พิษเสียบบัตรแทนกัน! งบติดล็อก จัดซื้อจัดจ้างป่วนทั้งประเทศ เครื่องยนต์ศก.เสี่ยงดับฉุดจีดีพี

หน่วยงานรัฐป่วนหนัก แผนจัดซื้อจัดจ้าง-ลงทุนรวนทั้งระบบ หลัง “ชวน หลีกภัย” ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวิจัยฉัยร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี”63 มีงบฯ “จ่ายเงินเดือน” ถึง มี.ค. ห่วงงบฯลงทุน 3.6 แสน ล.สะดุด จ่อขยายกรอบใช้งบฯไปพลาง รับเหมารายกลาง-รายย่อยป่วน เครื่องยนต์ ศก.เสี่ยงดับฉุดจีดีพี ใช้งบฯ 63 เดือน พ.ค.-มิ.ย.

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ยังไม่ชัดเจนว่ากระบวนการพิจารณาชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หลังมีการตรวจสอบพบว่าผลโหวตลงคะแนนในสภาผู้แทนราษฎรอาจมีปัญหา เนื่องจาก ส.ส.บางรายเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน กำลังส่งผลกระทบในวงกว้าง จากที่ต้องยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ได้ข้อยุติ ทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน มี.ค. 2563 ล่าช้าออกไปอีก 2-3 เดือน จากเดิมที่ล่าช้ากว่าปกติอยู่แล้ว 4 เดือน กระทบเศรษฐกิจ ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน ห่วงว่าหน่วยงานรัฐจะเหลือเวลาในการเบิกจ่ายงบฯจัดซื้อจัดจ้าง ลงทุนเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า งบฯปี 2563 ที่คาดว่าจะล่าช้าไปอีก 2 เดือนนั้น สำนักงบฯรอดูว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัยหรือไม่ หากศาลไม่รับจะเดินหน้าต่อได้ทันที แต่หากรับ ต้องดูว่าจะวินิจฉัยในประเด็นใดบ้าง และวินิจฉัยกฎหมายงบฯทั้งฉบับ หรือแค่รายมาตรา หลังจากนั้น สำนักงบฯจะส่งทีมงานไปหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นการเตรียมการเพื่อหาทางออก คงจะต้องเตรียมแบบวันต่อวัน ส่วนจะถึงขั้นออก พ.ร.ก.กู้เงินหรือไม่นั้น ต้องหารือกฤษฎีกาก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้ แต่คิดว่าไม่น่าถึงขั้นนั้น

เนื่องจากระหว่างกฎหมายงบฯยังไม่มีผลบังคับใช้ งบฯที่ใช้ไปพลางก่อน ที่อิงจากฐานงบฯปี 2562 กำหนดไว้ว่า สามารถเบิกใช้ได้ก่อนไม่เกินกึ่งหนึ่งของงบฯที่ใช้ในปี 2562 ดังนั้นงบฯรายจ่ายประจำ งบฯรายจ่ายประเภทโครงการที่ให้บริการประชาชน หรือรายจ่ายเงินเดือนข้าราชการ จะมีเพียงพอเบิกจ่ายได้จนถึงเดือน มี.ค.

Advertisement

สำหรับงบฯลงทุน หากเป็นรายการที่ผูกพันโดยสัญญามาจากปีก่อน ๆ ยืนยันว่า สำนักงบฯมีเงินให้เบิกจ่ายได้ช่วงเวลา 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ หรือถึงสิ้นเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะพอดีกับที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินออกมา อย่างไรก็ดี ต้องหารือกฤษฎีกาว่าจะมีงบฯส่วนไหนพอจะใช้ลงทุนได้บ้าง ระหว่างที่รอกฎหมายงบฯบังคับใช้

