่ขยับขึ้น และดัชนีที่เขยิบลง ชวนให้ตั้งคำถามครั้งแล้วครั้งเล่า รวมถึงครั้งนี้ที่คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

Advertisement

‘ต้านโกง’ ทุกลมหายใจ บอก ‘โปร่งใส’ แต่ไม่เปิดข้อมูล

“เท่าที่รับฟังจากผู้คนหลายวงการทำให้เชื่อว่า การโกงกิน การเรียกรับส่วย – สินบนในบ้านเราไม่ได้ลดน้อยลงเลย คือไอ้พวกที่โกงมันก็ยังโกงกันอยู่ โกงสารพัดรูปแบบมีทั้งรายเล็กรายใหญ่ ส่วนอะไรมากขึ้นหรือน้อยลงแค่ไหนเป็นเรื่องที่ไม่มีใครบอกได้ชัดเจน

คอร์รัปชั่นจะลดลงเมื่อข้าราชการทำตามกติกาและไม่ยอมให้ใครทำผิด ขณะที่ภาคประชาชนต้องสามารถติดตาม ตรวจสอบ แสดงความเห็นได้โดยไม่ต้องกลัวใคร เพราะได้รับการปกป้องตามรัฐธรรมนูญแต่ในความเป็นจริงกลับพบว่ามีหลายเรื่องที่ทำให้ประชาชนผิดหวัง เช่น บ่อยครั้งที่กลไกภาครัฐไม่โปร่งใสตรงไปตรงมา มีการใช้อำนาจและกฎหมายแบบสองมาตรฐาน มีการแทรกแซงการบริหารราชการและองค์กรอิสระแบบทีใครทีมัน การตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระยังไม่ปรากฏ อภิสิทธิ์ชนและพวกพ้องตกเป็นข่าวมัวหมองครั้งแล้วครั้งเล่า”

คือความเห็นของ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ต่อคำถามที่สังคมคาใจว่าแม้สังคมไทยตื่นตัว อีกทั้งภาครัฐก็ประกาศยี้โกงหนักมาก แต่เหตุใดการคอร์รับชั่นบนผืนแผ่นดินไทยจึงไม่ลด

ดร.มานะยังระบุว่า คนมีอำนาจชอบพูดคำว่าโปร่งใส แต่ไม่ชอบเปิดเผยข้อมูล อ้างแต่ว่าเป็นเรื่องความลับของทางราชการหรือสิทธิส่วนบุคคล แม้แต่เอกชนที่มาประมูลงานหรือขอสัมปทานยังไปช่วยปกปิดให้เขาโดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้า การที่มีนโยบายมีมาตรการ แต่กลไกรัฐไม่เดิน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำไม่รู้ไม่ชี้หรือเฉไฉไป คนมีอำนาจสั่งการก็ไม่กำกับดูแลให้งานเดิน เมื่อไม่มีการปฏิบัติจริงจังก็ไม่มีอะไรสกัดกั้นคนโกงหรือทำให้ลดลงได้ ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้คะแนนอันดับคอร์รัปชั่นโลก (CPI) ของไทยไม่กระเตื้องขึ้นเลย

“ตัวอย่างแรก เรื่องการป้องกันคอร์รัปชั่นในหน่วยราชการ ตามมติ ครม. เมื่อ 27 มีนาคม 2561 ที่หัวหน้าหน่วยงานต้องรับผิดด้วยหากเกิดคอร์รัปชั่นในหน่วยงานของตน ดังนั้น เขาต้องหาทางป้องกันให้รัดกุม และเมื่อมีคนทำผิดหรือถูกร้องเรียนก็ต้องเร่งสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ผ่านมาเกือบสองปียังไม่เห็นมีใครทำอะไรทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับคนตำแหน่งใหญ่โตหรือคนตำแหน่งเล็กๆ

ตัวอย่างที่สอง การปฏิรูปการให้บริการประชาชนตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ประกาศตั้งแต่ต้นปี 2558 จากนั้น กพร.ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมหลายประการที่ทันสมัย เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและคนทำมาค้าขายอย่างมาก

