เมื่อไหร่ไทยเราจะสู้กับเขาได้ : โดย สมหมาย ภาษี

วันนี้ผมจั่วหัวเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะผมเห็นว่าตอนนี้ถ้าไปยกหัวข้อใดหรือเรื่องใดขึ้นมาก็ตาม เราก็จะได้คำตอบของหัวข้อที่ยกขึ้นมาได้ทันทีจากทุกคน คำตอบที่ทุกท่านจะต้องตอบคือ ถ้าการบริหารบ้านเมืองยังเป็นอยู่แบบนี้ อย่าได้คิดอย่าได้หวังที่จะสู้กับประเทศอื่นเขาเลย ขอให้ปลงเสียเถอะ

เรื่องแรกที่ขอนำเสนอท่านผู้อ่าน คือ เรื่องการปราบคอร์รัปชั่น ซึ่งมาจากการที่ผมได้ฟังคลิปในงานเลี้ยงของพรรคประชาธิปัตย์ที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ สมาชิกระดับแถวหน้าของพรรคที่ได้พูดปาฐกถาให้สมาชิกแกนนำของพรรคฟังก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตว่า ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศผู้จัดตั้งกลุ่มอาเซียนขึ้นเมื่อ 53 ปีที่แล้ว ตอนนั้นมีสมาชิกเพียง 5 ประเทศ แต่ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 10 ประเทศ มองย้อนกลับไปหลายประเทศที่ได้เข้ามาร่วมในภายหลังล้วนแต่ยังเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจอยู่เลย หรือบางประเทศก็เพิ่งจะรวมตัวและเพิ่งตั้งหลักได้ แต่ปัจจุบันนี้ประเทศใหม่ๆ บางประเทศ เหล่านั้นได้ก้าวเดินข้ามประเทศไทยไปแล้ว เห็นชัดว่าประเทศไทยซึ่งไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใครเลย แต่งุ่มง่ามตลอดมาจนประเทศเพื่อนบ้านและไกลบ้านแซงหน้าไปมากแล้ว

ท่านสุรินทร์ได้กล่าวว่า เวลาประชุมระดับรัฐมนตรีระหว่างประเทศคราวใดก็ตาม แม้ไม่ติดป้ายประเทศ ไม่มีการติดป้ายชื่อผู้เข้าประชุม แต่ใครๆ ก็รู้ว่าผู้แทนจากประเทศไทยคือใครผู้ที่ไม่พูดนั้นแหละคือผู้แทนไทย ทั้งนี้ เพราะประเทศไทยเราแต่งตั้งรัฐมนตรีกันจากระบบการเมืองแบบอุปถัมภ์ ก็จะได้คนไม่ค่อยรู้เรื่องไปทำงานให้ประเทศ

ท่านสุรินทร์ได้พยายามเรียกประเทศไทยที่มีนโยบายจะทำให้เป็นประเทศพัฒนา 4.0 แต่นักลงทุนมองประเทศไทยว่าจริงๆ คือประเทศ 20% หรือ 30% ที่เรียกเช่นนี้เพราะพอนักลงทุนคิดจะลงทุนในประเทศไทย ทุกรายรู้ว่าเขาต้องเตรียมเงินเพื่อจ่ายค่าคอร์รัปชั่นกันถึง 20% หรือ 30% ซึ่งการคอร์รัปชั่นนี้เป็น
โรคร้ายของประเทศไทยมานาน ทำให้บั่นทอนความสามารถที่จะแข่งขันได้ของไทย เป็นผลให้เราอ่อนแอลงทุกปี

Advertisement

ดัชนีคอร์รัปชั่นโลกที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ซึ่งได้จัดทำมาทุกปี ปีนี้ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตปี 2019 หรือ พ.ศ.2562 ของประเทศทั้งหมด 180 ประเทศ ออกมาแล้วเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผลปรากฏว่าประเทศนิวซีแลนด์และเดนมาร์ก ครองอันดับหนึ่งของโลกต่างได้ 87 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม ส่วนประเทศไทยได้ 36 คะแนน ติดอันดับ 101 เทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียน ประเทศสิงคโปร์ได้ 85 คะแนน อันดับ 4 ของโลก สูงที่สุดในเอเชีย บรูไน อันดับที่ 35 มาเลเซีย อันดับที่ 51 ห่างกับประเทศไทยถึง 50 อันดับ อายเขาบ้างไหมครับ