“แต่เดิมมองว่าให้ใช้ 50% หรือประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท จาก 3 ล้านล้านบาท เพียงพอ กรณีมีเหตุล่าช้า แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คิดว่าจะเกิดคราวนี้ต้องเก็บตัวเลขอีกทีว่าจะมีเงินเหลือเท่าไหร่ ดูว่ามีรายการไหนบ้างที่ยังไม่ได้ให้ถึงกึ่งหนึ่ง ก็จะเติมให้ถึง”

นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า ปัญหาคืองบฯลงทุนใหม่ในปี 2563 จะเบิกจ่ายไม่ได้เลย ราว 3.6 แสนล้านบาท โดยเป็นงบฯลงทุนปีเดียวราว 3 แสนล้านบาท และเป็นงบฯผูกพันข้ามปี (รวมรายการเกิน1,000 ล้านบาท) อีก 6 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมมาตรการเร่งรัดเบิกจ่ายไว้ เพื่อให้ดำเนินการเบิกจ่ายงบฯลงทุนได้ทันที เมื่อกฎหมายงบฯมีผลบังคับใช้ เรื่องนี้ที่ผ่านมาได้ออกหนังสือเวียนถึงทุกส่วนราชการไปแล้วตั้งแต่ตอนที่งบฯผ่านสภาผู้แทนฯ ให้เตรียมการจัดซื้อจัดจ้างไว้ล่วงหน้าทันที ทั้งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง จัดทำร่างทีโออาร์ ให้รอเพียงการลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้สัญญามีผลบังคับใช้เท่านั้น ที่จะทำได้หลังกฎหมายงบฯบังคับใช้แล้ว

ส่วนโครงการรัฐบาล เช่น บัตรประชารัฐ สามารถเบิกจ่ายได้ เนื่องจากเป็นโครงการที่เคยทำมาในปี 2562 และในงบฯปี 2563 ก็ตั้งไว้ให้กว่า 4 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันหากเกิดกรณีงบประมาณล่าช้าเกินเดือน มี.ค. ต้องหารือกับกฤษฎีกาว่าจะปรับแผนอย่างไรได้บ้าง อาจจะพิจารณาเรื่องขยายการใช้งบฯไปพลางก่อน เช่น ขยายเวลาใช้งบฯไปพลางมากกว่ากึ่งหนึ่ง (6 เดือน) เป็นต้น เพียงแต่ยังต้องดูข้อกฎหมายว่าทำได้แค่ไหน

ด้านนายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ผู้รับเหมาได้รับผลกระทบแน่นอนจากที่ พ.ร.บ.งบฯ 2563 ล่าช้า โดยเฉพาะรับเหมารายกลางและรายย่อยที่สายป่านสั้น

“ปีนี้จะมีโครงการใหม่ในส่วนของราชการเฉพาะงานก่อสร้างเปิดประมูล 700,000 ล้านบาท และหากรัฐลงทุนจะทำให้เกิดการลงทุนของเอกชนตามมาอีก 600,000 ล้านบาท ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ แต่หากงบฯมีเวลาใช้จ่ายแค่ 4-6 เดือน เงินที่จะเข้าสู่ระบบจะน้อยลง การลงทุนของเอกชนจะช้าไปถึงปลายปี”

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่งบฯล่าช้า เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ เพราะไตรมาสสุดท้ายปี 2562 การใช้จ่ายโดยรวมของภาครัฐหายไปถึง 15% ซึ่งการลงทุนภาครัฐถือเป็นเครื่องยนต์ที่เหลืออยู่ตัวเดียวที่จะใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกเหนือจากส่งออกและท่องเที่ยว

“ผมคิดว่าเอาเข้าจริง ๆ งบฯไม่น่าจะล่าช้าไปถึง 5-6 เดือน เพราะหากศาลวินิจฉัยว่า เป็นโมฆะทั้งฉบับ ก็สามารถนำกฎหมายทั้งฉบับกลับมาให้สภาโหวตทีเดียว 3 วาระรวดได้เลย”