แต่ผ่านมาสี่ปี การปฏิบัติในหน่วยงานต่างๆ ยังมีน้อยมาก โดยยกข้ออ้างและข้อขัดแย้งของกฎหมายสารพัด

ตัวอย่างที่สาม รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของทางราชการให้มากที่สุดเพื่อความโปร่งใส แต่ผู้มีอำนาจและหน่วยงานของรัฐจำนวนมากกลับทำให้ผิดเพี้ยน คือเปิดเผยน้อยลงหรือมีข้อจำกัดมากขึ้น เช่นกรณีของ ป.ป.ช. สตง. และ กกต. ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเพราะเจตนาหรือขาดความเข้าใจกันแน่” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ตั้งคำถาม

แนวโน้มดี โกงยาก? ‘จับผิด’ ง่าย โลกออนไลน์ร่วมจับตา

แม้ดัชนี้ล่าสุดร่วงอย่างต่อเนื่อง แต่ความหวังยังมีมากน้อยแค่ไหนในปีนี้และปีถัดๆ ไป

ดร.มานะมองว่า จากข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นและกระแสความตื่นตัวของคนไทย ทำให้มั่นใจมากว่าสถานการณ์การต่อต้านคอร์รัปชั่น กำลังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น คือ โกงยากขึ้น ถูกตรวจจับง่ายขึ้นและถ้าจับได้ก็เอาตัวคนผิดมาลงโทษได้เร็วและมีโทษหนักขึ้น

“หลายปีมานี้ประเทศไทยมีการประกาศใช้มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมจับต้องได้ มากที่สุดนับแต่มีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นต้นมา ประกอบกับหลายปีมานี้คนไทยตื่นตัว และร่วมลงมือต่อต้านคนโกงจริงจังมากขึ้นจนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่และภาคธุรกิจหลากหลายวงการ ทุกวันนี้เราจึงได้เห็นประชาชนกล้าที่จะเปิดเผยพฤติกรรมฉ้อฉลที่ตนพบเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย จนนำไปสู่การสอบสวนดำเนินคดีจำนวนมาก เช่น คดีโกงอาหารกลางวันเด็กนักเรียน โกงเงินช่วยเหลือคนพิการ

สถิติการร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ขณะที่การพิจารณาตัดสินคดีในขั้นตอน ป.ป.ช. และศาลคอร์รัปชั่นก็รวดเร็วมากในหลายปีมานี้

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)

ผลจากการออกกฎหมายใหม่อย่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ทำให้มีกติกาที่รัดกุมและตรวจสอบง่ายสำหรับทุกหน่วยราชการ การเปิดเว็บไซต์ ภาษีไปไหน ทำให้สื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าไปตรวจสอบการใช้งบประมาณง่ายขึ้น ขณะที่ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ทำให้มีการเรียกรับสินบนลดน้อยลง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบริการประชาชนและคนทำมาค้าขาย พร้อมกันนี้หลายหน่วยราชการได้พัฒนาระบบงานและใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่ให้รวดเร็วและโปร่งใสมากขึ้น เช่น กรมศุลกากร กรมขนส่งทางบก

ที่กล่าวมาล้วนเป็นปรากฏการณ์ที่น่ายินดีและเป็นความหวังในการต่อต้านคอร์รัปชั่น” ดร.มานะระบุอย่างมั่นใจ ก่อนมีประเด็นทิ้งท้ายเรื่องความร่วมมือของภาคประชาชน ว่าแม้สถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้นเพราะความตื่นตัวของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ รวมถึงมาตรการดีๆ หลายอย่าง แต่โดยรวมแล้วคอร์รัปชั่นยังเป็นปัญหาวิกฤต ดังนั้น ทุกอย่างจะให้ดีขึ้นได้จริงในอนาคตต้องอาศัยความตั้งใจและเร่งลงมือทำร่วมกันให้มากกว่านี้

ยก ‘กองทัพบก’ โปร่งใสมาก สังคมวิพากษ์ จริงหรือ ?