ที่น่าสนใจคือ ประเทศจีนได้ 39 คะแนน ติดอันดับที่ 80 อันดับดีขึ้นกว่าเดิม

มองย้อนหลังไปในปี 2550-2555 ดัชนีคอร์รัปชั่นของประเทศไทยติดอยู่ในอันดับที่ 78-88 แต่พอมีทุจริตการรับจำนำข้าวเปลือกสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อันดับดัชนีคอร์รัปชั่นพุ่งพรวดขึ้นไปที่ 102 แต่พอท่านพลเอกประยุทธ์ขี่ม้าขาวออกมาทำการปฏิวัติในเดือนพฤษภาคม 2557 และได้ประกาศนโยบายปราบการคอร์รัปชั่นอย่างเอาจริงเอาจัง ปรากฏว่าปีนั้น พวกขี้โกงทั้งหลายหัวหดไปมาก ค่าดัชนีคอร์รัปชั่นในปี 2557 ของไทยดีขึ้นพรวดพราดจากอันดับที่ 102 เป็นอันดับที่ 85 ยิ่งในปี 2558 ถัดมาหลังจากได้มีการตั้ง ครม.ชุดประยุทธ์ 1 เข้ามาบริหารประเทศได้ร่วมปี ทำให้ปี 2558 ดัชนีคอร์รัปชั่นของไทยได้ลดลงมาต่ำสุด
ในรอบ 20 ปีเห็นจะได้ คืออันดับที่ 76 ทำให้ได้ฟังแล้วเป็นปลื้มไปหมด นี่แหละอัศวินม้าขาวที่ฟ้าส่งมาปราบคอร์รัปชั่นจริงๆ

Advertisement

แต่ครั้นได้มีการปรับ ครม.เป็นประยุทธ์ 2 ในปลายปี 2558 โดยได้เปลี่ยนทีมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นหัวหน้าออกยกทีมในเดือนสิงหาคม 2558 ต่อมาในปี 2559 ดัชนีคอร์รัปชั่นได้ดิ่งแย่ลงเป็นประวัติการณ์ถึง 25 อันดับ ดัชนีได้เข้ามาอยู่แดน 3 หลักอีกครั้งที่อันดับ 101 หลังจากนั้นก็เกาะอยู่ในแดนที่นักลงทุนเชื่อว่าคอร์รัปชั่นของไทยแพร่ระบาดหนักแบบเอาไม่อยู่ และในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ 5 หรือปีสุดท้ายของรัฐบาลทหาร คสช. ก็ได้ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ไทยยังคงติดอยู่ในแดน 3 หลักที่อันดับ 101 เรื่องนี้ท่านผู้อ่านทุกท่านย่อมรู้ดีว่ามันเป็นตัวบ่งบอกผลงานที่ชัดเจนของใครให้ประชาชนทั้งประเทศได้รู้ฝีมือกันเป็นอย่างดี

ก่อนที่จะจบเรื่องปราบคอร์รัปชั่นของไทย ผมขอนำท่านผู้อ่านไปดูเหตุการณ์เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 18 ปี ป.ป.ช. ซึ่งท่านพลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้กล่าวต่อสาธารณชนตั้งความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ ป.ป.ช.มีผลงานที่ดีขึ้นตามสโลแกนที่ว่า ป.ป.ช.มุ่งมั่นสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริตŽ ท่านกล่าวถึงนโยบายและแนวทางการทำงานที่จะกระชับขึ้น พร้อมกับชี้แจงว่าเหตุใดประเทศไทยซึ่งได้คะแนนดัชนีคอร์รัปชั่นอันดับที่ 76 ในปี 2558 กลับเลวลงได้อันดับที่ 101 ในปี 2559 พร้อมกับตั้งเป้าหมายว่าในปี 2564 ประเทศไทยเราต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 50 คะแนน ซึ่งถ้าได้อย่างที่ท่านตั้งเป้าไว้ ก็แปลว่าประเทศต้องติดอันดับดีกว่า 60 เช่นประเทศมาเลเซีย เพราะหนึ่งในสามของ 180 ประเทศคือ 60 ประเทศเท่านั้นที่ได้สูงกว่า 50 คะแนน คงต้องรอไปชาติหน้า

ถ้าหากประเทศไทยบริหารประเทศแบบจริงจังอย่างประเทศอื่นเขา เมื่อเห็นชัดๆ ว่าของปี 2562 ที่ตัวเลขเพิ่งออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไทยติดอยู่ในกลุ่มตัวเลข 3 หลักที่อันดับ 101 แล้วอีก 2 ปี ดัชนีคอร์รัปชั่นของไทยเราจะก้าวกระโดดพ้นกับดักตัวเลข 3 หลักให้อยู่ในอันดับดีกว่า 60 เหมือนประเทศมาเลเซียได้อย่างไรหรือ เห็นชัดๆ อยู่ว่าทุกวันนี้งานก็ช้างุ่มง่ามแบบเดิมๆ

