รายงานหน้า 2 : คลังปรับเป้า‘จีดีพี’ปี63 ปัญหารุม-ยังโต2.8%

หมายเหตุนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา

ลวรณ แสงสนิท
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

กระทรวงการคลังปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 และ 2563 จากเคยคาดการณ์ไว้เดิมเมื่อเดือนตุลาคม 2562 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ขยายตัว 2.8% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.3% ส่วนในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว 2.5% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 2.8%

Advertisement

ส่วนการส่งออกในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 1% จากเดิมเคยคาดว่าขยายตัว 2.6% ส่วนในปี 2562 คาดว่าจะติดลบ 3.2% ติดลบสูงกว่าเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 2.5%

เศรษฐกิจไทยในปี 2563 อาจได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา งบประมาณล่าช้า และภัยแล้ง ในส่วนของไวรัสโคโรนา คาดว่าส่งผลกระทบด้านการท่องเที่ยวค่อนข้างรุนแรง เพราะฐานนักท่องเที่ยวจีนเป็นฐานใหญ่ของไทย หากไวรัสโคโรนาจบเร็วใน 3 เดือนทำให้นักท่องเที่ยวหายไปประมาณ 4 แสนราย ในปี 2563 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 41.1 ล้านคนขยายตัว 3.3% รายได้จากการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.4% ซึ่งประเมินรวมผลกระทบของไวรัสโคโรนาด้วยแล้ว

ส่วนปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณคาดว่าล่าช้ากว่าเดิม 2 เดือนจากเดิมคาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นเดือนมกราคม เป็นสิ้นเดือนมีนาคม จากนี้คงต้องรอคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาล สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลังเตรียมแผนการรองรับไว้ทุกแนวทาง โดยในส่วนงบประจำยังเบิกจ่ายตามปกติแม้งบประมาณ 2563 ยังไม่ประกาศใช้ก็ไม่มีการชัตดาวน์เหมือนในบางประเทศ โดยล่าสุดเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว 30%

Advertisement

สำหรับการเบิกจ่ายงบลงทุนสามารถเบิกจ่ายในส่วนที่มีการผูกพันได้ตามปกติ โดยในงบลงทุน 2563 มีสัดส่วนงบผูกพันประมาณ 50% และเป็นงบลงทุนใหม่ 50% ซึ่งในส่วนงบลงทุนใหม่นั้น รัฐบาลสั่งการไปยังหน่วยราชการแล้วว่าสามารถจัดทำทีโออาร์ ประกาศเพื่อจัดซื้อจัดจ้าง ไปจนถึงได้ตัวผู้รับจ้าง หลังจากนั้นรองบประมาณประกาศใช้เพื่อลงนามในสัญญา

การเตรียมพร้อมตรงนี้ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามแผน และระหว่างงบลงทุนภาครัฐยังออกไม่ได้ทั้งหมด รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนมาเสริม เพื่อไม่ให้การลงทุนของไทยในปีนี้ลดต่ำลง

ด้านปัญหาภัยแล้ง ประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไม่มากนัก โดยดัชนีผลผลิตภาคเกษตรช่วงที่ผ่านมาขยายตัวติดลบเพียงเล็กน้อย ส่วนรายได้ภาคเกษตรที่แท้จริงในเดือนธันวาคมเมื่อหักอัตราเงินเฟ้อแล้ว ยังขยายตัวได้ 1.5% ดังนั้น การเติบโตของภาคเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้

เศรษฐกิจไทยในปี 2562 และปี 2563 ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.1% จากปัจจัยอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอตัวลงเป็นสำคัญ เป็นผลจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอตัวลงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินเหรียญสหรัฐในปี 2562 หดตัวลงที่ -2.7% แต่ยังดีที่นักท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 39.8 ล้านคน ขยายตัว 4.2% มีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.93 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.18%

สำหรับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี 2562 โดยเฉพาะโครงการชิมช้อปใช้ ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของประชาชน ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 อยู่ที่ 0.7% ลดลงจากปีก่อนตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ลดลง

เศรษฐกิจไทยในปี 2563 น่าจะได้รับผลดีจากการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวด้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุน คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวได้ 4.2% จากปี 2562 ที่ขยายตัวได้ 2.4% ส่วนการลงทุนภาครัฐที่คาดจะขยายตัวได้ถึง 6.5% จากปีที่แล้วขยายตัว 2.1% เพราะหลายโครงการรัฐบาลเดินหน้าต่อ รวมถึงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจด้วย

นอกจากนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ รวมถึงโครงการร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชน (PPP) ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน น่าจะเดินหน้าลงเม็ดเงินในปีนี้ จากเดิมเป็นแค่ตัวเลขในเอกสาร ซึ่งการลงทุนจากภาครัฐจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนได้มากขึ้น แนวโน้มการใช้จ่ายของภาครัฐและภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่องจะเป็นตัวหลักสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2563