จากอันดับโลกสากล หันมาส่องกระจกยลอันดับในประเทศ การมองรางวัล เนื่องในวันในวันคอร์รัปชั่นสากล “กองทัพบก” โปร่งใสที่สุด โดยทำคะแนนเกือบเต็มร้อย มีการมอบรางวัลยิ่งใหญ่ ในงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล ที่ อิมแพค เมืองทองธานี ในช่วงปลายปี 2562 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ภาคีเครือข่ายภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม

ในงานวันนั้น ‘บิ๊กตู่’ ขึ้นเวทีเป็นประธานประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต และมอบรางวัลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ที่มีผลคะแนนสูงสุดในแต่ละประเภท รวม 34 หน่วยงาน ‘กองทัพบก’ คว้ามง ด้วย 97.96 คะแนน ตามมาติดๆ โดย ‘กรมที่ดิน’ 95.99 คะแนน และ ‘สำนักงานกิจการยุติธรรม’ 95.76 คะแนน ส่วน ‘ศาลยุติธรรม’ คือประเภทขององค์กรศาลที่ได้คะแนนสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ครั้นข้อมูลข้างต้นปรากฏแก่สังคม ได้นำมาซึ่งคำถามค้างคาใจในประเด็นการเสนอจัดทำร่างงบประมาณของกองทัพบก อีกทั้งความอู้ฟู่ดูรวยหนักมากอย่างผิดปกติของนายทหารบางรายและหลายราย ซึ่งก่อนหน้าการเปิดเผยอันดับและจัดมองรางวัลที่ว่านี้เพียงราว 1 สัปดาห์ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หลังประกาศลาออกจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณ 2563 ได้นำเสนอข้อมูลบนเวทีสาธารณะพบประชาชนและผู้สนับสนุนพรรค ในหัวข้อ “ชำแหละงบประมาณกระทรวงกลาโหม” ว่ามีเงินนอกงบประมาณกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท

“คำถามคือ ทำไมความสงสัยของประชาชน ที่ว่าทำไมนายพลในประเทศนี้ถึงมีทรัพย์สินมหาศาล ในส่วนของ สนช. 250 คน มีนายพลถึง 81 คน นายพลที่มีทรัพย์สินมากที่สุดมีกว่า 800 ล้านบาท เฉลี่ยทั้ง 81 คน มีเฉลี่ยคนละประมาณ 80 ล้านบาท สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความสงสัยว่า ทรัพย์สินมากมายเหล่านี้ กับ เงินนอกงบประมาณ มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่” ธนาธรระบุ ทั้งยังเน้นย้ำถึงประเด็นการปฏิรูปกองทัพให้โปร่งใส ประชาชนมีสิทธิและสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้เงินภาษีถูกใช้ไปอย่างสุจริตและคุ้มค่า

จากประเด็นต่างๆ ข้างต้น มาย้อนดูความเห็นของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ซึ่งกล่าวปาฐกถาพิเศษ ‘รวมพลังคนไทย อาสาสู้โกง’ ในงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่น 2562 เมื่อเดือนกันยายน 2562 ณ ไบเทค บางนา ความตอนหนึ่งว่า ในอดีต ตนเป็นทหารคนหนึ่งที่ไม่รู้เรื่องอะไร รู้แต่ทุจริตคือสิ่งไม่ดี แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน เป็นปัญหาที่แก้ยากมาก ถามว่าเวลา เหตุใดเมื่อคิด เมื่อทำ แต่กลับไม่สำเร็จ วันนี้เห็นว่ามีการเชิญภาคประชาชน หน่วยงานอิสระ ข้าราชการ และผู้แทนพรรคการเมืองมาหลายพรรค สิ่งที่รู้สึกรำคาญคือ จะสัมมนาอะไรกันนักหนา คุยอะไรกันนักหนา หลับตาก็รู้ว่าจะสรุปว่าอย่างไร แต่เมื่อได้แนวทาง ทำไมไม่เอาแนวทางที่ได้ไปทำ