ถ้าหัวหน้ารัฐบาลเอาจริงก็ควรคิดพิจารณาการเปลี่ยนคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งชุดเสีย ให้เด็ดขาดเหมือนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนซะเลย

เรื่องที่สอง ผมได้พูดเรื่องแรกเกี่ยวกับสังคมไทย คุณธรรมและจรรยาบรรณของข้าราชการไทยรวมถึงพ่อค้านักธุรกิจที่เอาแต่ได้มาแล้ว ต่อไปนี้ใคร่ขอนำท่านผู้อ่านไปดูเรื่องของเศรษฐกิจบ้าง ที่จริงบทความผมจะเน้นพูดเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่เรื่องที่จะยกขึ้นมาพูดในวันนี้คือเรื่องการแข็งค่าของเงินบาทและผลกระทบ

เร็วๆ นี้ ผมได้อ่านคลิปของผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย คุณดอน นาครทรรพ ซึ่งท่านได้นำทรรศนะต่อปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าในปัจจุบันที่ท่านได้คุยกับ Dr.Jim Walker นักวิเคราะห์ในตำนานที่ได้ติดตามภาวะเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาทมายาวนาน

การวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมาของ Dr.Jim Walker สรุปได้ว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็เป็นไปตามธรรมชาติจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในสองสามปีที่ผ่านมา ดัชนีค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่า ดังนั้น เงินบาทก็ต้องแข็งค่าขึ้นเพราะปกติจะเคลื่อนไหวผกผันกัน

Dr.Walker ได้กล่าวต่อไปว่า แต่ในระยะหนึ่งปีที่ผ่านมากลับผิดปกติ เพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยแต่เงินบาทกลับแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมาก ไม่สอดรับกับภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอลงแรง ท่านวิเคราะห์ว่า สิ่งผิดปกติของค่าเงินบาท ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ เกิดจากกลไกทางเศรษฐศาสตร์ไม่ทำงาน ตามทฤษฎีแล้ว ค่าเงินที่แข็งขึ้น ควรนำไปสู่การเพิ่มการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาพร้อมกับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะไปช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาทลงโดยอัตโนมัติ แต่ของไทยสิ่งเหล่านี้มิได้เกิดขึ้น เหมือนกับมีความหนืด (Rigidity) อยู่ในระบบเศรษฐกิจŽ

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเงินในตำนานได้ให้ความเห็นแบบฟันธงว่า จริงอยู่ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการลงทุน แต่ประเด็นคือ การลงทุนของไทยอยู่ในระดับต่ำอย่างยาวนานมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้า…แถมดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน ซึ่งสงสัยว่าเป็นเพราะภาคธุรกิจไทยไม่มั่นใจในการนำพาเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน ที่โดยพฤตินัยอยู่มาห้าปีกว่าแล้วทำให้ไม่กล้าลงทุน…Ž

Dr.Walker ได้เสนอแนะว่าการแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นตอ คือการลดความหนืดของระบบเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจ เร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ ควบคู่กับการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ลดปัญหาคอร์รัปชั่นและลดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการแข่งขันของภาคธุรกิจ

ผมเห็นด้วยกับ Dr.Walker ทุกประเด็นครับ สรุปแล้วการแข็งค่าของเงินบาทมาจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติไม่กล้ามาลงทุนในประเทศไทยมาช้านาน ตั้งแต่การตั้งเวทีด่ารัฐบาลสมัยท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และขอให้ทำการปฏิรูปประเทศ ทำให้บ้านเมืองขาดความสงบ จนกระทั่งมีการปฏิวัติของ คสช.

นี่ห้าปีผ่านไปแล้วก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น บ้านเมืองสงบดีแล้ว แต่การฉ้อราษฎร์บังหลวงยังมีดาษดื่นเหมือนเดิม การปฏิรูปด้านต่างๆ ไม่เกิดขึ้น ตรงกันข้ามด้านธรรมาภิบาลภาครัฐลดน้อยถอยลง กฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนยังมีมากเหมือนเดิม ความมั่นใจของนักลงทุนกลับลดน้อยลง แม้จะมีการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐในเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยการประเคนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ทำได้ก็แค่โฆษณาปาหี่ไปปาวๆ เพื่อให้นักลงทุนทั้งไทยและเทศแห่กันมาจับจองโครงการที่จะลงทุน แต่ยังไม่มีใครกล้าลงทุนจริง ความน่าลงทุนของไทยจึงยิ่งหดหายไปเรื่อยๆ อย่างที่เห็น

สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการถดถอยอย่างต่อเนื่องของการลงทุนในประเทศไทย คือ การหดตัวของการนำสินค้าเข้าไทยติดต่อกัน 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2554 ที่มูลค่าเคยสูงถึง 7.07 ล้านล้านบาท ได้ลดต่ำลงทุกปีจนถึงปี 2560 เหลือมูลค่า 6.82 ล้านล้านบาท ในช่วงดังกล่าวการนำเข้าของอาวุธยุทโธปกรณ์ไม่น่าจะมีการหดตัว ดังนั้น ตัวสินค้าทุนจึงเป็นรายการที่หดตัวมากที่สุดนี่แหละสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้บาทแข็ง

เรื่องที่สาม ผมขอพูดถึงเรื่องการเมืองสักหน่อย ทั้งๆ ที่ไม่อยากแตะต้อง ทั้งนี้ เพราะส่วนตัวแล้วผมรู้สึกสะอิดสะเอียนกับการบรรเลงด้านการเมืองของไทยมาตลอด รู้สึกตลอดเวลาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ ว่าทำไมมันช่างน่ารังเกียจขนาดนี้ ความรู้สึกรับผิดชอบของนักการเมืองต่อบ้านเมือง รวมทั้งจรรยาบรรณและคุณธรรมถูกบดบังด้วยการบ้าอำนาจเสียหมด แทบไม่เหลือช่องว่างของความน่าดูน่าสรรเสริญให้เห็นบ้างเลย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในขณะนี้คือ เรื่องงบประมาณประจำปี 2563 ซึ่งตามตารางเวลาปกติของเรื่องนี้ งบประมาณประจำปี 2563 นี้ควรต้องเสร็จเรียบร้อยและประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 และไปสิ้นปีในเดือนกันยายน 2563 แต่ที่ล่าช้ามาเป็นเดือนที่ 5 แล้วในขณะนี้ก็เพราะกระบวนการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่ล่าช้ามากไม่รวดเร็วเหมือนประเทศอื่นเขา ในประเทศระบบเดียวกัน นับตั้งแต่มาเลเซีย เวียดนาม หรือกระทั่งอินโดนีเซีย เขาเร็วกว่าเราทั้งนั้น เมื่อกระบวนการเลือกตั้งกว่าจะได้รัฐบาลล่าช้า งบประมาณปี 2563 จึงถูกลากยาวไปด้วย

งบประมาณประจำปี 2563 จะจบอยู่แล้วตอนนี้ แต่ก็ต้องมาเจอสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติดันเสียบบัตรโหวต พ.ร.บ. งบประมาณแทนเพื่อน ซึ่งไม่รู้จะตำหนิถึงการกระทำเช่นนี้กันอย่างไรดีว่ามันเลวมาก แต่นี่ก็ได้แสดงให้เห็นชัดของกระบวนการเมืองไทย ทั้งหมดขณะนี้ว่า ไม่เห็นมีอะไรดีหรือพัฒนาขึ้นกว่าเดิม นอกจากเรื่องไอทีเพียงอย่างเดียว ส่วนเรื่องอื่นเหลวแหลกหมด ไม่อายเด็ก อายเพื่อนบ้าน และอายนานาชาติที่เขานั่งดูเราด้วยความสมเพชอยู่แล้วบ้างหรือ

สรุปแล้วเรื่องนี้ผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม แต่เดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นเดือนแรกของการเตรียมจัดทำงบประมาณประจำปี 2564 แล้ว เอาแล้วซีของเก่ายังไม่เสร็จ ของปีใหม่ก็ต้องเริ่มทำแล้ว ฟังดูประเทศไทยเรานี้ ถ้าไม่เรียกว่าเข้าขั้นวิปริตแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรดี ก็ต้องรอดูศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด

เมืองไทยนี้มีสิ่งที่เรียกว่าเป็นเมืองประหลาดน่าอัศจรรย์ (Amazing Thailand) อยู่อย่างหนึ่งคือ อะไรที่เป็นเรื่องผิดๆ สามารถทำให้ถูกต้องได้ง่าย อะไรที่เป็นเรื่องถูกก็สามารถทำให้ผิดได้ง่ายเช่นกัน ทำการบริหารประเทศกันแบบนี้ยังตามใครเขาไม่ทัน แล้วเมื่อไหร่ไทยเราจะสู้เขาได้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image