ญัตติ ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจ’ จับ‘บิ๊กตู่-5รมต.’ขึ้นเขียง

ญัตติ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจ’ จับ‘บิ๊กตู่-5รมต.’ขึ้นเขียง

หมายเหตุญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ที่พรรคฝ่ายค้านยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 31 มกราคม รวมถึงความคิดเห็นของนักวิชาการที่มีต่อการยื่นญัตติครั้งนี้

ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีประเด็นที่จะอภิปรายรัฐมนตรีทั้ง 6 คน ดังนี้

1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ไม่ยึดมั่นและศรัทธาต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ล้มล้างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม ละเมิดหลักนิติธรรมและสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างกว้างขวาง เป็นผู้นำประเทศที่กร่างเถื่อน มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู ปิดปากผู้ที่มีความเห็นต่าง ชอบก่นด่าเมื่อถูกซักถาม เมื่อได้อำนาจมาโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็สร้างกลไกในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อมุ่งสืบทอดอำนาจของตนเอง ปล่อยให้มีการทุจริตเต็มบ้านเต็มเมือง ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง บริวารและพวกพ้อง เข้าข้างคนชั่วที่เป็นพวกโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม

Advertisement

บริหารราชการแผ่นดินโดยขาดความรู้ความสามารถผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ขาดคุณธรรม จริยธรรม แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ และองค์กรในกระบวนการยุติธรรม เรียกได้ว่าเป็นยุคยุติธรรมหมดตรง บังคับใช้กฎหมายโดยเลือกปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักความเสมอภาค ไม่เคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ไม่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ เปิดเผย ไม่มีความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม มีการกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรมอย่างร้ายแรง

ไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง ใช้งบประมาณของรัฐสร้างคะแนนนิยมให้กับตนเองและพรรคการเมืองโดยมิได้คำนึงถึงภาระด้านงบประมาณของประเทศ เป็นยุคที่เงินกำลังจะหมดคลัง ไม่ยึดตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ลุแก่อำนาจ ขาดภาวะผู้นำ ไม่เสริมสร้างให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ผาสุก และสามัคคีปรองดองกัน แต่กลับสร้างความขัดแย้งให้ขยายวงกว้าง ล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพในการดูแลด้านเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจกับประชาชนทุกภาคส่วนจนก่อให้เกิดสภาพ “รวยกระจุก จนกระจาย” ประชาชนสิ้นหวัง ให้ความสำคัญกับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มากกว่าปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน

ล้มเหลวในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลอกลวงประชาชนไม่ทำตามนโยบายที่พรรคการเมืองที่สนับสนุนตนหาเสียงไว้ทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ราคาพืชผลทางการเกษตรและลดภาษีเงินได้ ไม่มีความชื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ การบริหารราชการแผ่นดินของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งผลกระทบและความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างกว้างขวาง เป็นยุคที่ทุจริตเฟื่องฟู น้ำกำลังจะหมดเขื่อน มวลอากาศเป็นพิษเต็มเมือง เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง หากปล่อยให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงจนประเทศถึงแก่ความล่มจมได้

Advertisement

2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและพวกพ้อง ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

3.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบด้านกฎหมายได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่น เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายด้านการเงินแก่รัฐจำนวนมาก บังคับใช้และตีความกฎหมายโดยไม่ยึดหลักการและบรรทัดฐานที่ถูกต้อง จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องของอภินิหาร ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือและเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง ชี้นำการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐและองค์กรอิสระและไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

4.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ขาดคุณธรรมและจริยธรรม มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ ฉ้อฉล ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง บริวารและพวกพ้อง กลั่นแกล้งข้าราชการประจำ ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ประจำของข้าราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างกว้างขวาง จงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ละเว้นไม่ดำเนินการตามกฎหมาย ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

5.นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ขาดคุณธรรมและจริยธรม มีพฤติการณ์ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ประจำของราชการเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องโดยมิใช่อำนาจหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายบัญญัติ แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามครรลองที่กำหนดไว้ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทข้ามชาติ ส่อว่าจงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง นำพาชาติเข้าสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศและไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

6.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ปกป้องพวกพ้องโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ประเมินว่าถึงอย่างไร ฝ่ายค้านก็คงทำไม่สำเร็จเพื่อกลับเข้าไปมีอำนาจ แต่เชื่อว่าพรรคฝ่ายค้านพุ่งเป้าไปที่พรรคพลังประชารัฐเพื่อทำให้ระส่ำระสายจะดีกว่า เพราะถ้าคะแนนที่ได้จากการโหวตต่างกันมากก็อาจทำให้มีข้อสงสัยเพื่อนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรีหลังการอภิปราย ดังนั้นจะเห็นว่ามีเป้าหมายรัฐมนตรี 5-6 คนอยู่ในสายของนายกฯทั้งหมด มี ร.อ.ธรรมนัสเท่านั้นที่แปลกปลอมเข้ามา และเชื่อว่าหลายคนที่มีชื่อโผท่าทางจะต้องเดือดร้อนพอสมควร เช่น รมต.ต่างประเทศ น่าจะอยู่ในโซนอันตราย

สำหรับรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยไม่ได้อยู่ในรายชื่อ ก็ไม่มีใครแปลกใจอะไร เพราะฝ่ายค้านต้องการทอดไมตรีกันไว้กับกลุ่มพรรคการเมืองด้วยกัน เพราะรู้ดีว่าอภิปรายอย่างไรก็ไม่มีผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะต้องการทำให้มีการอภิปรายครบถ้วนไม่ให้เสียโควต้าตามจำนวนครั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทำไปไม่ให้เสียของ ดังนั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีกันไว้ก่อนดีกว่า เผื่ออาจจะมีปาฏิหาริย์ที่จะต้องมานั่งรวมกันได้อีกในอนาคต ทุกอย่างยังมีความหวัง ขณะที่ก่อนอภิปรายฝ่ายค้านอุบข้อมูลไว้ดีพอสมควร แต่ไม่มั่นใจว่าจะมีทีเด็ดหรือไม่ แต่เท่าที่ติดตามก็น่าจะเป็นข้อมูลที่สังคมเคยรับรู้ แต่อาจจะมีลงลึกในรายละเอียดในบางเรื่อง และช่วงอภิปรายคงได้เห็นดาวสภาเกิดขึ้นใหม่อีกหลายคน ควรจะมีบุคคลอื่นที่โดดเด่นขึ้นมาบ้างทั้งจากพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่

การอภิปรายครั้งนี้รัฐบาลไม่ต้องกังวลเรื่องเสียงปริ่มน้ำ แต่อาจจะมีปัญหาหลังศาลวินิจฉัยคดีเสียบบัตรแทนกัน ถ้าเป็นไปตามบรรทัดฐานเชื่อว่าจะมีปัญหาพอสมควร และในอนาคตเชื่อว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี เพราะประเมินว่าผู้นำรัฐบาลมีความตั้งใจจะปรับเปลี่ยนในบางตำแหน่ง เพื่อรักษาภาพลักษณ์

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

ประเมินไว้ล่วงหน้ากว่า 2 เดือนแล้วว่าการอภิปรายครั้งนี้จะไม่มีชื่อของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และรัฐมนตรีในสายของพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากฝ่ายค้านมองไกลถึงอนาคตหวังผลข้างหน้าทางการเมืองไว้เป็นพันธมิตรในเวลาจำเป็นต้องเปลี่ยนขั้ว ส่วนเมกะโปรเจ็กต์ของกระทรวงคมนาคมล้วแต่เป็นของเก่าซึ่งมีจุดอ่อน แต่เลี้ยงไข้ไว้ก่อนเพื่อเป็นมิตร สำหรับรายชื่อส่วนตัวเห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังมีข้อมูลไม่ชัดเจน ล่าสุดเจอกับปลัดกระทรวงมหาดไทยที่จะต้องป้อนข้อมูลให้ชี้แจงเห็นท่าทียังเฉยๆ ไม่ได้วิตกอะไร แต่ผมแนะให้ไปให้ดูดีๆ เรื่องการใช้งบทำแหล่งน้ำ

การอภิปรายครั้งนี้ฝ่ายค้านพุ่งเป้าไปที่รัฐมนตรีกล่องดวงใจของพรรคพลังประชารัฐที่มีข้อมูลละเอียดพอ เล่นตั้งแต่ระดับหัวถึงหางไปพร้อมกัน เช่น รมต.ต่างประเทศเชื่อว่ามีหลายเรื่อง แต่เป้าใหญ่อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหลัก ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับนโยบายแค่ไหนอย่างไร การอภิปรายครั้งนี้จะได้เจอการเมืองของจริง สติเป็นเรื่องสำคัญ ต้องระวังเรื่องอารมณ์ความรู้สึกจากการใช้วาทกรรมยั่วยุ หากไม่จำเป็นบรรดาองครักษ์ชอบประท้วงทั้งหลายควรอยู่เงียบๆ และรัฐมนตรีบางรายต้องระวังการได้เสียงข้างมากชนะโหวต แต่ได้แต้มต่ำ การอภิปรายทุกครั้งจะมีปรากฏการณ์แบบนี้ แต่ฝ่ายค้านต้องทำให้เห็นว่าข้อมูลที่ได้มาเป็นของจริง ทำให้สังคมยอมรับ เพื่อเป็นช่องให้ถูกบีบให้ออกจากรัฐบาลและเชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะโดนหนักสุด รองลงมาก็เป็น ร.อ.ธรรมนัส ถ้าข้อมูลแน่นจริงน่าจะถูกเช็กบิลก่อน และการอภิปรายครั้งแรกครั้งนี้ในรอบหลายปี น่าจะมีลูกหลงมาจากยุครัฐบาล คสช.เพราะมีประเด็นต่อเนื่องถึงรัฐบาลนี้โดยเฉพาะการใช้งบจำนวนมหาศาลจากการบริหารจัดการน้ำ สำหรับอีกคนคือนายวิษณุ หากตอบแบบศรีธนญชัยก็น่าจะมีปัญหา

หัวใจสำคัญของการอภิปรายอยู่ที่ข้อมูลและเป็นเรื่องที่สังคม สื่อจะตอบสนองว่ารัฐบาลจะมีวิบากกรรมเป็นไปในทิศทางใด จะเชื่อได้หรือไม่ว่าผู้ถูกอภิปรายบกพร่องจริง ถ้าสังคมเชื่อข้อมูลว่าเป็นของจริงก็อยู่ยาก แม้ว่าจะชนะโหวตในสภา และรอบนี้รัฐบาลไม่สนใจเรื่องเสียงปริ่มน้ำ เพราะเรื่องนี้รัฐบาลไปรอดไม่ต้องกังวล เนื่องจากมีเจ้ามือมากพอที่จะทำให้เสียงเปลี่ยนได้ ถ้าใครจะใช้คำว่าแจกกล้วยก็ไม่ต่างกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image