“เราขาดคนที่นำไปสู่ความสำเร็จแบบจับต้องได้ติดขัดทำไมไม่แก้ เราขาดการปฏิบัติ ไม่ใช่ไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ไหน แต่จะเอาใครมาทำ ทำอย่างไร และจะปกป้องคนให้ข้อมูลอย่างไร สร้างความมั่นใจต่อความก้าวหน้าให้เขาอย่างไร”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อมูล และเสี้ยวหนึ่งของความเห็นในประเด็นท้าทายที่แค่ความตั้งใจต้านโกงอาจไม่พอ ถ้าไม่ปฏิบัติจริงอย่างไร้เงื่อนไข ไม่มีข้อยกเว้นจนเกิดปมปัญหาให้คนไทยขมวดคิ้วคาใจหลายครั้งหลายคราจนหานิ้วมากันแทบไม่พอ

เปิด ‘ดัชนีคอร์รัปชั่นโลก’ ใครเป็นใคร เมื่อไทย ยืน ‘(ร้อย)หนึ่ง’

ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ปี 2019

นิวซีแลนด์-เดนมาร์ก ยืนหนึ่ง 87 คะแนน สิงคโปร์ ที่ 1 เอเชีย ติดอันดับ 4 ของโลก ไทยได้ 36 คะแนน ลำดับที่ 101 ของโลก องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้ประกาศ ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ปี 2019 ทั้งหมด 180 ประเทศ จากหลักเกณฑ์ 100 คะแนนเต็ม พบว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั้งหมด ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน โดยคะแนนเฉลี่ยทั้งหมด อยู่ที่ 43 คะแนน อันดับหนึ่งคือประเทศนิวซีแลนด์ ได้ 87 คะแนน เช่นเดียวกับ เดนมาร์ก ที่ได้ 87 คะแนนเช่นกัน ตามมาด้วย ฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ สวีเดน นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ ลักแซมเบิร์ก เยอรมนี ไอซ์แลนด์ แคนาดา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ออสเตรีย ฮ่องกง เบลเยียม ไอร์แลนด์ เอสโตเนีย และญี่ปุ่น ส่วนสหรัฐอเมริกาได้ 69 คะแนน อยู่อันดับที่ 23 ได้คะแนน เท่ากับฝรั่งเศส

ขณะที่ อันดับสุดท้ายคืออัฟกานิสถาน ได้ 16 คะแนน ส่วนจีน อันดับขึ้น อยู่ที่ 80 ได้ 39 คะแนน

สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับหนึ่งคือสิงคโปร์ ได้ลำดับที่ 4 มี 85 คะแนน สูงที่สุดในทวีปเอเชีย ตามมาด้วยบรูไน ได้ลำดับที่ 35 มี 60 คะแนน ส่วนมาเลเซียได้ลำดับที่ 51 มี 53 คะแนน อินโดนิเซียได้ลำดับที่ 85 มี 40 คะแนน ตามด้วยติมอร์-เลสเตได้ลำดับที่ 93 มี 38 คะแนน เวียดนามได้ลำดับที่ 96 มี 37 คะแนน และประเทศไทยลำดับที่ 101 ได้ 36 คะแนน ทั้งนี้ ดัชนีการรับรู้การทุจริตในปี 62 ของไทย แม้จะมี 36 คะแนนเท่ากับปี 61 แต่อันดับร่วงลง 2 อันดับ จากปี 61 ที่ไทยอยู่ที่อันดับ 99 และในปี 61 อันดับไทยก็ร่วงลง 3 อันดับจากปี 60 ที่อยู่ในอันดับ 96 โดยในปี 2561 ไทยมี 36 คะแนน ลดลง 1 คะแนน จากปี 2560 ที่มี 37 คะแนน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image