สอดคล้องกับที่นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลให้โครงการใหม่ ๆ ของรัฐไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ขณะที่ผลกระทบที่เป็นเม็ดเงิน ปัจจุบันมูลค่าของเม็ดเงินลงทุนจากรัฐบาลอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท/ไตรมาส ซึ่งการที่งบประมาณปี”63 ล่าช้าออกไป จะส่งผลให้เงินส่วนดังกล่าวไม่ไหลเข้าระบบเศรษฐกิจ แต่อาจมีเงินบางส่วนไหลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจได้บ้าง จากโครงการที่ได้รับการอนุมัติและดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยถึงกรณี ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ส่งร่าง พ.ร.บ.งบฯรายจ่ายประจำปี 2563 ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ คาดว่าจะใช้เวลาเร็วที่สุด 30-45 วัน อย่างช้า 2 เดือน จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นำขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้นกว่ากฎหมายงบประมาณมีผลบังคับใช้ น่าจะเป็นเดือน พ.ค.หรือ มิ.ย. 2563

“รัฐบาลมีเวลาในการบริหารงบประมาณเพียง 4 เดือน รายการงบประมาณที่ดำเนินการไม่ได้เลยคือ งบฯลงทุนใหม่ ๆ ตามนโยบายรัฐบาล และงบประมาณที่ต้องการก่อหนี้ผูกพันข้ามปี ก็ไม่สามารถทำได้ แต่กรณีเลวร้ายที่สุด หากกฎหมายตกไปจะเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเริ่มกระบวนการร่างใหม่ ซึ่งต้องทำคู่ขนานกับงบประมาณปี 2564 ปีนี้จะใช้ได้เพียงวงเงินใช้ไปพลางก่อนประมาณ 50% ของวงเงินงบประมาณปีที่ผ่านมาเท่านั้น”

แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญเปิดเผยว่า หากประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องที่มี ส.ส. เข้าชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบร่าง พ.ร.บ.งบฯปี 2563 ว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามกระบวนการศาลจะต้องพิจารณาว่า ข้อเท็จจริงที่ส่งมามีมูล หรือไม่มีมูล หากมีมูลก็จะรับไว้วินิจฉัย

นายเจษฎ์ โทณวณิก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และอดีตคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญว่า เมื่อศาลรับเรื่องมาและพิจารณาเบื้องต้นว่า เรื่องนั้น ๆ มีมูลที่จะรับ หรือข้อกฎหมายที่จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ทั้งนี้ พิจารณาเบื้องต้นกรณีนี้มูลมีอยู่แล้ว เพราะมีเหตุที่กล่าวอ้างว่ามีการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มีข้อกฎหมายให้ศาลท่านรับไว้อยู่แล้ว เมื่อศาลรับพิจารณาจะพิจารณาว่าต้องมีการเปิดไต่สวนหรือไม่ หากมีมูลหรือข้อเท็จจริงเพียงพอให้ศาลท่านพิจารณาเองได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดการไต่สวน แต่ไม่ว่าจะมีการไต่สวนหรือไม่ไต่สวน ศาลสามารถขอให้ยื่นเอกสาร ยื่นพยานหลักฐาน คำให้การ เพื่อให้พิจารณาได้ แต่เชื่อว่าศาลต้องวินิจฉัยโดยเร็ว เพราะถ้าเนิ่นช้าไปไม่เป็นผลดี

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หนึ่งในคำร้องที่คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นรายชื่อ 90 ชื่อ ผ่านทางประธานรัฐสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.งบฯ 2563 หากมีปัญหาจะทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 2563 ตกไปทั้งฉบับ หรือเฉพาะมาตราที่มีปัญหา และจะถือว่าสภาพิจารณาร่างกฎหมายนี้ไม่เสร็จภายใน 105 วัน ตามมาตรา 143 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 105 วัน ให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.นั้น ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ 2563 เกินกำหนด 105 วัน อาจต้องกลับไปใช้ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 2563 เดิม ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image