ปีนี้มีแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ทำให้ประเมินว่าภาคส่งออกจะปรับตัวเป็นบวก โดยเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยที่ยังมีแนวโน้มขยายตัว และแนวโน้มการเติบโตของปริมาณการค้าโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทยในช่วงปีนี้ เมื่อส่งออกเป็นบวกจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย เพราะเรื่องส่งออกมีน้ำหนักมากในจีดีพี

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 จะอยู่ที่ 0.8% มีช่วงคาดการณ์ที่ 0.3- 1.3% ยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย

สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 31.4 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็น 5.3% ของจีดีพี มีช่วงคาดการณ์ที่ 4.8-5.8% ของจีดีพี เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลที่ 25.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามมูลค่าสินค้านำเข้าคาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 1.7% มีช่วงคาดการณ์ที่ 1.2-2.2% ขณะที่มูลค่าสินค้าส่งออก คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.0% มีช่วงคาดการณ์ที่ 0.5-1.5%

สำหรับสมมติฐานต่างๆ ในการประเมินเศรษฐกิจในปี 2563 ประกอบด้วยค่าเงินบาทคาดการณ์ในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 1.7% จากปีก่อน ส่วนดัชนีค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 118.44 จุด เพิ่มขึ้น 1.6% จากปีก่อน ปัจจัยหลักจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล

ด้านราคาน้ำมันดิบดูไบ คาดการณ์อยู่ที่ 64 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.8% ส่วนรายจ่ายสาธารณะผ่านการบริโภคภาครัฐคาดจะขยายตัว 5.7% เบิกจ่ายได้ 99.5% การลงทุนขยายตัวได้ 8.3% เบิกจ่ายได้ 77.1%

ปีนี้มีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจจีน, ความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน,การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit), การดำเนินโยบายการเงินของประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนที่จะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศปี 2563

สำหรับภาวะเศรษฐกิจการคลัง ประจำเดือนธันวาคม 2562 พบว่า เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาที่จัดเก็บบนฐานการใช้จ่ายในประเทศขยายตัว 4.9% ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว 12.6% ต่อปี นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัว 1.5% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งชะลอตัว -18.7% ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว -17.3% ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 56.0 เป็นผลมาจากการชะลอตัวของการส่งออกตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ในเดือนธันวาคม 2562 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยชะลอตัวที่ -1.8% ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ชะลอตัว -22.9% ต่อปี

ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างสะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว -4.6 % ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ชะลอตัว -3.1 % ต่อปี สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวที่ -2.1 % ต่อปี

เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศในเดือนธันวาคม 2562 ชะลอตัวแต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ชะลอตัวที่ -1.3% ต่อปี ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ 2.5%
ต่อปี ดุลการค้าในเดือนธันวาคม 2562 ยังคงเกินดุล 596 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือนธัวาคม 2562 พบว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 3.93 ล้านคน ขยายตัว 2.5% ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวชาวอินเดียขยายตัวถึง 12.4 % ต่อปี
นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นที่ขยายตัวได้ดี อาทิ รัสเซีย และจีน

ขณะที่ภาคการเกษตรส่งสัญญาณชะลอตัว สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรชะลอตัว -2.5% ต่อปี เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัว -4.3% ต่อปี

จากการประเมินสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีนี้ ทำให้มองภาพเบื้องต้นว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีแนวโน้มขยายตัวจากตัวเลขที่ประเมินไว้ 2.8% ขยายตัวจากปีที่ผ่านมาที่คาดว่าจะโต 2.5%

เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในบรรยากาศที่ติดลบ และคงไม่เห็นการติดลบของเศรษฐกิจไทย เพราะรัฐบาลมีแนวทางรับมือมาโดยตลอด ช่วยกันดูแลเศรษฐกิจทั้งจากรัฐและเอกชน เพื่อบรรเทาปัญหาจากภายนอกประเทศ

รัฐบาลติดตามเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และออกมาตรการที่เหมาะสม ที่ผ่านมาไม่ได้นั่งเฉยๆ เพื่อดูผลเพียงอย่างเดียว หลังมีปัญหาไวรัสโคโรนา เมื่อวันที่ 28 มกราคม ก็มีมาตรการกระตุ้นลงทุนเอกชน คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุน 1.1 แสนล้านบาท จะช่วยเศรษฐกิจขยายตัว 0.25% คาดว่าทำให้เอกชนกล้าควักเงินออกมาลงทุน

ปีนี้รัฐบาลให้น้ำหนักด้านการลงทุนทั้งรัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดังนั้น คาดว่ามาตรการรัฐออกมานั้น เป็นส่วนหนึ่งทำให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโต

หลังจากนี้กระทรวงการคลังพร้อมออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยขณะนี้เตรียมออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคชิมช้อปใช้ 4 เพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image